เดอะเนชั่น/เอเจนซี - แฉ"ทักษิณ" เวลานี้น่าจะมีทรัพย์สินหลักๆ ในต่างประเทศไม่เกิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (17,250 ล้านบาท) ลดฮวบลงมาจากที่เชื่อกันว่าเคยมีถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ (172,500 ล้านบาท) เนื่องจาก "เจ๊ง" ในตอนที่ตลาดหุ้นทั่วโลกและราคาน้ำมันทรุดฮวบ ตลอดจนจากการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในตะวันออกกลาง รวมทั้งยังเจอปัญหายุ่งยากหลังถูกรัฐบาลอังกฤษอายัดทรัพย์สินเอาไว้จำนวนมาก ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ซึ่งได้มีการนำไปเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ของสเตรทส์ไทมส์แห่งสิงคโปร์ด้วย
เดอะเนชั่นอ้างนักการเงินระหว่างประเทศผู้หนึ่งที่ขอไม่ให้ระบุนาม ได้พูดให้ฟังว่า ตามการคำนวณของเขา ทรัพย์สินเงินทองหลักๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถ้าหากนำออกมาแปรเป็นสภาพคล่องในเวลานี้ จะมีมูลค่าไม่น่าเกิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (17,250 ล้านบาท) นอกจากนั้นศักยภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณในการดำเนินการกู้หนี้ยืมสิน ก็กำลังถดถอยลงอย่างรวดเร็วในระดับวันต่อวันทีเดียว "ดังนั้น พูดโดยสรุปแล้ว มูลค่าสุทธิของเขาจึงได้ลดฮวบลงจากตัวเลขระดับ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือมูลค่าปัจจุบันที่ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ" หนังสือพิมพ์ฉบับนี้อ้างคำพูดของนักการเงินระหว่างประเทศคนดังกล่าว
รายงานของเดอะเนชั่นกล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ย่ำแย่ยิ่งไปกว่านี้อีกก็คือ รัฐบาลอังกฤษได้อายัดทรัพย์สินจำนวนประมาณ 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (144,900 ล้านบาท) ที่เชื่อกันว่าเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงไม่นานหลังจากที่ได้สั่งเพิกถอนวีซ่าเข้าประเทศที่ออกให้แก่เขาและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ตามปากคำของพวกผู้จัดการด้านเงินตราทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับระหว่างประเทศหลายราย
ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์วารสารทางธุรกิจของอาหรับ www.arabianbusiness.com ก็เคยรายงานว่า ทางการอังกฤษได้อายัดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณเอาไว้ราว 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจากความสูญเสียเช่นนี้เอง บังคับให้อดีตนายกรัฐมนตรีผู้กำลังหลบหนีเงื้อมมือกฎหมายไทย ต้องยอมขายสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี้ ให้แก่ ชีก มานซัวร์ แห่งอาบูดาบี ทว่าจวบจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครออกมายืนยันหรือปฏิบัติรายงานของอาราเบียนบิสซิเนสนี้เลย
