xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจโลกปีนี้แค่โหมโรง ปีหน้าเตรียมดอกไม้เผาจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – หากคุณคิดว่าปี 2008 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปเป็นปีที่เลวร้ายสำหรับเศรษฐกิจโลกแล้วล่ะก็ ขอให้รอดูปีหน้าฟ้าใหม่ก่อน เพราะผู้เชี่ยวชาญจากหลายสำนักล้วนทำนายตรงกันว่าหลังจากเศรษฐกิจประเทศชั้นนำเข้าสู่ภาวะถดถอยกันเรียบร้อยแล้ว แนวโน้มในช่วง 12 เดือนข้างหน้านี้จะยิ่งมืดมนมัวหม่นกว่าเดิม

การชะลอตัวของดีมานด์ทั่วโลกหมายความถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนพนักงานที่จะถูกปลด โรงงานที่จะปิดตัวและล้มละลาย ตลอดจนแผนกู้วิกฤตของภาครัฐที่ต้องทุ่มเทงบประมาณบานตะไทเป็นแสนล้านดอลลาร์

“เรามองว่าปี 2009 เป็นปีแห่งความเลวร้ายอย่างแท้จริง โดยประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าส่วนใหญ่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย และการเติบโตของตลาดเฟื่องฟูใหม่ชะลอลง” โดมินิก สเตราส์-คาห์น กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวเมื่อต้นเดือน

โอลิวิเยร์ บลองชาร์ด หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ ก็เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกทุ่มเงินเพิ่มเพื่อกระตุ้นดีมานด์ภายใน หากต้องการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงครั้งมโหฬารเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษ 1930

ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เดินหน้าลดการผลิตมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ท่ามกลางดีมานด์ที่ซบเซาลง ตลาดหุ้นทรุดดิ่ง ภาคการเงินและยานยนต์โลกปรับโฉมจากการเข้าแทรกแซงของรัฐ

สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) ซึ่งเป็นตัวแทนของธนาคารและสถาบันการเงินชั้นนำ 375 แห่งของโลก ทำนายว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวในปีหน้าเป็นครั้งแรก อย่างน้อยก็นับจากทศวรรษ 1950

ไอไอเอฟระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะติดลบ 0.4% ในปี 2009 หลังจากขยายตัว 2.0% ในปีนี้ โดยชาร์ลส์ ดอลลารา กรรมการผู้จัดการใหญ่ เรียกว่าเป็น ‘การถดถอยโดยพร้อมเพรียงทั่วโลกครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจยุคใหม่’

รายงานของ ศูนย์เพื่อการวิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ในลอนดอนที่ออกมาเมื่อวันศุกร์ (26) สำทับว่าเศรษฐกิจอังกฤษในปีหน้าจะหดตัว 2.9% ถือเป็นอัตราเติบโตตลอดทั้งปีที่เลวร้ายที่สุดนับจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

นี่เป็นเพียงส่วนน้อยของการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้าที่ล้วนออกมาในแง่ลบ

เดือนนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) คาดการณ์ว่าสหรัฐฯ ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่โตเป็นอันดับ 1 ของโลก จะหดตัว 0.9% ในปี 2009 แม้มีความหวังว่าประธานาธิบดีคนใหม่ บารัก โอบามา จะมาช่วยกระตุ้นการเติบโตก็ตาม

โอบามาสัญญาว่าจะผลักดันมาตรการกระตุ้นอัน ‘ห้าวหาญ’ ในโครงการสาธารณะเพื่อดึงเศรษฐกิจออกจากภาวะถดถอย หลังเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมศกหน้า โดยขณะนี้กำลังร่างมาตรการที่มีการเปรียบเทียบว่าจะเป็นเสมือน ‘ข้อตกลงใหม่’ (New Deal) ที่เคยช่วยให้สหรัฐฯ พ้นจากวิกฤตร้ายแรงในทศวรรษ 1930

ทางด้านเยอรมนี สถาบันไอโฟอันมีชื่อเสียงของประเทศนี้ ก็ระบุว่า ชาติเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปแห่งนี้ จะหดตัว 2.2% ในปีหน้า ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นคาดว่าอัตราเติบโตของแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียและใหญ่เป็นอันดับสองของโลก จะอยู่ในระดับ 0% เนื่องจากเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการส่งออกถูกกระทบอย่างจังจากการดำดิ่งของดีมานด์

“เราจำเป็นต้องใช้มาตรการที่ไม่เคยใช้มาก่อนในสถานการณ์เศรษฐกิจพิเศษแบบนี้” นายกรัฐมนตรี ทาโร อาโสะของญี่ปุ่น กล่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทันทีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติร่างงบประมาณประจำปี 2009/10 ซึ่งมียอดรายจ่ายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซา

และแม้การคาดการณ์การเติบโตทั้งหมดยังคงเป็นบวกสำหรับบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน แต่ประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ชั้นนำของโลกเหล่านี้ ต่างได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะดีมานด์ทั่วโลกตกต่ำ

เครมลินคาดการณ์ว่างบประมาณปีหน้าจะอยู่ในสภาพขาดดุลเป็นครั้งแรกนับจากวิกฤตการเงินปี 1998 ค่าแรงค้างชำระและการปลดคนบีบให้เจ้าหน้าที่รัสเซียต้องเตือนเกี่ยวกับแนวโน้มความไม่สงบวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นในสังคม

จางผิง เจ้าหน้าที่ระดับนำในด้านการวางแผนเศรษฐกิจของจีน ออกมายอมรับแบบที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนักว่า จีนกำลังเผชิญความท้าทายใหญ่หลวงที่สุดอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินโลก

ที่ไอซ์แลนด์และยูเครน สองประเทศที่เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินรุนแรงที่สุดในยุโรป ปีนี้มีแต่ปัญหาการประท้วงบนท้องถนนและการปิดแบงก์ ส่วนปีหน้าทั้งสองประเทศคาดว่าเศรษฐกิจจะติดลบรุนแรง ทั้งนี้ แม้ได้เงินกู้จากไอเอ็มเอฟ แต่ไอซ์แลนด์ยังคาดว่าการเติบโตจะหดตัวถึง 10%

“เรากำลังประท้วงคัดค้านการที่รัฐบาลทำอะไรตามอำเภอใจ” เป็นคำกล่าวของ ไอรินา คูลิช วัย 46 ท่ามกลางฝูงชนในกรุงเคียฟเดือนนี้ ขณะที่ผู้ประท้วงหลายๆ ถือแผ่นป้ายที่เขียนข้อความว่า “คัดค้านนโยบายทำให้ประชาชนลำบากยากจน” และ “อย่าทำให้ความอดทนของเรากลายเป็นความสุดทน”
กำลังโหลดความคิดเห็น