xs
xsm
sm
md
lg

นาวีทั่วโลกรวมตัวกันสู้โจรสลัดโซมาเลีย

เผยแพร่:   โดย: แพทริก เบิร์นส์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Navies of the world uniting
By Patrick Burns
15/01/2009

น่านน้ำนอกชายฝั่งโซมาเลียที่เคยถูกโจรสลัดรังควาญอยู่มิได้ขาด กลับประสบกับการโจมตีน้อยครั้งลงในระยะไม่กี่วันที่ผ่านมา สืบเนื่องจากความพยายามอันกระฉับกระเฉงที่มีเรือรบทั้งของจีน, มาเลเซีย, และอินเดียเข้ามาร่วมขบวนด้วย ข่าวล่าสุดจากที่นั่นก็คือ กองทัพเรือสหรัฐฯประกาศว่ากำลังจัดตั้งพันธมิตรนาวีนานาชาติขึ้นมา เพื่อดำเนินภารกิจในการปราบสลัด

สายตาของโลกกำลังจับจ้องอยู่ที่ตะวันออกกลาง แต่ห่างออกไปทางตอนใต้ ในบริเวณจงอยแอฟริกา ประเทศโซมาเลียกำลังลุกเป็นไฟขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว ข่าวดีก็คือ โจรสลัดโซมาเลียซึ่งได้สอนบทเรียนเรื่องความดื้อรั้นหัวแข็งให้แก่เหล่าเรือรบนานาชาติของโลกอย่างเจ็บแสบ แต่หลังจากเข้าโจมตีเรือสินค้าถึง 111 ลำตลอดรอบปี 2008 ที่ผ่านมา ในช่วงสัปดาห์นี้กลับยินยอมปล่อยเรือบรรทุกสินค้าแบบเทกองลำหนึ่งที่บริษัทเกาหลีใต้เป็นเจ้าของและบริษัทญี่ปุ่นเป็นผู้ดำเนินงาน ตลอดจนเรืออื่นๆ อีก 3 ลำ

ทว่าข่าวร้ายก็ยังมีอยู่เช่นกัน นั่นคือ บรรดาสาเหตุรากเหง้าของปัญหาโจรสลัด อาทิ ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอย่างร้ายแรง, และวิกฤตทางด้านมนุษยธรรม ล้วนแต่ยังดำรงคงอยู่ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลักดันให้เกิดการประสานร่วมมือกันทางการเมืองในเมืองหลวงโมกาดิชู หรือการทำให้เกิดความปลอดภัยทางทะเลในอาณาบริเวณนี้ขึ้นมา ต่างก็เป็นภาระหนักอึ้ง และทำให้ในปี 2009 นี้ ประชาคมระหว่างประเทศมีอะไรต้องวุ่นอยู่กับโซมาเลียอย่างเต็มไม้เต็มมือ

คงแทบไม่มีใครท้วงติงเลยถ้าจะพูดว่า โซมาเลียคือรัฐที่ล้มเหลวอย่างร้ายแรงสาหัสที่สุดของโลก ประเทศนี้ปราศจากรัฐบาลที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้มาตั้งแต่ปี 1991 แล้ว และเวลานี้ก็ปราศจากผุ้นำเสียอีก ภายหลังจากประธานาธิบดี อับดุลลาฮี ยูซุฟ อาเหม็ด ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 29 ธันวาคม 2008 ในเวลาอีกไม่นานนักโซมาเลียก็คงจะพังพาบตกไปอยู่ในมือของพวกผู้ก่อความไม่สงบอิสลามิสต์ ที่ย่ำแย่เพิ่มขึ้นไปอีกก็คือ เมื่อไม่กี่วันมานี้เอง เอธิโอเปียได้ประกาศเรียกทหารของตนราว 3,000 คนกลับบ้าน โดยที่ทหารเหล่านี้เองได้ทำหน้าที่ขับไล่และขัดขวางการเข้ากุมอำนาจของพวกอิสลามิสต์มาตั้งแต่ปี 2006

ประชาคมระหว่างประเทศนั้นบกพร่องล้มเหลว โดยที่ผ่านมาไม่ค่อยได้ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่คณะรัฐบาลชั่วคราวที่อ่อนแอยิ่งในโซมาเลียเอาเลย ในสัปดาห์นี้ที่สหประชาชาติ สหรัฐฯได้ยื่นเสนอญัตติต่อบรรดาสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงอย่างเงียบๆ เรียกร้องให้จัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพในโซมาเลียขึ้นมา ญัตตินี้ซึ่งนับเป็นญัตติฉบับที่ 5 ในระยะหลายๆ เดือนมานี้ จัดว่ามีเนื้อหาแข็งขันมุ่งหวังอะไรกว้างไกลมากที่สุด แต่ก็ยังไม่ได้ลงรายละเอียดเจาะจงเท่าที่ควร โดยเพียงระบุให้คณะมนตรีนำเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาภายในเวลา 6 เดือน