รายงานของเดอะเนชั่นแจกแจงว่า ในจำนวนทรัพย์สิน 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่ถูกอังกฤษอายัดไว้นั้น 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเป็นเงินทองก้อนหลักของทักษิณ แล้วยังมีอีก 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯอยู่ในรูปมาร์จินเพื่อการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ฟิวเจอร์ส, อีก 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเป็นทรัพย์สินหลักที่อยู่ในบัญชีธนาคารสวิส ซึ่งแยกต่างหากจากเงินมาร์จินซื้อขายตราสารอนุพันธ์, และอีก 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเป็นทรัพย์สินหลักอยู่ในดูไบ เหลือนอกนั้นคือหนี้สิน
ตามปกติแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของอังกฤษจะให้เวลา 6 เดือนแก่"เจ้าของผู้ได้รับผลประโยชน์" ของทรัพย์สินที่ถูกอายัด ในการเข้ามาประกาศอ้างตนเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และหากเจ้าหน้าที่พอใจหลักฐานที่นำมาอ้างอิงยืนยัน ก็จะคืนทรัพย์สินเหล่านั้นให้แก่เจ้าของผู้ได้รับผลประโยชน์ไป
แต่ปัญหาที่แท้จริงของ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ตรงที่การพิสูจน์ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเกิดความมั่นใจเชื่อถือเรื่องที่มาของเงินทองทั้งในอังกฤษและในสวิตเซอร์แลนด์เหล่านี้ โดยที่ถ้าหากไม่สามารถพิสูจน์เรื่องนี้ให้กระจ่างเป็นที่พอใจของเจ้าหน้าที่ได้ ทรัพย์สินเหล่านี้ก้อนใหญ่ทีเดียว ก็มีหวังจะถูกอายัดไปอีกอย่างน้อยระยะหนึ่ง
"ในขณะนี้สถานการณ์ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อนสำหรับทักษิณ เพราะทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้ทั้งหมดต่างก็อยู่ในชื่อนอมินีต่างๆ เขามีการใช้บริษัทออฟชอร์ 20 ถึง 25 แห่งทีเดียวสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงิน รวมทั้งที่ทำผ่านธนาคารใหญ่ของสวิส 2 แห่ง และธนาคารนอกตลาดหุ้นอีก 3 แห่งในนครเจนีวา" เดอะเนชั่นอ้างคำพูดของผู้จัดการด้านเงินตราระหว่างประเทศรายหนึ่ง ที่ได้ติดตามข้อตกลงซื้อขายสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้อย่างใกล้ชิด
ผู้จัดการด้านเงินตราระหว่างประเทศรายนี้กล่าวต่อไปว่า เงินทองของทักษิณที่ถูกอังกฤษอายัดไว้นี้ หลายๆ ส่วนยังเป็นเงินกู้มาร์จินที่พวกธนาคารสวิสปล่อยมาให้ และเวลานี้แบงก์เหล่านี้ก็กำลังพยายามหาทางสะสางปัญหาทางกฎหมาย เพื่อเรียกเงินเหล่านี้คืนไป
ส่วนทรัพย์สินอื่นๆ นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณได้มีการนำไปลงทุนในการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ฟิวเจอร์สทางด้านน้ำมัน ข้าว และทอง, ในโครงการก่อสร้างคอนโดใหม่ๆที่ดูไบ, และในการลงทุนหลักทรัพย์อื่นๆ โดยที่สัญญาฟิวเจอรสด้านน้ำมัน ข้าว และทองของเขา เมื่อคิดตามราคาหน้าตั๋วจะมีมูลค่ามากกว่า 450 ล้านดอลลาร์ ทรัพย์สินส่วนนี้เวลานี้ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเจ๊ง เพราะสภาพตลาดมีการเปลี่ยนแปลงกลับตาลปัตรไปหมดแล้ว
"นอกจากนั้น ผมยังได้รับการบอกเล่าจากคนของ อัดนัน คาชอกกี ในดูไบ และ อาบูดาบี ว่า การลงทุนก้อนมหึมาในโครงการก่อสร้างคอนโดใหม่ๆ ในแถบอ่าวเปอร์เซีย ก็มีความเสี่ยงที่จะสูญเสีย เนื่องจากมีส่วนที่เป็นการกู้เงินธนาคารมาด้วย รวมทั้งหมดแล้วอยู่ในจำนวนที่สูงกว่า 1,200 ล้านดอลลาร์ ถึงแม้หากมีการสูญเสียเกิดขึ้นจริงๆ ก็อาจจะอยู่ในราวประมาณ 250-300 ล้านดอลลาร์" เดอะเนชั่นอ้างคำกล่าวของนักการเงินระหว่างประเทศผู้นี้
