เอเอฟพี - บรรดาประเทศเจ้าของระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชีย ต่างพากันรายงานข่าวร้ายเมื่อวันพฤหัสบดี(22) ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าวิกฤตการณ์ที่แพร่ลามไปทั่วโลกแล้วกำลังส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งขึ้นต่อภูมิภาคแถบนี้ ซึ่งจำนวนมากต่างเป็นประเทศที่ต้องพึ่งอาศัยภาคการส่งออกเป็นหัวรถจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสสุดท้ายของปี 2008 โดยมีอัตราขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)เพียง 6.8 เปอร์เซ็นต์ โรงงานอุตสาหกรรมหลายพันแห่งต้องปิดกิจการลงเพราะการหดตัวของตลาดส่งออก ทำให้อัตราขยายตัวตลอดทั้งปีของเศรษฐกิจจีนลดลงมาเหลือเพียง 9.0 เปอร์เซ็นต์
ขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นก็เตือนว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศอาจต้องเผชิญกับภาวะถดถอยยาวนานถึง 2 ปี พร้อมกันนั้น ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นก็ได้ประกาศมาตรการใหม่ ๆ หลายอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาความตึงตัวของตลาดสินเชื่อ หลังจากตัวเลขการส่งออกในเดือนธันวาคมดิ่งวูบลงถึง 35 เปอร์เซ็นต์ เพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
"การส่งออกลดต่ำลงมากจนไม่อยากจะเชื่อว่ามันเป็นความจริง" นาโอกิ มูราคามิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ โมเน็กซ์ ซีเคียวริตีส์ ในญี่ปุ่นกล่าว
สำหรับรัฐบาลเกาหลีใต้ก็แถลงยอมรับว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจอยู่ในภาวะเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในภูมิภาคเอเชียเมื่อ 10 ปีก่อน ไตรมาสสุดท้ายของปี 2008 เศรษฐกิจเกาหลีใต้หดตัวลงถึง 5.6 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านั้น
ผู้นำระดับสูงในคณะรัฐบาลยอมรับว่ารู้สึกช็อคกับการทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เฮอเคียงวุก กล่าวว่า เศรษฐกิจทรุดตัวลงรวดเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก
ไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว เศรษฐกิจเกาหลีใต้หดตัวลง 3.4 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ไตรมาสก่อนหน้านั้นยังมีอัตราขยายตัวเป็นบวก 3.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับเป็นการหดตัวครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 1998 ซึ่งเศรษฐกิจเกาหลีใต้หดตัวถึง 6 เปอร์เซ็นต์เพราะผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในภูมิภาคเอเชียขณะนั้น
ธนาคารกลางเกาหลีใต้แถลงว่า ปี 2008 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจขยายตัวเพียง 2.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งนับว่าชะลอตัวลงรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับอัตราขยายตัว 5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2007
ทางด้านสิงคโปร์แถลงเมื่อวันพุธ(21)ที่ผ่านมาว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศกำลังเผชิญกับภาวะถดถอยครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบถึง 16.9 เปอร์เซ็นต์
ต่อมาเมื่อวานนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ ได้เสนอร่างงบประมาณประจำปี 2009 ต่อรัฐสภา โดยที่ในร่างดังกล่าวมีแพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เป็นมูลค่า 20,500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (13,630 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) รวมอยู่ด้วย
รัฐมนตรีคลัง ธาร์มาน ชานมูการัตนัม แถลงต่อรัฐสภาว่า แพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจคราวนี้ถือว่ามีมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่สิงคโปร์เคยดำเนินการมา นอกจากนั้นรัฐบาลยังจะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจาก 18% เหลือ 17%
เขาแจกแจงว่า ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจคราวนี้ ประมาณ 4,900 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จะเป็นการดำเนินมาตรการเพื่อมุ่งรักษาตำแหน่งงาน ตลอดจนกระตุ้นให้ธนาคารปล่อยกู้ โดยที่งบประมาณส่วนนี้จะนำเงินจากทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมาใช้จ่าย
จากรายงานข่าวทางเศรษฐกิจของระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 4 ประเทศในภูมิภาคเอเชียเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งภูมิภาคกำลังประสบปัญหาไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก
อลัน ออสเตอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกลุ่มธนาคาร เนชั่นแนล ออสเตรเลีย กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียกำลังอยู่ในสถานะที่เรียกได้ว่าแย่มาก เศรษฐกิจชะลอตัวลงรวดเร็วมาก โดยเฉพาะเมื่อดูจากตัวเลขผลผลิตอุตสาหกรรมและจีดีพีของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค
ออสเตอร์กล่าวว่า เศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคนี้พึ่งอาศัยภาคการส่งออกเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นจึงเท่ากับขาดแรงขับเคลื่อนตามไปด้วย
"ดูจากภาพรวมของเศรษฐกิจโลกแล้ว ปี 2009 นี้น่าจะเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา" หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์กลุ่มธนาคารเนชั่นแนล ออสเตรเลียกล่าว