เอเจนซี - ประเทศไทยยังคงถูกมองว่ามีอัตราความเสี่ยงสูงขึ้น แม้ว่าการประท้วงปิดสนามบินในกรุงเทพฯ จะยุติลงชั่วคราวแล้ว เนื่องจากยังไม่เห็นวี่แววว่าจะมีทางออกใดๆ สำหรับการต่อสู้ชิงอำนาจกันในระดับพื้นฐาน ซึ่งเป็นปัจจัยที่กำลังบ่อนทำลายเสถียรภาพของประเทศอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ เป็นเนื้อหาในบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่นำออกเผยแพร่วันพุธ (3)
บทวิเคราะห์ที่เขียน โดย แอนดริว มาร์แชล ผู้สื่อข่าวด้านความเสี่ยงทางการเมืองในเอเชีย มีเนื้อหาสาระดังนี้-กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาล และเป็นพวกนิยมกษัตริย์ ได้ให้คำมั่นว่า จะหยุดการชุมนุมประท้วงรวมทั้งยุติการปิดสนามบินทั้งสองแห่งหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรคการเมืองที่มีการโกงการเลือกตั้ง ซึ่งรวมทั้งพรรครัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ด้วย
ทว่า คนส่วนใหญ่ก็คาดการณ์กันอยู่แล้วว่าผลการพิพากษาของศาลจะออกมาเป็นเช่นนี้ บรรดาพันธมิตรของทักษิณก็ได้เตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองสำรอง ที่สามารถครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาและเลือกตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นมา ดังนั้น การต่อสู้ระหว่างฝ่าย “เสื้อแดง” ซึ่งสนับสนุนทักษิณและมีฐานการสนับสนุนหนาแน่นในชนบท กับฝ่าย “เสื้อเหลือง” ของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเมือง จึงยังคงดำเนินต่อไป
“กลุ่มพลังต่อต้านทักษิณชนะการต่อสู้ครั้งนี้ แต่ความขัดแย้งรุนแรงก็แผ่กว้างออกไปโดยไม่มีวี่แววจะยุติลง” คริส แมคคี บรรณาธิการใหญ่ขององค์กรประเมินความเสี่ยงของประเทศทั่วโลก หรือ “International Country Risk Guide หรือ ICRG” แห่งสหรัฐฯ กล่าวและวิเคราะห์ต่อว่า “ในท้ายที่สุดแล้ว ปัญหาของประเทศไทย ก็คือ การแบ่งแยกชนชั้น ระหว่างคนในเมือง (พวกผู้นำในระบบราชการและพวกชนชั้นกลาง) กับคนในภาคชนบทซึ่งดูเหมือนจะไม่สามารถสมานฉันท์กันได้ระยะเวลาหนึ่ง”
ทางด้าน เดวิด คิว นักวิเคราะห์แห่งยูเรเซียกรุ๊ป ก็บอกว่า คำตัดสินของศาลไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาความแตกแยกกันอย่างรุนแรงในประเทศไทย และแม้อาจจะมีการเลิอกตั้งใหม่ในไม่ช้า แต่ความขัดแย้งพื้นฐานของทั้งสองฝ่ายก็ยังคงมีอยู่
นักวิเคราะห์หลายราย ยังชี้ด้วยว่า แม้คำพิพากษาของศาลจะเป็นวิธีการช่วยรักษาหน้าให้กับฝ่ายที่ปิดสนามบินและหยุดยั้งวิกฤตทางการเมืองได้ แต่ในระยะยาวแล้วก็ยังจะเกิดความไร้เสถียรภาพมากยิ่งขึ้นอีก
**"วงจรแห่งความไร้เสถียรภาพ"**
คริสตินา คาซมี นักวิเคราะห์แห่งไอเอชเอส โกลบอล อินไซด์ ให้ความเห็นว่า การเลือกตั้งใหม่ก็มิใช่ทางออกเช่นกัน เพราะฝ่ายสนับสนุนทักษิณมีแนวโน้มจะได้เสียงส่วนใหญ่อีก เนื่องจากมีฐานสนับสนุนที่กว้างขวางในชนบท จากนั้นพวกชนชั้นนำที่ต่อต้านทักษิณก็จะออกมาประท้วงอีก ทำให้ไทยต้องติดกับอยู่ใน “วงจรแห่งความไร้เสถียรภาพ” ดังนั้น จากสถานการณ์ในอนาคตที่พอจะประเมินได้ทำให้ไอเอชเอสประกาศลดอันดับประเทศไทยโดยเพิ่มอัตราความเสี่ยงด้านการเมืองและความปลอดภัย พร้อมกับระบุว่า
“ความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่สงบในภาคประชาชนมีแนวโน้มสูงขึ้น ยิ่งกว่านั้น ยังมีความเสี่ยงที่จะฝ่ายทหารจะเข้าแทรกแซงทางการเมืองด้วย”
ทั้งนี้ ไทยเริ่มติดอันดับประเทศที่มีความเสี่ยงทางการเมืองสูง ตั้งแต่ที่กลุ่มพันธมิตรฯ เปิดฉากรณรงค์ขับไล่ทักษิณออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2005 โดยในดัชนีวัดระดับการบริหารประเทศทั่วโลกของธนาคารโลก ซึ่งจัดทำเป็นรายปีนั้น ได้จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีค่าคะแนนความมีเสถียรภาพทางการเมืองเพียง 16.8 จาก 100 คะแนนเมื่อปีที่แล้ว ลดลงอย่างมากจากค่าคะแนน 44.7 เมื่อปี 2003
นอกจากนั้น การที่เสถียรภาพของไทยลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ยังทำให้ไทยเสียส่วนแบ่งการลงทุนให้กับเพื่อนบ้านไปด้วย โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศได้ตกลงไป 44.3 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่กลุ่มพันธมิตรฯ เริ่มประท้วงเมื่อ 3 ปีก่อน ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันแล้ว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จาการ์ตาเพิ่มขึ้น 13.6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียลดลง 7.9 เปอร์เซ็นต์
นักวิเคราะห์หลายรายชี้ว่า แม้การเมืองไทยจะอยู่ในสภาพค่อนข้างวุ่ยวายมาตลอดจากการที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลอยู่บ่อยครั้งและมีการปฏิวัติรัฐประหารถึง 18 ครั้ง ในระยะ 76 ปีของระบอบประชาธิปไตยแบบสะดุดเป็นช่วงๆ แต่ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา กลไกพื้นฐานของรัฐบาลรวมทั้งสถาบันสำคัญๆ ก็ค่อนข้างเข้มแข็ง
ธนาคารโลกก็ยังจัดอันดับเรื่องความมีประสิทธิภาพของรัฐบาลไทย โดยปรับลดลงเพียงเล็กน้อยในปี 2007 ทว่านักวิเคราะห์ความเสี่ยงกล่าวว่าความสามารถในการบริหารของรัฐบาลในปีนี้จะดิ่งลงเนื่องจากเห็นชัดเจนว่าไม่สามารถดำเนินการบริหารใดๆ ได้
ยิ่งกว่านั้น พวกนักลงทุนทั้งที่เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการลงทุนในรูปพอร์ตโฟลิโอซึ่งเดิมเคยเชื่อมั่นในบรรยากาศการลงทุนของไทยว่ามีความมั่นคงและเอื้อต่อการทำธุรกิจไม่ว่าสภาพทางการเมืองจะเป็นเช่นไร มาวันนี้ก็เริ่มเปลี่ยนความคิดไปเสียแล้ว กล่าวคือ ความผันผวนทางการเมืองตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้นักลงทุนจำนวนมากได้คิดทบทวนอย่างจริงจังเกี่ยวกับภาวะความเสี่ยงของประเทศไทย การปิดสนามบินเป็นตัวอย่างอันชัดเจนที่บอกว่าความขัดแย้งทางการเมืองนั้นส่งผลเสียหายร้ายแรงเพียงใดต่อเศรษฐกิจ และเมื่อมองต่อไปข้างหน้าก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นไปอีก
ในต้นสัปดาห์นี้ ทั้ง สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ และ มูดี้ส์ ต่างปรับลดทิศทางอนาคตสำหรับเรตติ้งความน่าเชื่อถือของตราสารรัฐบาลไทย โดยระบุว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากความไม่สงบได้เพิ่มสูงขึ้น ในช่วงเวลาเดียวกับที่ไทยกำลังมีความสามารถที่จะชดเชยเรื่องนี้ได้น้อยลงมากเสียแล้ว ขณะที่ วินเซนต์ โฮ แห่ง ฟิทช์ ก็กล่าวเตือนในทำนองเดียวกัน