ทรัพย์สินอีก 550 ล้านดอลลาร์ที่เชื่อกันว่าเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น เวลานี้อยู่ในการบริหารจัดการของธนาคารใหญ่ของสวิส 2 แห่ง และแบงก์นอกตลาดหุ้นอีก 3 แห่งในเจนีวา โดยที่มีรายงานว่าผลประกอบการย่ำแย่มาก แหล่งข่าวที่เป็นนักการเงินระหว่างประเทศคนนี้บอกกับเดอะเนชั่นว่า ถ้าหากเกิดไม่ได้มีการซื้อประกันความเสี่ยงอย่างเหมาะสมแล้ว มูลค่าของพอร์ตการลงทุนเหล่านี้ก็จะหดหายไปเยอะทีเดียว
"ผมเชื่อว่าเวลานี้ทักษิณเหลือเงินอยู่เพียง 500 ล้านดอลลาร์ ดังนั้น ทรัพย์สินที่มีอยู่ในประเทศไทย (ซึ่งถูกทางการอายัดไว้รวม 76,000 ล้านบาท) ขณะนี้จึงความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเขา การกลับเมืองไทยของคุณหญิงพจมาน ที่สำคัญที่สุดเลยคือมุ่งที่จะปกป้องทรัพย์สินชิ้นสุดท้ายของพวกเขานี่เอง ทักษิณยังกำลังชั่งใจด้วยซ้ำถึงความเป็นไปได้ที่จะเดินทางกลับประเทศไทยด้วยตัวเอง เพื่อเรียกร้องขอคืนทรัพย์สินในไทยนี้ ซึ่งกลายเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดสำหรับเขาไปเสียแล้ว" รายงานของเดอะเนชั่นอ้างคำพูดของแหล่งข่าวรายเดียวกันนี้
ในส่วนของวิธีการยักย้ายโอนเงินเข้าไปในอังกฤษของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น รายงานข่าวของเดอะเนชั่นบอกว่า มีนักธุรกิจไทยที่รู้จักกันในชื่อว่า "Phairoj P" ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของอดีตนายกฯไทยในการกระทำการอันน่าสงสัยเหล่านี้
"Phairoj เป็นตัวแทนในการช่วยเหลือให้ทักษิณได้ครอบครองสโมสรฟุตบอล(แมนเชสเตอร์ซิตี้) เมื่อมีเงินเพียง 10,000 ปอนด์ (508,000 บาท)ถูกโยนเข้าไปในบัญชีธนาคารของ Phairoj เจ้าหน้าที่รับผิดชอบของอังกฤษจึงถามเขาว่า เงินที่ใช้ซื้อสโมสรนั้นเอามาจากไหน ปรากฏว่าเขาไม่สามารถให้คำตอบที่น่าพอใจได้ นั่นจึงทำให้ทางเจ้าหน้าที่อังกฤษสั่งอายัดทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็นชุดเลย ตัว Phairoj เองเวลานี้ก็กำลังประสบปัญหายุ่งยากกับเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของอังกฤษ" เดอะเนชั่นอ้างแหล่งข่าวที่เป็นนายธนาคารท้องถิ่นผู้หนึ่ง
รายงานของหนังสือพิมพ์นี้กล่าวว่า เจ้าหน้าที่รับผิดชอบของอังกฤษเริ่มให้ความสนใจกับกรณีของทักษิณ เมื่อมีการประกาศข่าวเรื่องเขาเข้าซื้อสโมสรฟุตบอลแมสเชสเตอร์ซิตี้ในปี 2550 เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณมาจากประเทศไทยและหลบภัยอยู่ในลอนดอนหลังถูกทำรัฐประหารโค่นอำนาจ เงินทองที่ถูกโอนย้ายเข้ามาในอังกฤษจึงควรที่จะมาจากพวกธนาคารไทยหรือบริษัทไทย
แต่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่รับผิดชอบของอังกฤษกลับพบว่าเงินทองของทักษิณ หรือที่จริงแล้วทั้งหมดเป็นเงินทองที่อยู่ในชื่อนอมินีอื่นๆ กลับมาจากพวกบริษัทออฟชอร์ ซี่งตั้งอยู่ในสถานที่อย่างเช่น เกิร์นซีย์ และ ไอส์ ออฟ แมน และมาจากพวกธนาคารสวิสโดยตรง