เพียงสองสามสัปดาห์ก่อนหน้านี้ แนวความคิดที่จะจัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพเช่นนี้ คือสิ่งที่สมาชิกคณะมนตรีหลายๆ รายตั้งป้อมรังเกียจไม่ยอมรับ ขณะที่สมาชิกสำคัญอย่างสหรัฐฯ, จีน, ตลอดจนพวกประเทศแอฟริกา พากันล็อบบี้ให้ส่งทหารยูเอ็นเข้าไปในโซมาเลียนั้น หลายๆ ประเทศทีเดียวกลับปฏิเสธแนวความคิดนี้อย่างไม่ใยดี

ระหว่างที่ไปยังคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และโดยที่มีรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ กับ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน เหอย่าเฟย อยู่เคียงข้าง รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คอนโดลีซซา ไรซ์ แถลงว่า “เราไม่สามารถถลำลงสู่สถานการณ์ซึ่งปล่อยให้เกิดช่องว่างด้านความมั่นคงปลอดภัยขึ้นในโซมาเลีย ถ้าพวกเราต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นแล้ว มันจะเป็นเรื่องไม่ดีเลย” อย่างไรก็ตาม ภาพจำลองสถานการณ์อันน่าสยองขวัญที่ไรซ์พูดไว้นี่แหละ กำลังเกิดขึ้นมาแล้วจริงๆ ในเวลานี้

ถึงแม้เรื่องการลงมือปฏิบัติการทางภาคพื้นดินในโซมาเลียให้แข็งขันเพิ่มมากขึ้น ยังเป็นสิ่งที่ประเทศต่างๆ เห็นไม่เป็นเอกภาพกันและมีความคลุมเครือเคลือบแคลงกันอยู่ แต่สำหรับการปฏิบัติการทางทะเลแล้ว ปฏิกิริยาตอบสนองกลับอยู่ในลักษณะตรงกันข้าม ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นได้ลงมติอนุมัติญัตติอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งให้อำนาจแก่บรรดารัฐสมาชิกในการต่อสู้กับโจรสลัดทั้งทางบก, ทางทะเล, และทางอากาศ ความเคลื่อนไหวคราวนี้ถือเป็นการกระทำที่ฉลาดและฉับไวของคณะมนตรีทีเดียว นับจนถึงเวลานี้มีเรือรบจากกองทัพเรือต่างๆ ทั่วโลกเดินทางเข้ามาเพื่อทำหน้าที่ต่อสู้กับภัยโจรสลัดอย่างกระตือรือร้น รวมแล้วประมาณ 20 ประเทศทีเดียว ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งเรือรบของจีน, ปากีสถาน, มาเลเซีย, และอินเดียด้วย ที่กำลังลาดตระเวนตรวจการณ์ในเขตน่านน้ำใกล้ๆ และนอกชายฝั่งโซมาเลีย

โซมาเลียนั้นมีชายฝั่งต่อเนื่องยาวเหยียดถึง 1,800 ไมล์ โดยที่ด้านหนึ่งของชายฝั่งเหล่านี้คือมหาสมุทรอินเดีย และอีกด้านหนึ่งเป็นอ่าวเอเดน โดยเฉพาะอ่าวเอเดนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในทางยุทธศาสตร์และทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นปากทางที่เข้าสู่ทะเลแดง และต่อไปยังคลองสุเอซ อันเป็นเส้นทางลัดระหว่างทวีปเอเชียกับทวีปยุโรป โดยไม่ต้องอ้อมลงไปวนชายฝั่งด้านใต้สุดของทวีปแอฟริกา ดังนั้น บริเวณน่านน้ำนอกชายฝั่งโซมาเลีย โดยเฉพาะช่วงที่เป็นอ่าวเอเดน จึงเป็นช่องทางเดินเรือทะเลที่จอแจที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยจำนวนเรือผ่านไปมาประมาณปีละ 20,000 ลำ เฉพาะจีนประเทศเดียวส่งเรือพาณิชย์ผ่านไปมาในอาณาบริเวณนี้ปีละ 1,265 ลำ หรือตกในราววันละ 3-4 ลำ ทั้งนี้ตามข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศแดนมังกร ส่วนอินเดียประมาณการว่า มีสินค้าอินเดียคิดเป็นมูลค่าราว 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯขนส่งผ่านอ่าวเอเดนในแต่ละปี

