เอเอฟพี/เอเจนซี - ฮิลลารี คลินตัน ว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เข้าให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภา ในวันอังคาร (13) อันเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการให้วุฒิสภารับรอง ก่อนที่เธอจะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยเธอย้ำว่า จะดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศโดยผสมผสานทั้งด้านการทหารและการทูตอย่าง “ชาญฉลาด” ภายใต้รัฐบาลใหม่ของ บารัค โอบามา และยืนยันว่า อเมริกาจะต้องไม่ล้มเลิกความพยายามสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง
ในประเด็นสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ที่ฉนวนกาซา คลินตัน ระบุว่า จะเจรจากับกองกำลังอิสลามิสต์กลุ่มฮามาส แต่จะไม่ยอมนิ่งเฉยต่อการที่พลเรือนของทั้งสองฝ่ายต้องบาดเจ็บล้มตาย นอกจากนั้น เธอจะใช้แนวทาง “เชิงรุก” เพื่อหยุดโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือให้ได้ รวมทั้งจะให้สหรัฐฯ เข้าร่วมในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพบรรยากาศโลกด้วย
“ดิฉันเชื่อว่า ที่ผ่านมา โลกต้องการความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ และตอนนี้ก็ยังคงต้องการเช่นกัน” คลินตัน กล่าว “เราจึงต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า “อำนาจอันชาญฉลาด” โดยใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพ” ซึ่งเธอหมายรวมถึงการใช้ยุทธศาสตร์ทั้งทางด้านการทูต เศรษฐกิจ การทหาร การเมือง กฎหมาย และวัฒนธรรมผสมเข้าด้วยกันนั่นเอง
เธอกล่าวอีกว่า ทั้งเธอและโอบามาต่างก็เชื่อในนโยบายต่างประเทศซึ่งจับคู่กันระหว่าง “หลักการและแนวทางปฏิบัติ ไม่ใช่อุดมการณ์แบบตายตัว” แต่ก็ได้กล่าวเตือนด้วยว่าการใช้อำนาจทางการทหารนั้น “อาจมีความจำเป็นในบางครั้ง แต่ก็จะเป็นวิธีการสุดท้ายที่จะเลือกใช้”
นอกจากนั้น คลินตัน ได้ย้ำถึงคำมั่นสัญญาของโอบามาที่จะเปลี่ยนจุดมุ่งเน้นของสงครามไปยังอัฟกานิสถานและจะถอนกำลังทหารสหรัฐฯ ออกจากอิรัก รวมทั้งจะใช้ “แนวทางใหม่” กับอิหร่านโดยเน้นไปที่ด้านการทูตมากขึ้น
“รัฐบาลชุดใหม่ให้ความสำคัญกับบทบาทของอิหร่านในเวทีโลก” คลินตัน บอก แต่ก็เสริมด้วยว่าเธอไม่ได้ปิดทางเลือกที่มีอยู่ ซึ่งรวมทั้งการที่สหรัฐฯ อาจจะต้องใช้กำลังทหารเพื่อหยุดโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านด้วย
ส่วนการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก คลินตัน ให้คำมั่นว่า สหรัฐฯ จะให้ความร่วมมือในเวทีโลกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะแตกต่างจากแนวทางของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่สงวนท่าทีในเรื่องนี้มาตลอด
กรณีการสู้รบในฉนวนกาซา คลินตัน ยืนยันว่า สหรัฐฯ “ไม่สามารถล้มเลิกการสร้างสันติภาพ” เธอบอกว่า “ว่าที่ประธานาธิบดีและดิฉันเข้าใจและรู้สึกเห็นใจอย่างสุดซึ้งต่อความปรารถนาของอิสราเอลที่จะปกป้องตนเองภายใต้เงื่อนไขในปัจจุบัน และหาทางรอดพ้นจากการถูกกลุ่มฮามาสถล่มด้วยจรวด”
คลินตัน สัญญาว่า จะใช้ยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้าย “ที่ครอบคลุม” เพื่อกำจัดกลุ่มอัลกออิดะห์ และระบุว่า ภัยคุกคามหนักที่สุดสำหรับอเมริกา ก็คือ การที่อาวุธนิวเคลียร์อาจตกไปอยู่ในมือของพวกก่อการร้าย ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องหาทางลดการสะสมและขยายตัวของอาวุธนิวเคลียร์
ยิ่งกว่านั้น สหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลใหม่จะสานสัมพันธ์กับเพื่อนเก่า อย่าง ยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพื่อสร้างพันธมิตรในการกำจัดศัตรู ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของจีนทั้งในระดับเวทีโลกและในประเทศ ซึ่งจะเป็นแนวทางเดียวกับกรณีความสัมพันธ์กับรัสเซีย
**ผลประโยชน์ทับซ้อนกับมูลนิธิของสามี**
การให้ปากคำของคลินตันครั้งนี้ ดำเนินไปในบรรยากาศฉันมิตร สิ่งเดียวที่เป็นแสดงถึงความไม่เห็นพ้อง ก็คือ คำเตือนซึ่งเป็นไปอย่างสุภาพแต่ก็ทรงพลังจากวุฒิสมาชิก ริชาร์ด ลูการ์ แห่งพรรครีพับลิกัน ที่ว่า คลินตัน ควรหาทางหลีกเลี่ยงปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของเธอ กับมูลนิธิด้านการกุศลระดับโลก ของ บิล คลินตัน สามีของเธอ ซึ่งได้รับเงินบริจาคถึงกว่า 131 ล้านดอลลาร์จากรัฐบาลหลายประเทศ
ทางด้าน คลินตัน ตอบว่า เธอและสามีได้พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาพที่ดูเหมือนกับมีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่แล้ว ทว่า เธอไม่ยอมทำตามเสียงเรียกร้องของฝ่ายรีพับลิกัน ที่ให้เปลี่ยนเนื้อหาของข้อตกลงระหว่างมูลนิธิของเขากับคณะเตรียมการรับโอนอำนาจของโอบามา ให้มีความเข้มงวดมากขึ้นอีก
ตามข้อตกลงดังกล่าวซึ่งลงนามกันในวันที่ 12 ธันวาคม มูลนิธิคลินตัน ได้เผยรายชื่อผู้บริจาคให้แก่มูลนิธิในอดีต พร้อมสัญญาว่า จะตีพิมพ์รายชื่อผู้บริจาคต่อไปในอนาคตเป็นประจำทุกปี และยื่นรายการบริจาคของต่างประเทศในอนาคตให้ทางกระทรวงการต่างประเทศพิจารณาเรื่องจริยธรรม