เอเจนซี – ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ออกรายการมิวสิกทีวีดังของอินโดนีเซีย และตระเวนเยี่ยมโครงการช่วยเหลือที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี (19) ระหว่างการเยือนอินโดนีเซีย โดยเธอหวังที่จะปรับปรุงภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ ในประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกแห่งนี้
หลังจากที่ได้เยือนอินโดนีเซียเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครบ 24 ชั่วโมง คลินตันก็ได้เปิดใจบอกเล่าเรื่องราวมากมาย ตั้งแต่เรื่องการตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศภายใต้การนำของประธานาธิบดี บารัค โอบามา แม้เธอจะเจ็บปวดที่ต้องพ่ายแพ้แก่เขา ไปจนถึงรสนิยมด้านดนตรีของเธอ
นอกจากนั้น คลินตัน ยังได้เดินทางไปเยี่ยมพื้นที่ยากจนในแถบเปโตโจ อุตารา ใกล้ๆ กับจาการ์ตา ซึ่งเธอต้องเดินไปตามถนนแคบๆ ที่มีท่อระบายน้ำเปิดทิ้งไว้ เพื่อเข้าไปดูพื้นที่โครงการขนาดเล็กต่างๆ คือ โครงการจัดหาน้ำสะอาด โครงการรีไซเคิล การทำปุ๋ยหมัก และโครงการสุขภาพแม่และเด็ก
ในการไปออกรายการดนตรี “ดาห์สยัต” ซึ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น คลินตัน เล่าว่า เธอแปลกใจมากเมื่อโอบามาขอให้เธอรับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ทั้งๆ ที่เธอพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งขั้นต้น เพื่อเป็นผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของเดโมแครต
คลินตัน ยังได้รับการปรบมือ เมื่อเล่าว่า เธอเป็นแฟนดนตรีคนหนึ่ง และวงโปรดของเธอ คือ เดอะบีทเทิลส์ และ โรลลิงสโตนส์ ทว่า เธอปฏิเสธอย่างสุภาพเมื่อมีผู้ขอให้เธอร้องเพลง ว่า “ปัญหาอยู่ตรงนี้ค่ะ” เธอพูดพลางชี้ไปทางผู้ชมรายการ “คุณลองดูท่านเหล่านี้สิ ถ้าหากดิฉันเริ่มร้องเพลงขึ้นมา พวกเขาจะเดินออกไปกันหมดเลย”
หลังจากที่เข้าพบประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยุโดโยโน คลินตัน บอกกับสื่อมวลชนของอินโดนีเซีย ว่า ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ละเลยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการที่เธอตัดสินใจมาเยือนอินโดนีเซียเป็นที่แรกเมื่อเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ก็เพราะมีเป้าหมายที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์เสียใหม่
“เราไม่ต้องการหายหน้าไปจากภูมิภาคนี้ เราต้องการปรากฏตัวอยู่ที่นี่ด้วย” เธอบอก
เธอยังตอบคำถามกรณีที่มีชาวอินโดนีเซียไม่พอใจนโยบายของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง ว่า โอบามา ตัดสินใจที่จะเอาจริงกับการสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ แม้ว่าการยุติความขัดแย้งที่มีมานานกว่าหกทศวรรษจะเป็นเรื่องยากลำบากก็ตาม
“เรากำลังจะทำงานอย่างหนัก เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งซึ่งเต็มไปด้วยความเจ็บปวดและเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก ... แต่ก็เพื่อที่จะให้ชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างมีสันติภาพ ... แทนที่จะต้องรู้สึกหวั่นผวากับการตกอยู่ในวงล้อม เราจะต้องพยายามหาหนทางฝ่าฟันปัญหานี้ไปให้ได้”
นอกจากนั้น คลินตัน ยังถือว่าอินโดนีเซียเป็นตัวแบบที่แสดงให้เห็นว่าอิสลามและโลกสมัยใหม่สามารถดำรงอยู่คู่กันไปได้ด้วย
ทั้งนี้ แม้ว่าชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียจะเป็นพวกสายกลาง แต่ก็มีกลุ่มที่โน้มไปทางพวกสุดขั้วอยู่ด้วย และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็เกิดเหตุระเบิดรุนแรงขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บาหลีเมื่อปี 2002 ซึ่งกองกำลังอิสลามิสต์โจมตีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญจนมีผู้เสียชีวิตไปกว่า 200 คน และส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ
ส่วนในปีนี้ อินโดนีเซีย ก็มีกำหนดการจัดเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาและประธานาธิบดี โดย ยุโดโยโน จะต้องสู้กับคู่ปรับสำคัญ คือ อดีตประธานาธิบดี เมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี
คลินตัน กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องละวางเรื่องความแตกต่างทางการเมืองไปทันทีที่การเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง เธอเองก็รู้สึกสบายใจที่ได้ทำงานโอบามา เพราะต่างก็มีความเห็นในหลายๆ เรื่องสอดคล้องกัน แต่เธอก็ย้ำว่า การพ่ายแพ้เป็นเรื่องที่ทำใจยากมาก
“การเมืองเป็นเรื่องหนัก” เธอบอกแล้วพูดติดตลกต่อไปอีกว่า “คุณจะต้องมีระดับความอดทนต่อความเจ็บปวดที่สูงมากทีเดียว”