พื้นที่น่านน้ำอันกว้างใหญ่ และเรือสินค้าลำโตๆ ที่อุ้ยอ้ายแล่นช้าก็ไปมาอยู่ไม่ขาดสาย สภาพเช่นนี้ทำให้กิจกรรมโจรสลัดกลายเป็นอุตสาหกรรมที่รุ่งเรืองยิ่งแขนงหนึ่งของโซมาเลีย แทบจะตลอดทั้ง
ปี 2008 เหล่าโจรสลัดที่ใช้เรือยนต์เร็วและติดต่อสื่อสารกันด้วยโทรศัพท์มือถือผ่านดาวเทียม ได้ออกปฏิบัติการปล้นและยึดเรือสินค้าไปเรียกค่าไถ่อย่างห้าวหาญชนิดไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ ทั้งสิ้น ในจำนวนเรือสินค้าจีนทั้งหมดที่แล่นผ่านบริเวณนี้เมื่อปีที่แล้ว มีถึงราว 20% ทีเดียวที่ถูกโจมตี และที่พวกสลัดประสบความสำเร็จยึดเรือไปเรียกค่าไถ่ก็มีอยู่ 2 ลำ

พวกโจรสลัดออกปล้นและยึดเรือเรียกค่าไถ่ได้โดยไม่ถูกลงโทษอะไร จวบจนกระทั่งเมื่อโลกหันมาจับจ้องโซมาเลียกันอย่างจริงจังในปลายเดือนกันยายน เมื่อเรือสินค้ายูเครนลำหนึ่งที่บรรทุกรถถังหลายคันพร้อมเครื่องกระสุนคิดเป็นมูลค่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯถูกจี้จับไป จากนั้นในต้นเดือนพฤศจิกายน ยังเกิดเหตุการณ์ยึดเรือเรียกค่าไถ่รายมโหฬารอีกรายหนึ่ง คราวนี้เป็นเรือบรรทุกน้ำมันขนาดยักษ์ของซาอุดีอาระเบีย ที่กำลังบรรทุกน้ำมันดิบจำนวนถึง 2 ล้านบาร์เรล (คิดเป็นมูลค่าประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

รวมตลอดทั้งปี 2008 พวกโจรสลัดจี้เรือไปเรียกค่าไถ่ทั้งสิ้น 40 ลำ ในจำนวนนี้มี 10 ลำที่ยังคงตกอยู่ในเงื้อมมือพวกโจร อาทิ

---“เถียนหยู 8” เรือประมงจีนที่มีลูกเรือเป็นคนจีน 15 คน, ไต้หวัน 1 คน, ญี่ปุ่น 1 คน, ฟิลิปปินส์ 3 คน, และเวียดนามอีก 4 คน ถูกยึดไปเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน
---“เคมสตา วีนัส” เรือบรรทุกน้ำมันอินโดนีเซียที่มีลูกเรือเป็นชาวฟิลิปปินส์ 18 คน และเกาหลีใต้อีก 5 คน
---“เอ็มวี บิสคากาเลีย” เรือบรรทุกเคมีภัณฑ์จดทะเบียนที่ฮ่องกง ที่มีลูกเรือเป็นชาวอินเดีย 25 คน, อังกฤษ 3 คน, และบังกลาเทศ 2 คน

หากจะมองในด้านที่สดใส การปล่อยเรือสินค้า 4 ลำในสัปดาห์นี้น่าจะถือเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า ความพยายามอย่างกระฉับกระเฉงของกองนาวีนานาชาติ กำลังประสบผลสำเร็จ นอกจากนั้น ในปี 2009 นี้ก็ยังไม่มีรายงานว่ามีการเข้าจี้ปล้นเรือใหญ่ๆ บังเกิดขึ้นเลย รวมทั้งกลับมีข่าวว่าการเข้าโจมตีหลายๆ หนของโจรสลัดนั้น กระทำการไม่สำเร็จ

