xs
xsm
sm
md
lg

อิหร่าน-สหรัฐฯจะจับมือกันเพราะอัฟกานิสถาน?

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Iran and the US: United over Afghanistan?
By Syed Saleem Shahzad
06/02/2009

การประชุมประจำปีว่าด้วยความมั่นคงแห่งมิวนิก (Munich Security Conference) ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่สุดสัปดาห์นี้ โดยมีผู้นำโลก, นักการทูตและเจ้าหน้าที่ด้านกลาโหมระดับท็อป, จำนวนรวมหลายสิบคนไปชุมนุมกัน นับว่ามีวาระการหารือที่น่าสนใจเป็นจำนวนมากทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพปัจจุบันที่สถานการณ์ของอัฟกานิสถานกำลังเลวร้ายลงทุกที ทั้งนี้ปัญหาที่ปากีสถานและซาอุดีอาระเบียอาจจะเกิดความไร้เสถียรภาพขึ้นนั้น ย่อมเป็นเรื่องใหญ่ที่ก่อให้เกิดความกังวลเป็นอย่างมาก กระนั้นก็ดี เรื่องหลักเรื่องเอกซึ่งกำลังพูดจากันเซ็งแซ่ทั่วไป ย่อมต้องเป็นเรื่องความเป็นไปได้ที่จะมีการต่อรองกันครั้งสำคัญระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน

การาจี - การประชุมว่าด้วยความมั่นคงแห่งมิวนิก (Munich Security Conference) ซึ่งปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 45 แล้ว โดยที่มีผู้นำโลกสิบกว่าคน และนักการทูตกับเจ้าหน้าที่ด้านกลาโหมระดับท็อปอีกประมาณ 50 คนมารวมตัวกัน เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่เมื่อวันศุกร์(6) สำหรับเรื่องที่โดดเด่นทรงความสำคัญอยู่ในวาระของการประชุมถกแถลงกันคราวนี้ ย่อมได้แก่เรื่องระเบียบโลกที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำในปัจจุบันจะเป็นอย่างไรต่อไป เมื่อพิจารณาถึงความยุ่งยากวุ่นวายที่ต้องเผชิญอยู่ทั้งในอัฟกานิสถานและอิหร่าน รวมถึงการเจอทางตันในการติดต่อรับมือกับอิหร่าน

สหรัฐฯนั้นส่งคณะผู้แทนระดับสูงมาร่วมประชุมคราวนี้ นำโดยรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน และ ริชาร์ด โฮลบรูก ผู้แทนพิเศษดูแลเรื่องอัฟกานิสถานและปากีสถาน เป็นที่คาดหมายกันว่าพวกเขาจะหาทางสนทนาอย่างไม่เป็นทางการกับฝ่ายอิหร่าน ซึ่งก็ส่งผู้แทนระดับสูงมาเช่นกัน นำโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ มานูเชอห์ร มอตตากี และ ประธานรัฐสภา อาลี ลาริจานี

การติดต่อพูดจากันรอบนอกการประชุมคราวนี้ น่าจะเน้นหนักไปที่เรื่องบทบาทของอิหร่านในอิรัก และความจำเป็นที่จะต้องให้เตหะรานเข้ามีส่วนร่วมมือในเรื่องอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอนุญาตให้องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต้) เปิดเส้นทางลำเลียงสัมภาระที่ไม่ใช่ด้านทหารเข้าสู่อัฟกานิสถาน โดยผ่านเมืองท่า ชาบาฮาร์ ของอิหร่าน

ประเด็นนี้กำลังกลายเป็นเรื่องสำคัญถึงขั้นเป็นตายสำหรับนาโต้ไปแล้ว เมื่อคำนึงถึงว่าพวกตอลิบานประสบความสำเร็จในการก่อกวนสร้างความสูญเสียอย่างสาหัสให้แก่ขบวนลำเลียงของนาโต้ ที่ใช้เส้นทางผ่านช่องแคบไคเบอร์ ในปากีสถาน ทั้งนี้ในหตุการณ์ครั้งล่าสุดซึ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์นี้เอง พวกตอลิบานได้ระเบิดสะพานแห่งหนึ่งบนถนนระหว่างเปชาวาร์-ตอร์กัม อันเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางลำเลียงสายนี้ ทำให้คาดหมายกันว่าสัมภาระของนาโต้จะต้องติดแหง็กอยู่เป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน

จากการที่สัมภาระถึงประมาณ 80% ของนาโต้ต้องลำเลียงผ่านทางปากีสถาน แล้วยังกำลังจะมีการส่งทหารอเมริกันเพิ่มอีก 30,000 คนเข้าไปในอัฟกานิสถานอีก จึงเป็นเรื่องสำคัญถึงขั้นเป็นตายทีเดียว ที่จะต้องพิทักษ์คุ้มครองเส้นทางลำเลียงเหล่านี้ หรือไม่ก็ต้องไปหาเส้นทางสายอื่น

ถึงแม้นาโต้ได้ทำข้อตกลงกับบางประเทศในเอเชียกลางตลอดจนรัสเซีย เพื่อที่จะขนส่งสัมภาระที่มิใช่ด้านทหารผ่านดินแดนของประเทศเหล่านี้ ทว่าเส้นทางพวกนี้ก็จะเป็นเส้นทางยาวกว่าและแพงกว่าที่ผ่านปากีสถานเป็นอย่างมาก ดังนั้น นาโต้จึงดูยังจะต้องพยายามเจรจากับอิหร่าน

ไจลส์ โดร์รอนโซโร ผู้เชี่ยวชาญที่โดดเด่นในเรื่องอัฟกานิสถานและตุรกี โดยที่เคยทำงานอยู่ในประเทศทั้งสองมากว่า 20 ปี ให้ความเห็นไว้ว่า “พวกตอลิบานมีความสามารถในการปรับตัวรับมือกับยุทธวิธีต่างๆ ของพวกพันธมิตร (กองกำลังทหารนานาชาติที่นำโดยนาโต้ในอัฟกานิสถาน) ได้อย่างรวดเร็วมาก เส้นกราฟแห่งการเรียนรู้ของพวกเขาอยู่ในระดับดี และพวกเขาก็มีแรงกระตุ้นทางจิตวิทยาด้วย” เขาเขียนเอาไว้ใน Carnegie Policy Briefing (จุลสารบทสรุปด้านนโยบายของมูลนิธิคาร์เนกี) เรื่อง Focus and Exit: An Alternative Strategy for the Afghan War (จุดเน้นและทางออก: ยุทธศาสตร์ทางเลือกสำหรับสงครามอัฟกัน)

“สถานการณ์ในปี 2009 อาจจะกำลังเลวร้ายลงไปอีก ทว่าการเพิ่มจำนวนทหารใดๆ จะบังเกิดผลแค่ไหนนั้น ยังเป็นเรื่องลำบากที่จะประเมินโดยต้องรอจนกว่าจะถึงฤดูร้อนปี 2010 ในกรณีที่การเพิ่มทหารนี้ประสบความล้มเหลว คณะรัฐบาลสหรัฐฯก็จะแทบไม่มีทางเลือกอื่นๆ หลงเหลืออยู่ เพราะหากจะส่งทหารไปอีก 30,000 คน ย่อมจะกลายเป็นปัญหาทางการเมืองอันหนักอึ้ง นี่คือเหตุผลที่ทำไมจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่ในการส่งทหารเพิ่มเข้าไปนั้น จะต้องรวมศูนย์ความสนใจไปยังเรื่องพื้นที่ซึ่งจะสามารถก่อให้เกิดความแตกต่างขึ้นได้อย่างเห็นชัดเจน (เป็นต้นว่า ต้องส่งไปที่กรุงคาบูล ไม่ใช่เมืองเฮลมานด์), เปิดทางให้พันธมิตรสามารถสร้างสถาบันต่างๆ ของอัฟกันชนิดที่มีความยั่งยืน, แล้วถอนกำลังทหารของพวกเขาออกมาในที่สุด”

โดร์รอนโซโรนั้นเป็นผู้ที่มีความคิดเห็นว่า ประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นที่จะต้องรวมศูนย์ความพยายามไปที่เรื่องการสร้างเสถียรภาพขึ้นในอัฟกานิสถาน ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขอันจำเป็นเพื่อให้ดำเนินการถอนกองทหารออกมาในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของสหรัฐฯที่จะสร้างความก้าวหน้าในอัฟกานิสถานนั้น จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน อาจขึ้นอยู่มากทีเดียวกับสถานการณ์ความเป็นไปใน 2 ประเทศพันธมิตรสำคัญยิ่งของอเมริกา นั่นคือ ซาอุดีอาระเบีย และอัฟกานิสถาน

