เอเอฟพี - ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในประเทศยากจนเสี่ยงเสียชีวิตระหว่างการตั้งครรภ์ หรือการให้กำเนิดบุตร มากกว่าผู้หญิงที่อยู่ในประเทศร่ำรวยถึง 300 เท่า ทั้งนี้ เป็นรายงานจากการเปิดเผยของยูนิเซฟ เมื่อวันพฤหัสบดี (15)
กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ เผยว่า การแบ่งระหว่างประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศด้อยพัฒนา บางทีอาจจะเป็นเรื่องใหญ่กว่าในประเด็นการเสียชีวิตเกี่ยวกับการให้กำเนิด มากกว่าประเด็นอื่นๆ “ไม่มีอัตราตายใดๆ จะเสมอเท่า” รายงานของยูนิเซฟ ระบุ
อัตราเสี่ยงสำหรับการเสียชีวิตเกี่ยวกับการให้กำเนิดต่อผู้หญิงหนึ่งคน คือ 1 ใน 7 ในประเทศไนเจอร์ เทียบกับ 1 ใน 47,000 ในไอซ์แลนด์ โดยเฉลี่ย ทุกวันมีผู้หญิงเสียชีวิต 1,500 คน ระหว่างตั้งครรภ์ หรือให้กำเนิด หรือประมาณ 500,000 รายต่อปี โดย 95 เปอร์เซ็นต์อยู่ในทวีปแอฟริกา หรือ เอเชีย และในเฉพาะอินเดีย มีถึง 22 เปอร์เซ็นต์
1 ใน 4 ของผู้หญิงเหล่านี้ เสียชีวิตจากการตกเลือดหลังคลอด, 15 เปอร์เซ็นต์จากอาการติดเชื้อ, 13 เปอร์เซ็นต์ จากอาการแทรกซ้อนจากการแท้ง, 12 เปอร์เซ็นต์ จากปัญหาระบบเมตาบอลิซึมที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและการชัก ขณะที่ 8 เปอร์เซ็นต์ มาจากการคลอดขัดขวาง
ทั้งนี้ การเสียชีวิตเกี่ยวกับการให้กำเนิดยังส่งผลกระทบอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดด้วย โดยเฉพาะเมื่อทารกแรกเกิดอยู่ในช่วงเสี่ยงสูงใน 28 วันแรก โดย
ทารกซึ่งมารดาเสียชีวิตระหว่าง 6 สัปดาห์แรกมีแนวโน้มเสียชีวิตก่อนที่จะอายุครบ 2 ขวบ มากกว่าทารกที่มารดารอดชีวิต
ในเคสที่ร้ายแรงที่สุด ทารก 75 เปอร์เซ็นต์ ในอัฟกานิสถาน ซึ่งมารดาเสียชีวิตในการให้กำเนิด ไม่สามารถมีชีวิตได้มากกว่า 1 เดือน
ยูนิเซฟ ระบุว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของการเสียชีวิตเกี่ยวกับการให้กำเนิดนั้น สามารถป้องกันได้ หากผู้หญิงสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขพื้นฐาน ทั้งนี้ ยูนิเซฟได้เรียกร้องให้มีการนำระบบการดูแลอย่างยาวนานสำหรับผู้หญิง และการเข้าถึงการศึกษามากยิ่งขึ้นสำหรับเด็กผู้หญิงด้วย
“ผู้หญิงจำนวนมากในประเทศกำลังพัฒนาไม่มีอะไรจะพูดเกี่ยวกับความจำเป็นด้านการดูแลสุขภาพของตัวเอง” รายงานระบุ พร้อมทั้งเผยด้วยว่า ในมาลี บูร์กินาฟาโซ และไนจีเรีย ผู้หญิงมากกว่าร้อยละ 70 กล่าวว่า สามีของตัวเองตัดสินให้พวกเธอในเรื่องการแพทย์