xs
xsm
sm
md
lg

“โอบามา” วีรบุรุษผู้สร้างความตื่นตะลึงแก่การเมืองสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
เอเอฟพี/เอเจนซี - บารัค โอบามา วีรบุรุษผู้สร้างความตื่นตะลึงให้แก่วงการเมืองสหรัฐฯและเพิ่มสีสันแปลกใหม่ให้แก่โลกแห่งปี 2008 เห็นทีจะต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในปี 2009 เพื่อสร้างจุดจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งให้แก่บรรดาวิกฤตการณ์และความผันผวนทางการเมืองอันมากมาย ที่กำลังรอคอยทดสอบช่วงวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของอเมริกาผู้นี้

การแข่งขันชิงเก้าอี้ทำเนียบขาวในปี 2008 นั้นดุเดือดมาตั้งแต่ช่วงการหยั่งเสียงเลือกตั้งขั้นต้น โดยเฉพาะในพรรคเดโมแครต ที่มีผู้ลงแข่งเพื่อเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคหลายราย ทั้งบุคคลมีชื่อเสียงได้รับการสนับสนุนจากมหาชน ไปจนถึงคนที่บุกเดี่ยวมาแบบนักไต่เขา แต่สุดท้ายก็มาลงเอยที่โอบามาวัย 47 ปี ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐฯ

นอกจากนั้น ผลการเลือกตั้งปี 2008 พรรคเดโมแครตยังสามารถเพิ่มเสียงข้างมากในทั้งสองสภา จึงนับเป็นการผูกขาดอำนาจในกรุงวอชิงตันได้เป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี ทำให้บรรดาผู้สนับสนุนพรรคมีความหวังที่จะได้เห็นการจัดแถวทางการเมืองครั้งใหญ่ซึ่งนานๆ จะมีสักครั้ง

ปี 2008 ยังเป็นปีที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กลายเป็นเป็ดง่อยตัวที่เป็นง่อยหนักที่สุด เมื่ออำนาจของเขามีอยู่เพียงในความทรงจำ ทันทีที่เกิดวิกฤตการทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกในทศวรรษ 1930 เป็นต้นมา และยังทำให้เกิดสุญญากาศของภาวะผู้นำขึ้นอีกด้วย

เป็นเรื่องเหลือเชื่อมาก โอบามาผู้กำลังจะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคมนี้ ยังไม่เคยสาบานตนแม้แค่เพื่อเข้ารับตำแหน่งวุฒิสมาชิกเลยเมื่อสี่ปีก่อน แต่การที่เขาสามารถปีนบันไดการเมืองขึ้นมาได้สูงลิ่วเช่นนี้ อย่างน้อยก็คงช่วยเติมเต็มความใฝ่ฝันของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ผู้ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของคนผิวสีได้

“หากจะมีใครสักคนยังสงสัยว่า อเมริกาเป็นดินแดนที่ความฝันทั้งปวงล้วนกลายเป็นความจริงได้จริงหรือไม่ หากใครสักคนยังประหลาดใจว่าความใฝ่ฝันของผู้ก่อตั้งประเทศของเรายังดำรงอยู่ในยุคสมัยของเราหรือไม่ และใครที่ยังมีคำถามต่อพลังของประชาธิปไตยอยู่อีก คืนนี้พวกท่านก็ได้คำตอบแล้ว” โอบามากล่าวสุนทรพจน์ประกาศชัยชนะการเลือกตั้งที่ชิคาโก

คู่แข่งของโอมาบา ซึ่งเป็นตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน คือ จอห์น แมคเคน อดีตนักบินแห่งกองทัพเรือในยุคสงครามเวียดนาม และวุฒิสมาชิกผู้คร่ำหวอดที่อยู่ในวัย 72 ปีแล้ว เขาถูกมองเมินมาตั้งแต่แรกๆ แล้วว่าคงยากที่จะเอาชนะผู้สมัครของพรรคเดโมแครตได้ และความหวังที่จะพลิกล็อกก็ยิ่งหดเหี้ยนลงไปอีกเมื่อปีนี้สหรัฐฯถลำจมลงสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินอย่างล้ำลึก