เมื่อกลางเดือนธันวาคม เรือรบ ไมซอร์” ของอินเดียได้จับกุมเรือเล็กของพวกสลัดลำหนึ่งพร้อมกับผู้ต้องสงสัย 23 คน หนึ่งเดือนก่อนหน้านั้น เรือฟรีเกตของกองทัพเรืออินเดียก็ได้จมเรือลำหนึ่งที่ถูกระบุว่าเป็นเรือแม่ของพวกโจรสลัด (แต่เจ้าของเรือประมงชาวไทยระบุว่า เรือลำนั้นเป็นเรือของตนที่เพิ่งถูกโจรสลัดยึดไปในวันเดียวกันนั้นเอง –ผู้แปล)

ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนเช่นกัน มีโจรสลัด 9 คนเข้าโจมตีเล่นงานเรือ “เจิ้นหัว 4” ที่เป็นเรือสินค้าของบริษัทไชน่า คอมมิวนิเคชั่นส์ คอนสตรักชั่น คอมปานี แต่เมื่อการโจมตีดำเนินไปไม่นานนัก มาเลเซียก็ได้จัดส่งเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธไปช่วยเหลือขับไล่พวกโจรสลัดให้ล่าถอยไป ทั้งนี้ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศจีน

ภัยโจรสลัดอันร้ายแรงที่สร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้แก่พวกบริษัทเดินเรือทะเลทั้งหลายเช่นนี้ กำลังเป็นแรงบันดาลใจทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างกองทัพของชาติต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างจีนกับพันธมิตร และก็ทำให้แดนมังกรได้แสดงบทบาทใหม่ทางด้านความมั่นคงปลอดภัยทางทะเล สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เรือพิฆาต “อู่ฮั่น” ของจีนได้เข้าคุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันไต้หวันลำหนึ่งเป็นระยะทาง 553 ไมล์ทะเล จากทะเลแดงไปจนถึงอ่าวเอเดน นอกจากนั้นจีนยังกำลังจัดส่งเรือพิฆาตอีกลำหนึ่งที่ชื่อ “ไหโข่ว” พร้อมเรือสนับสนุน 1 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ 2 เครื่อง ไปสมทบกับเรือพิฆาต “อู่ฮั่น” เรือรบทั้งสองนี้ถือเป็นเรือทันสมัยที่สุดของกองทัพเรือจีน และจะมีลูกเรือรวมทั้งหมดประมาณ 800 คน

กระทั่งญี่ปุ่นที่ยึดมั่นอยู่กับหลักการสันติภาพมานมนาน ก็ยังกำลังพิจารณาที่จะส่งเรือรบไปร่วมวงด้วย มีรายงานจากทางรัฐบาลญี่ปุ่นว่า นายกรัฐมนตรี ทาโร อาโซะ ได้เรียกรัฐมนตรีกลาโหม ยาสุคาซุ ฮามาดะ ไปกำชับให้เร่งดำเนินการจัดเตรียมต่างๆ เพื่อให้สามารถส่งเรือรบไปปฏิบัติการดังกล่าวได้ ความเคลื่อนไหวคราวนี้ปรากฏออกมาในขณะที่สื่อมวลชนญี่ปุ่นกำลังคึกคักไปด้วยรายงานข่าวการปล่อยตัวแพทย์ญี่ปุ่นชื่อ เคโกะ อะคาฮาเน ซึ่งถูกจับตัวไปในเอธิโอเปียและถูกกักตัวอยู่ในกรุงโมกาดิชู ของโซมาเลียเป็นเวลา 4 เดือน

ข่าวล่าสุดจากย่านอ่าวเอเดนที่กำลังสะพรั่งด้วยกองเรือรบนานาชาติก็คือ กองทัพเรือสหรัฐฯประกาศจะจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรนาวีระหว่างประเทศกลุ่มใหม่ขึ้นมา โดยหวังที่จะได้เรือรบของ 20 ประเทศมาร่วมมือกัน และจะมี พล.ร.อ.เทอเรนซ์ แมคไนต์ ของสหรัฐฯเป็นผู้นำ

สถานการณ์ในโซมาเลียยังไม่มีทีท่าจะสงบลงง่ายๆ การจัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพของยูเอ็นเพื่อเข้าไปปฏิบัติการในโซมาเลีย ก็คงจะไม่อาจเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน และในยามที่กรุงโมกาดิชูกำลังเผชิญความปั่นป่วนร้อนแรงอยู่เช่นนี้ ย่อมเป็นไปไม่ได้หรอกที่พวกโจรสลัดทั้งหลายจะเลิกราการปล้นชิง และหวนกลับไปทำมาหากินเป็นชาวประมงตามเดิม

แพทริก เบิร์นส์ เป็นผู้สื่อข่าวที่พำนักอยู่ในนิวยอร์ก
กำลังโหลดความคิดเห็น