รายงานชิ้นหนึ่งที่เขียนโดย ไซมอน เฮนเดอร์สัน ให้แก่องค์การศึกษาวิจัย “สถาบันวอชิงตัน” (Washington Institute) ได้เปิดเผยให้เห็นถึงสภาพอันยุ่งเหยิงภายในซาอุดีอาระเบีย พร้อมกับคาดเดาว่า จากการที่มกุฎราชกุมารสุลต่านทรงพระประชวรอาการหนัก ส่วนพระสุขภาพของกษัตริย์อัลดุลเลาะห์ก็ย่ำแย่ลงทุกที ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจึงเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดสถานการณ์ ซึ่งเป็นปัญหาท้าทายอันสาหัสสำหรับพวกผู้กำหนดนโยบายอเมริกัน

“ภายหลังมีข่าวลือคาดเดากันมาหลายเดือนเกี่ยวกับพระสุขภาพของมกุฎราชกุมารสุลต่าน องค์รัชทายาทผู้จะสืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากกษัตริย์อับดุลเลาห์ ในเวลานี้พวกเจ้าหน้าที่ซาอุดีก็กำลังพูดจาอย่างเปิดเผยถึงพระอาการประชวรของสุลต่าน ราชอาณาจักรแห่งนี้ (ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดสนิทสนมของสหรัฐฯ, เป็นผู้ประกาศตัวเองเป็นผู้นำของโลกอิสลาม, เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก, และล่าสุดนี้ก็เป็นแหล่งที่มาของเงินทุนทางการเงินอันกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากสำหรับเศรษฐกิจที่โซซัดโซเซของโลก) กำลังบ่ายหน้าไปสู่ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนถ่ายผู้นำ อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ในอนาคตจะเป็นผู้ใดนั้น จวบจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่เป็นที่ทราบกัน และส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ไม่อาจทำนายอะไรได้” เฮนเดอร์สันตั้งข้อสังเกต

เฮนเดอร์สันยังอภิปรายถกเถียงอย่างละเอียด ถึงความสลับซับซ้อนในการเลือกมกุฎราชกุมารองค์ต่อไป รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะเกิดความไม่สงบอย่างร้ายแรงในพระราชวงศ์ ซึ่งอาจส่งผลลดทอนศักยภาพของซาอุดีอาระเบีย ในการสนับสนุนการวางแผนดำเนินการต่างๆ ของอเมริกันในภูมิภาคแถบนั้น

“วอชิงตันนั้นหวังที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดข้อพิพาทกันภายในราชวงศ์ซาอุดี ... ริยาดจะต้องไม่พอใจอย่างแน่นอนหากมีการแทรกแซงหรือคำแนะนำจากภายนอกในเรื่องดังกล่าว ทว่าผลลัพธ์ของการเปลี่ยนผ่านที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ย่อมเป็นที่สนใจอย่างแรงกล้าของสหรัฐฯตลอดจนของประเทศจำนวนมากในโลก” เฮนเดอร์สัน ซึ่งเป็นนักวิจัยและผู้อำนวยการของโครงการอ่าวเปอร์เซียและนโยบายพลังงาน แห่งสถาบันวอชิงตัน กล่าวเช่นนี้ในการสรุปรายงานของเขา

ขณะเดียวกัน ทางด้านปากีสถาน สถานการณ์ปัจจุบันของประเทศพันธมิตรนอกนาโต้รายสำคัญที่สุดของสหรัฐฯใน “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” แห่งนี้ ก็อยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพเช่นเดียวกัน

แคว้นพรมแดนตะวันตกเฉียงเหนือ (North-West Frontier Province) ซึ่งมีชายแดนติดกับอัฟกานิสถาน เวลานี้ในทางเป็นจริงแล้วตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพวกตอลิบาน ซึ่งได้ทำลายสมรรถนะของกองทัพปากีสถาน ในการสนับสนุนความพยายามของสหรัฐฯที่กำจัดปราบปรามพวกหัวรุนแรง

