xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำหญิงเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สตรีผู้มีชื่อเสียงมากกว่า 400 คน รวมถึงประธานาธิบดีอัลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟแห่งไลบีเรีย และตารยา การินา ฮาโลเนน ประธานาธิบดีหญิงของฟินแลนด์รวมตัวกันเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ เนื่องในวันสตรีสากล
เอเอฟพี - บรรดาสตรีผู้มีชื่อเสียงมากกว่า 400 คน รวมถึงประมุขหญิงของ 2 ชาติ รวมตัวกันเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศให้กับประชากรครึ่งหนึ่งของโลก ระหว่างที่พวกเธอจัดชุมนุมครั้งสำคัญที่ประเทศไลบีเรียในวันเสาร์ (7) ก่อนหน้าวันสตรีสากลเมื่อวานนี้ (8)

ประธานาธิบดี อัลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ แห่งไลบีเรีย ซึ่งเป็นสตรีคนแรกที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศของทวีปแอฟริกา แสดงความยกย่องการชุมนุมอันแตกต่างหลากหลายในครั้งนี้ของบรรดาผู้นำทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยกล่าวว่า “พวกคุณเป็นแรงผลักดันให้เรา, พวกคุณเป็นแรงบันดาลใจให้เรา, พวกคุณเร่งเร้าให้เราสู้ต่อไป”

เซอร์ลีฟ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีหญิงของประเทศแห่งนี้ ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา ซึ่งต้องเผชิญกับการทำลายล้างผลาญจากสงครามกลางเมืองนานถึง 14 ปี ขณะที่ตารยา การินา ฮาโลเนน ประธานาธิบดีหญิงของฟินแลนด์รีบสำทับว่า สตรีมีบทบาทอย่างสำคัญในการเยียวยาบาดแผลของสงคราม

ผู้นำฟินแลนด์ บอกว่า ประสบการณ์ต่างๆ แสดงให้เห็นว่า บทบาทของผู้หญิงในการ “แก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความสมานฉันท์หลังสงคราม เป็นสิ่งจำเป็นมากๆ ดั่งเช่นไลบีเรีย เป็นตัวอย่างได้อย่างดี”

มิคาเอล ชอง ผู้สำเร็จราชการแทนควีนอลิซาเบธประจำแคนาดา ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้อพยพชาวเฮติ กล่าวตอกย้ำประเด็นสำคัญดังกล่าว ว่า ผู้หญิงเป็นผู้รับประกันสันติภาพอย่างยอดเยี่ยมที่สุด

“ฉันกำลังจะบอกพวกคุณว่า ให้พวกเธอตอบโต้ด้วยวิถีทางแห่งสันติภาพ แล้วคุณจะพบว่า ความรุนแรงลดน้อยลง คุณจะได้เห็นความสิ้นสุดของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และการไม่รู้หนังสือ เพราะผู้หญิงไม่เคยลืมเลยว่า ชีวิตคือสิ่งสำคัญมากที่สุด”

“หากกีดกันไม่ให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมแล้ว คุณจะต้องพ่ายแพ้” ชอง กล่าวเสริมระหว่างการชุมนุมในนครหลวงกรุงมันโรเวียของไลบีเรีย ซึ่งจัดกิจกรรมการอภิปรายเรื่องอนาคตของสตรีด้วย

วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (8) คือ วันสตรีสากล ซึ่งกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 1910 และได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติในปี 1977

เมื่อวันเสาร์ (7) กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิในตูนิเซียทำพิธีเปิด "มหาวิทยาลัยสตรีนิยม" ซึ่งก่อตั้งเพื่อส่งเสริมประเด็นต่างๆ ของผู้หญิงในประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาแห่งนี้ ที่ซึ่งผู้หญิงอย่างน้อย 1 ใน 5 ถูกทำร้ายร่างกาย

“มหาวิทยาลัย” แห่งนี้ จะเปิดพื้นที่ให้คนหนุ่มสาวมีโอกาสเรียนรู้เรื่องกับสิทธิมนุษยชนและคุณค่าของความเสมอภาค ตลอดจนการยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดี อับเดลาซิซ บูเตฟลิกา แห่งแอลจีเรีย ประกาศมาตรการตัดลดระยะเวลาการจองจำนักโทษหญิง โดยพวกผู้ต้องขังหญิง ที่ต้องโทษคุมขังน้อยกว่า 12 เดือนจะได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ ส่วนพวกเหลือจะได้รับการตัดลดระยะเวลาการควบคุมตัวอย่างสำคัญ

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้หญิงในแถบตะวันตกจะออกนำอยู่หลายช่วงตัวในเรื่องสิทธิและการเป็นตัวแทนทางการเมือง เมื่อเทียบกับสตรีในโลกอาหรับ, แอฟริกา และบางส่วนของเอเชีย แต่พวกเธอกลับมีโอกาสรับตำแหน่งในรัฐบาลต่าง ๆ ของประเทศยุโรปเพียงไม่กี่คน

“กระทั่งทุกวันนี้รัฐบาลและรัฐสภาของประเทศต่างๆ มีสมาชิกที่เป็นผู้หญิงเพียงไม่ถึง 1 ใน 4” มาร์กอต วอลล์สตรอม รองประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปกล่าว

“ไม่ใช่ว่าขาดแคลนผู้สมัครหญิง แต่ความจริงคือผู้ชายมักจะลงคะแนนเลือกผู้ชายด้วยกันเอง” รองประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นชาวสวีเดน กล่าว

ด้าน บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้พวกผู้นำทั่วโลกยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในประเทศของตนเอง เนื่องในวันสตรีสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี

“ความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นสิ่งที่ไม่อาจอดทนอดกลั้นได้ ไม่ว่าจะในรูปแบบไหน, ในบริบทแบบใด, สภาพแวดล้อมแบบไหน จากผู้นำทางการเมืองรายใด หรือจากรัฐบาลแห่งใด” เลขาฯ ยูเอ็นกล่าว

บัน คี มุน เผยว่า ทั่วโลกมีผู้หญิง 1 ใน 5 คน โดนข่มขืนหรือไม่ก็เคยถูกพยายามข่มขืน และในบางประเทศผู้หญิง 1 ใน 3 รายถูกทุบตีหรือตกเป็นเป้าเหยื่อของการกระทำรุนแรง

“ความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นเรื่องเลวทรามมาก ผมอยากจะเรียกว่าเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ”

สำหรับในซาอุดีอาระเบีย แม้ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งจะมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีหญิงคนแรก แต่สตรีในอาณาจักรมุสลิมอันเคร่งครัดแห่งนี้ กลับไม่มีสิทธิ์ในการขับรถ หรือไม่สามารถออกไปไหนมาไหน หากไม่ได้รับอนุญาตจากญาติพี่น้องซึ่งเป็นผู้ชาย อีกทั้งยังต้องสวมผ้าคลุมหน้าสีดำและเสื้อคลุมในสาธารณะด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น