สำหรับภายในพรรคเดโมแครตนั้น ฮิลลารี คลินตัน เป็นตัวเต็งมาตลอดว่าจะได้เป็นตัวแทนสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรค จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2007 เธอยังมีคะแนนนำโอบามาอยู่ถึง 33 เปอร์เซ็นต์

ทว่าภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูยอดเยี่ยมของเธอ กลับตกคะมำยับเยินในการทดสอบที่ไม่เข้าใครออกใครอย่างการเลือกตั้งขั้นต้นที่ใช้ระบบคอคัสของมลรัฐไอโอวาเมื่อเดือนมกราคม 2008 ซึ่งปรากฏว่าโอบามาได้ชัยชนะอย่างที่ใครๆ ก็ไม่คาดคิด

ทว่า อีกไม่กี่วันต่อมา คลินตันก็สามารถกลับมาชนะอย่างน่าตื่นใจในการเลือกตั้งขั้นต้นระบบไพรมารีที่มลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ หลังจากที่เธอหลั่งน้ำตาและลบภาพความเป็นสตรีเหล็กผู้แกร่งกร้าวของเธอลงไป

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในอีก 6 เดือนถัดจากนั้น ในที่สุดก็ทำให้ความฝันของเธอจะเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ต้องพังครืนลง หลังจากที่ฮิลลารีได้คะแนนจากผู้ลงคะแนนเสียงเลือกเธอถึง 18 ล้านเสียง แต่นั่นก็นับเป็นจุดสูงสุดที่เธอจะฝืนก้าวต่อไปอีกไม่ไหวแล้ว

กระนั้นก็ตามที ความสัมพันธ์ระหว่างฮิลลารีกับโอบามาตลอดจนอนาคตทางการเมืองของหญิงแกร่งผู้นี้ในปี 2008 ก็ยังมีการพลิกผันหักมุมอีกครั้งจนได้ เมื่อโอบามาประกาศวางตัวฮิลลารีขึ้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของเขา ตามแนวความคิดของการคัดสรรคณะรัฐมนตรีแบบ “รวมทีมคู่แข่ง” มาไว้ด้วยกัน ที่เคยใช้อย่างได้ผลมาแล้วในยุคของประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะสามารถรวบรวมเอาคนดีมีฝีมือทั้งหลายมาร่วมรัฐบาล ชนิดพร้อมที่จะเปิดให้เกิดโต้เถียงขัดแย้งกันอย่างเต็มที่ เพื่อมุ่งผลักดันให้เกิดผลงานที่ดีที่สุด

ไม่เพียงผู้เป็นภรรยาเท่านั้น ปี 2008 ยังเป็นปีที่พลิกผันไปมาสำหรับสามีของเธอ นั่นคือ อดีตประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน อีกด้วย

ในระหว่างการช่วยภรรยาหาเสียงเพื่อให้ได้เป็นตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของเดโมแครตนั้น เขาได้ตำหนิพวกผู้สื่อข่าวอยู่หลายครั้งงาสเสนอข่าวอย่างไม่เป็นธรรม เขาถูกกล่าวหาจากผู้สนับสนุนโอบามาบางคนว่าใช้ประเด็นผิวสีมาเล่นเกมการเมือง แต่ครั้นถึงปลายปี เมื่อภรรยาของเขาได้รับตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐบาลชุดใหม่ ก็ดูเหมือนว่าเขาจะยอมปรองดองกับโอบามาในฐานะประธานาธิบดีได้ดี

อย่างไรก็ตาม พรรคเดโมแครตไม่ใช่พรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่มีสีสันสะดุดตาในปี 2008 คู่แข่งอย่างรีพับลิกันก็มีเรื่องราวชวนติดตามไม่น้อยตลอดการรณรงค์แข่งขันครั้งนี้ โดยเฉพาะเมื่อแมคเคนดึงเอาแซราห์ แพลิน ผู้ว่าการมลรัฐแอลาสกา มาเป็นคู่ชิงในตำแหน่งรองประธานาธิบดี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครรู้จักคุณแม่นักบู๊ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง และยังเป็นพวกหัวอนุรักษนิยมรักสวยรักงามคนนี้มาก่อน

