เอเจนซี/เอเอฟพี - ราคาน้ำมันดิบโลกดิ่งลงสู่ระดับ 43 ดอลลาร์ เมื่อวันพุธ (17) ขณะที่ตลาดเฝ้ารอคอยการประกาศอย่างเป็นทางการของที่ประชุมองค์การโอเปกในแอลจีเรีย โดยที่รัฐมนตรีน้ำมันซาอุดีอาระเบียออกมาบอกผู้สื่อข่าวก่อนแล้วว่า มีการตกลงให้ลดเพดานการผลิตลงมา 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
จนถึงเวลา 21.00 น.ตามเวลาเมืองไทยเมื่อคืนวันพุธ บรรดารัฐมนตรีน้ำมันขององค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ก็ยังคงประชุมหารือกันอยู่ภายในห้องประชุมที่เมืองโอแรน ประเทศแอลจีเรีย โดยที่ก่อนหน้านั้น รัฐมนตรีน้ำมันซาอุดีอาระเบีย ซึ่งแวบออกมาจากที่ประชุม ได้แถลงกับพวกผู้สื่อข่าวว่า สมาชิกโอเปกตกลงกันแล้วให้ลดเพดานการผลิตน้ำมันของพวกตนลงมา 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือเป็นการตัดลดครั้งใหญ่ที่สุด และจะเท่ากับประมาณ 7% ของโควตาการผลิตปัจจุบันของทั่วทั้งโอเปก ซึ่งอยู่ที่ 27.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
“มีฉันทามติกันแล้วว่าจะตัดลดลงมา 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน” รัฐมนตรี อาลี อัล นูไอมี ของซาอุดีอาระบีย กล่าว
ก่อนหน้าการประชุมคราวนี้ บรรดารัฐมนตรีของชาติโอเปก ต่างเรียกร้องให้ช่วยกันยับยั้งราคาน้ำมันซึ่งไหลรูดลงมาอย่างฮวบฮาบ จนเวลานี้หดหายไปถึง 70% จากราคาที่เคยทะยานขึ้นไปถึงจุดสูงสุดในระดับ 147 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ภายหลังจากความต้องการใช้น้ำมันลดวูบ เมื่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
นักเศรษฐศาสตร์ บอกว่า ถ้าหากราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว ใน 11 จาก 12 ประเทศสมาชิกโอเปก บวกกับผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่นอกโอเปกอีก 2 ชาติ คือ รัสเซีย และเม็กซิโก จะเผชิญกับภาวะขาดดุลงบประมาณอย่างแน่นอน
ด้วยเหตุนี้ โอเปกจึงอยู่ในอาการดิ้นรนหนักเพื่อหยุดยั้งไม่ให้ราคาดำดิ่งลงอีก ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์บอกว่า พวกเขายังจะต้องหาทางให้ได้รับความสนับสนุนจากผู้ผลิตนอกโอเปกด้วย จึงจะมีทางทำเรื่องนี้ให้สัมฤทธิ์ผล
อย่างไรก็ตาม อาเซอร์ไบจาน กลายเป็นผู้ผลิตนอกโอเปกเพียงประเทศเดียวเมื่อวานนี้ ที่เสนอตัวตัดลดการผลิตของตนลงมาจริงๆ เพื่อช่วยประคับประคองราคาน้ำมัน ขณะที่รัสเซียกลับยังไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาอย่างหนักแน่น ถึงแม้มีการประกาศก่อนหน้านี้หลายหนว่าจะเอาด้วย
ส่วนเม็กซิโกซึ่งเคยหนุนหลังการลดการผลิตของโอเปกในปี 1999 และ 2001 นั้น ออกมาแถลงแล้วว่า คงจะไม่สามารถร่วมลดการผลิตได้ เพราะผลผลิตของตนกำลังลดต่ำลงอยู่แล้ว
“ถ้าโอเปกสามารถนำเอาคนอื่นๆ เข้ามาร่วมลดการผลิตในระดับมากมายพอดู ผมก็คิดว่ามันก็น่าจะเริ่มแสดงผลกระทบอย่างชัดเจนมากขึ้น” เป็นความเห็นของ ไซมอน วอร์เดลล์ นักวิเคราะห์แห่ง โกลบอล อินไซด์ “ถ้ารัสเซียประกาศอะไรที่เป็นเนื้อเป็นหนังออกมา ผมก็คิดว่ามันจะมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึก มากกว่าที่โอเปกจะเดินหน้าไปแต่ฝ่ายเดียว”
ปรากฏว่า แม้ตลาดเชื่อว่าโอเปกจะลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในการประชุมที่แอลจีเรียคราวนี้ แต่ราคาในตลาดโลกเมื่อวันพุธกลับลดต่ำลง โดยนักวิเคราะห์กล่าวว่า เพราะตลาดรับรู้เรื่องนี้กันไปแล้ว จึงเกิดปรากฏการณ์ตามทฤษฎีตลาดที่ว่า “ซื้อตามข่าวลือ-ขายตามข่าวจริง” แถมเมื่อการประชุมโอเปกมีการลากยาวกันเช่นนี้ นักลงทุนบางรายจึงยิ่งเกิดความวิตก ว่า เมื่อมีการประกาศกันในตอนท้ายจริงๆ มันอาจจะเป็นที่น่าผิดหวังสำหรับตลาดก็ได้
เมื่อถึงเวลา 12.40 น.ตามเวลาจีเอ็มทีวันพุธ (ตรงกับ 19.40 น.เวลาเมืองไทย) สัญญาน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูด ของนิวยอร์ก เพื่อการส่งมอบเดือนมกราคมที่มีกำหนดหมดอายุลงในวันศุกร์(19) นี้ ได้ถอยลงมาอีก 30 เซนต์ อยู่ที่ 43.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากในช่วงการซื้อขายวันอังคาร (16) ได้ลงต่ำสุดที่ 42.56 ดอลลาร์ ซึ่งไม่ห่างนักจากจุดต่ำสุดในรอบ 4 ปี ณ ระดับ 40.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อันทำกันไว้ในวันที่ 5 ธันวาคม
ทางด้านน้ำมันดิบชนิดเบรนต์ของลอนดอน เพื่อการส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ขยับสูงขึ้นจากวันก่อน 24 เซนต์ อยู่ที่ 46.89 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล