xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำยุโรปเร่งให้คุมเข้มเฮดจ์ฟันด์ แต่ต้องรอ US หนุนจึงจะดันเข้า G20

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี - บรรดาผู้นำชาติใหญ่ๆ ของยุโรป กำลังเตรียมจะคุมเข้มพวกเฮดจ์ฟันด์ และดินแดนปลอดภาษีอย่างเช่นสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งนี้ เป็นข้อสรุปหลังจากการประชุมที่กรุงเบอร์ลินเมื่อวันอาทิตย์ (22) ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี พวกเขายังจะต้องให้สหรัฐฯเห็นชอบด้วยกับแนวทางนี้ จึงจะสามารถแปรเป็นข้อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมซัมมิต จี 20 ที่จะมีขึ้นต้นเดือนเมษายนนี้

ในการประชุมระดับผู้นำเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว กลุ่มจี 20 มีข้อสรุปเพียงว่า บรรดากองทุนเฮดจ์ฟันด์ทั้งหลาย ควรจะสมัครใจที่จะหันมากำกับดูแลตัวเองให้เคร่งครัดมากขึ้น และควรจะเป็นปรับตัวไปสู่แนวทางนี้อย่างรวดเร็วด้วย

เมื่อวันอาทิตย์ พวกผู้นำของประเทศสำคัญในอียู ได้ก้าวไปไกลกว่าสิ่งที่พูดกันไว้ในจี 20 โดยพวกเขาชี้ว่าผู้เล่นในตลาดการเงินโลก รวมทั้งผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆ ควรจะต้อง “ถูกตรวจสอบและกำกับดูแลอย่างเหมาะสม โดยไม่มีข้อยกเว้น”

นอกจากนี้ ก็ยังมีการกล่าวถึงเฮดจ์ฟันด์เป็นการเฉพาะอีกด้วย เพราะพวกผู้นำยุโรปเห็นว่าก่อความเสี่ยงให้แก่ระบบการเงินโลก

เยอรมนีเป็นประเทศหนึ่งที่กดดันให้เกิดระเบียบกำกับดูแลเฮดจ์ฟันด์อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการเงินโลกเมื่อปีทีแล้วเสียอีก แต่ก็ไม่สามารถจะโน้มน้าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากนัก เพราะสหรัฐฯและอังกฤษนั้นไม่เห็นด้วย แต่มาถึงตอนนี้อังกฤษที่เคยยืนยันอย่างแข็งกร้าว ก็มีท่าทีอ่อนลงแล้วหลังเศรษฐกิจของประเทศได้รับความเสียหายอย่างหนักจากวิกฤตการเงิน

ตอนนี้สายตาทุกประเทศจึงจับจ้องไปที่สหรัฐฯว่าจะเห็นพ้องกับข้อเสนอนี้หรือไม่ และท่าทีที่ผ่านมาของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ก็ให้ความหวังแก่ยุโรปไม่น้อย

บรรดาผู้นำยุโรปที่ร่วมประชุมกันที่กรุงเบอร์ลินคราวนี้ ยังมีความเห็นด้วยว่าควรที่จะจัดทำบัญชีพวกดินแดนปลอดภาษีเอาไว้ รวมทั้งควรจัดทำมาตรการเพื่อตอบโต้ลงโทษดินแดนเหล่านี้เอาไว้ด้วย เพื่อจะได้นำมาใช้เมื่อมีความจำเป็น

ทั้งนี้ เยอรมนีจับจ้องที่รัฐลิกเตนสไตน์เป็นพิเศษ โดยที่จ่ายเงินให้แก่ผู้แจ้งเบาะแสข้อมูล ซึ่งนำไปสู่การสอบสวนครั้งใหญ่ เกี่ยวกับการหลบเลี่ยงภาษีโดยอาศัยกองทุนที่จัดตั้งขึ้นในรัฐเล็กๆ แห่งนี้

แต่นอกจากนั้น มาตรการปราบปรามสวรรค์ปลอดภาษี ยังจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อระบบธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์อีกด้วย ตอนนี้สหรัฐฯก็กำลังเล่นงานธนาคารยูบีเอส ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ โดยบีบให้มอบข้อมูลเกี่ยวลูกค้าซึ่งฝากเงินในธนาคารเพื่อเลี่ยงการเสียภาษีในสหรัฐฯ ทั้งนี้ เพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดีอาญา ทว่า เรื่องนี้ย่อมจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของภาคการธนาคารอย่างมาก

นอกจากนั้น กลุ่มผู้นำยุโรปเหล่านี้ ยังสนับสนุนให้เพิ่มวงเงินปฏิบัติการให้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อทำให้ไอเอ็มเอฟสามารถช่วยเหลือประเทศต่างๆ ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะก่อนที่ประเทศเหล่านั้นจะตกลงสู่ภาวะวิกฤตทางการเงิน

ก่อนหน้านี้ มีแต่ทางการโตเกียวเสนอว่าจะเพิ่มเม็ดเงินให้ไอเอ็มเอฟอีก 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ว่าประเทศอื่นๆ ก็ยังมิได้แสดงการสนับสนุนอะไรอย่างชัดเจน

อีกประเด็นหนึ่งที่ได้มีการหารือในการประชุมที่เบอร์ลิน ก็คือ ควรจะมีการประชุมและตัดสินใจเรื่องการออกยูโรโซนบอนด์หรือไม่ เพื่อระดมทุนไปช่วยชาติสมาชิกใช้เงินสกุลยูโร ซึ่งกำลังอยู่ในฐานะลำบาก

นายกรัฐมนตรี ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี แห่งอิตาลี กล่าวว่า บรรดารัฐมนตรีคลังยุโรปจะนำเรื่องนี้ไปศึกษา และเจ้าหน้าที่ของเยอรมนีก็บอกว่าน่าจะมีการหยิบยกประเด็นออกพันธบัตรยูโรโซนดังกล่าวมาหารือในไม่ช้า

ก่อนหน้านี้ เยอรมนีไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่กำลังถูกบีบคั้นมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสถานการณ์ในตอนนี้ ทำให้เห็นกันว่าอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องหาทางช่วยเหลือสมาชิกยูโรโซนอย่างไอร์แลนด์และกรีซ ซึ่งมีหนี้มหาศาล และการหาเงินกู้จากต่างประเทศด้วยการออกพันธบัตรด้วยตนเอง ก็จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น