แพลินทำให้บรรยากาศในการประชุมใหญ่พรรครีพับลิกันคึกคักด้วยสุนทรพจน์ที่ชวนตื่นตะลึง แต่แล้วเมื่อถึงคราวที่เธอต้องเปิดตัวเองต่อสาธารณชนมากขึ้น ด้วยให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ถึงความพร้อมรับตำแหน่ง เธอก็ตกม้าตาย

จอร์จ ดับเบิลยู. บุช อาจจะเป็นเพียงผู้เล่นที่มีบทบาทเป็นพระรองสำหรับปี 2008 แต่ความล้มเหลวของเขาในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ก็เป็นฉากหลังให้แก่ละครการเมืองอันเดินเรื่องได้อย่างน่าตื่นเต้นในคราวนี้

โอบามานำเอาประธานาธิบดีผู้มีคะแนนนิยมตกทรุดผู้นี้ มาผูกติดกับแมคเคนในทุกๆ จังหวะของการเดินหมากทางการเมือง ทำให้การรณรงค์หาเสียงคราวนี้กลายเป็นการลงคะแนนประชามติต่อช่วงเวลา 8 ปีแห่งการครองอำนาจของรีพับลิกัน

บุชพาให้พรรครีพับลิกันพลอยตกต่ำตามเขาไปด้วย หลังจากความพ่ายแพ้ยับเยินในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาปี 2008 ซึ่งจัดขึ้นพร้อมๆ กับการเลือกตั้งประธานาธิบดี พรรครีพับลิกันก็กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตทางอัตลักษณ์ ความฝันของพวกเขาที่จะกลายเป็นพรรคที่สามารถครอบงำวงการเมืองอเมริกันในอนาคตไปอีกยาวนาน ซึ่งเคยพูดจากันเกรียวกราวในตอนที่บุชชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง บัดนี้เหลือไว้แต่เพียงเถ้าถ่านเท่านั้น

นอกจากความเคลื่อนไหวที่เป็นเรื่องใหญ่ๆ เรื่องหลักๆ แล้ว การเลือกตั้งอเมริกันปี 2008 ยังมีแง่มุมอื่นๆ ที่ทำให้เราไม่อาจกลั้นยิ้มน้อยๆ และนึกถึงคำกล่าวที่ว่า ในวงการเมืองนั้น ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูที่ถาวร

ฮิลลารี คลินตัน และ บารัค โอบามา ต่างเคยสาดโคลนใส่กันอย่างรุนแรงในช่วงการหยั่งเสียงเลือกตั้งขั้นต้น โดยโอบามาเยาะเย้ยว่าการเดินทางไปต่างประเทศของคลินตันนั้นเป็นเพียงการไปดื่มน้ำชากับพวกทูต ส่วนคลินตันก็สวนกลับว่าโอบามาไม่ใช่คนที่พร้อมจะตื่นขึ้นมาตอนตีสามเพื่อแก้วิกฤตการณ์ในทำเนียบขาว
แม้แต่แพลินเองก็กล่าวหาโอบามาว่า “เป็นเพื่อน” กับผู้ก่อการร้าย

อีกสิ่งหนึ่งที่จะลืมไม่ได้ก็คือ อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสื่อที่พลิกโฉมหน้าการรณรงค์หาเสียงครั้งมโหฬาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโอบามาระดมเงินทุนสำหรับหาเสียงโดยขอรับบริจาคผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ถึง 750 ล้านดอลลาร์

โอบามาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนตลอดการรณรงค์หาเสียงจนกระทั่งได้รับชัยชนะในคราวนี้ ว่าเขามีความเชี่ยวชาญในด้านการสื่อสารกับผู้คน จนหลายๆ คนบอกว่านี่แหละคือหนึ่งในปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดความมีชัยของเขา

เขาจะต้องอาศัยทักษะที่เขาถนัดนี้เป็นอย่างยิ่งในปี 2009 ทั้งนี้ก็เพราะเขาจะต้องเข้ารับตำแหน่งประมุขของสหรัฐฯ ในห้วงยามที่เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ที่สุดในรอบ 70 กว่าปีที่ผ่านมานั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น