กองทัพปากีสถานไม่สามารถที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างเช่นการระเบิดสะพานในเขตไคเบอร์ เอเยนซี ดังที่กล่าวถึงข้างต้น อีกทั้งพวกตอลิบานก็สามารถตรึงกำลังทหารเอาไว้ในหลายๆ แนวรบ ด้วยแรงบีบคั้นจากอเมริกัน ทางปากีสถานได้เข้าสู้รบกับพวกหัวรุนแรงในเขตบาจาอูร์ เอเยนซี และ โมฮัมหมัด เอเยนซี ทว่ากองทหารรัฐบาลก็ไม่สามารถสร้างความคืบหน้าใดๆ ในท่ามกลางการถูกโจมตีแบบหน่วยจรยุทธ์อย่างไม่ยอมเลิกรา

เมื่อเร็วๆ นี้ พวกตอลิบานได้เพิ่มกิจกรรมของพวกตนในเขตหุบเขาสวาท ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงอิสลามาบัดเป็นระยะทางขับรถเพียงแค่ 3 ชั่วโมง และยกเว้นเพียงพื้นที่อีกไม่กี่บริเวณแล้ว พวกเขาก็คือสามารถยึดทั่วทั้งหุบเขาเอาไว้ได้หมด

สถานการณ์อาจจะเลวร้ายลงไปอีกในช่วงไม่กี่สัปดาห์ต่อไป เนื่องจากพวกพรรคฝ่ายค้านได้ประกาศที่จะจัดการรณรงค์ “เดินทัพทางไกล” เพื่อคัดค้านรัฐบาลในวันที่ 9 มีนาคม ขณะเดียวกันก็มีรายงานข่าวมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างนายกรัฐมนตรีไซเอด ยูซุฟ ราซา กิลลานี และประธานาธิบดีอาซิฟ อาลี ซาร์ดารี ซึ่งจะทำให้รัฐบาลขยับไปทางไหนก็ยากลำบาก

ความขัดแย้งยังกำลังปรากฏขึ้นระหว่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ กับคณะผู้นำทางทหารอเมริกัน “การต่อสู้เช่นนี้สะท้อนถึงการตัดสินใจเลือกในขั้นพื้นฐานทีเดียว ระหว่างการถอนตัวในทางยุทธศาสตร์จากอิรัก และความพยายามที่จะยืดเวลาการคงกำลังทหารสหรัฐฯเอาไว้ในประเทศนั้นภายหลังปี 2011” นี่เป็นข้อสังเกตของ แกเรธ พอร์เตอร์ นักหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวนชาวอเมริกัน ในบทความที่เขียนให้กับวารสาร เลอมง ดิปลอมาติก (ดูเรื่อง Obama not bowing to top brass ใน Asia Times Online, February 4, 2009 ประกอบ)

โอบามายืนกรานว่าเขาจะไม่ปรับเปลี่ยนกำหนดการของเขา เพื่อทำให้มันสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของพล.อ.เดวิด เพเทรอัส ผู้บัญชาการกองบัญชาการทหารเขตกลางของสหรัฐฯ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลทั้งอิรักและอัฟกานิสถาน “งานของประธานาธิบดี” โอบามาบอก “คือการบอกพวกนายพลว่า ภารกิจของพวกเขาคืออะไร”

เหล่านี้คือพัฒนาการบางประการที่จะมีการอภิปรายไต่ตรองกันในการประชุมมิวนิกคราวนี้ จากการที่คาดหมายกันไว้ว่าปี 2009 นี้จะเป็นปีอันเลวร้ายที่สุดในอัฟกานิสถานของสหรัฐฯนับตั้งแต่ที่ขับไล่พวกตอลิบานลงจากอำนาจในปี 2001 จึงมีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายอเมริกันจะยอมสละผลประโยชน์จำนวนมากของพวกเขาในอิรักเพื่อเอาอกเอาใจฝ่ายอิหร่าน และในทางกลับกัน เตหะรานก็จะยินยอมเปิดให้สัมภาระที่ไม่ใช่ด้านทหารของนาโต้ลำเลียงผ่านเมืองท่าชาบาฮาร์

ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็นหัวหน้าสำนักงานปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ สามารถที่จะติดต่อกับเขาได้ทางอีเมล์ saleem_sharzad2002@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น