xs
xsm
sm
md
lg

‘โอบามา’เตรียมรับ‘โลกใหม่’ที่ไม่เหมือนเดิม

เผยแพร่:   โดย: เดวิด ไอเซนเบิร์ก

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

A brave new world awaits
By David Isenberg
25/11/2008

การแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญๆ ในคณะรัฐบาลชุดใหม่ของเขา บ่งชี้ให้เห็นว่า บารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯมีความเข้าใจเป็นอย่างดี เกี่ยวกับสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ตามที่ปรากฏเค้าโครงอยู่ในรายงานของฝ่ายข่าวกรองสหรัฐฯซึ่งวาดภาพคาดหมายสถานการณ์ของโลกไปจนกระทั่งถึงปี 2025 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทีมงานนักเศรษฐศาสตร์ทีมใหม่ของเขานั้น ดูจะมีความรู้ความสามารถเป็นอันดี ในการบริหารจัดการกับ “การโอนย้ายถ่ายเทความมั่งคั่งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จากตะวันตกไปสู่ตะวันออก”

วอชิงตัน – หากไม่พิจารณาถึงอะไรอื่นๆ เลย อย่างน้อยที่สุดรายงานฉบับล่าสุดของ สภาการข่าวกรองแห่งชาติ (National Intelligence Council หรือ NIC) ของสหรัฐฯ ก็ทำให้ คิชอร์ มาห์บูบานี อยู่ในฐานะเป็นศาสดาพยากรณ์ไปแล้ว ในหนังสือเล่มใหม่ของเขาที่ชื่อ The New Asian Hemisphere: The Irresistible Shift of Global Power to the East (ซีกโลกเอเชียยุคใหม่: การโยกย้ายอำนาจของโลกไปสู่ตะวันออกอย่างไม่มีอะไรยับยั้งได้) ซึ่งออกมาตอนต้นปีนี้ เป็นการบอกล่วงหน้าถึงข้อสรุปหลักๆ ประการหนึ่งในรายงานของ NIC ที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาในสัปดาห์ที่แล้ว (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Asia pushes, West resists, Asia Times Online, April 19, 2008)

ในบรรดาข้อสรุปประเมินสถานการณ์ที่สำคัญๆ ของรายงาน NIC ฉบับนี้ ซึ่งใช้ชื่อว่า Global Trend 2025: A Transformed World (ทิศทางแนวโน้มทั่วโลกจนถึงปี 2025: โลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงแปรสภาพ) มีอยู่ประการหนึ่งที่ระบุว่า “การโอนย้ายถ่ายเทความมั่งคั่งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งพอจะพูดได้อย่างคร่าวๆ ว่าเป็นการโยกย้ายจากตะวันตกสู่ตะวันออก ที่เวลานี้ก็กำลังดำเนินอยู่แล้วนั้น ในอนาคตข้างหน้ายังจะดำเนินต่อเนื่องต่อไปอีก”

น่าสังเกตว่า การคาดการณ์เช่นนี้บังเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ บารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศแต่งตั้งทีมเศรษฐกิจของเขา ซึ่งบุคลากรสำคัญๆ ต่างมีประสบการณ์อันลึกซึ้งในการบริหารจัดการวิกฤตเศรษฐกิจระหว่างประเทศในทศวรรษที่ผ่านมา จากรายชื่อของผู้ได้รับแต่งตั้งเหล่านี้ โดยเฉพาะการที่ ทิโมธี ไกธ์เนอร์ ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง น่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้อันหนักแน่นว่า โอบามาตระหนักดีถึงโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ตลอดจนเป็นสัญญาณถึงแนวทางที่เขาตั้งใจจะใช้บริหารประเทศต่อไปอีกด้วย

ไกธ์เนอร์ ผู้ได้รับแต่งตั้งเพียงไม่กี่วันหลังการเผยแพร่รายงานทิศทางแนวโน้มทั่วโลกฯ เคยทำงานที่กองทุนระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) และดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ในสมัยคณะรัฐบาลประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน โดยเขาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในการดำเนินการรับมือกับวิกฤตการเงินเอเชียปี 1997-98

รายงานทิศทางแนวโน้มทั่วโลกฯฉบับนี้ เป็นรายงานลักษณะเช่นนี้ (ซึ่งไม่ถือว่าเป็นรายงานลับอะไร) ฉบับที่ 4 แล้ว ที่จัดทำโดย NIC ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา รายงานของ NIC ในลักษณะเช่นนี้นั้น มุ่งมองอนาคตระยะยาว และจัดทำขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการขบคิดเกี่ยวกับอนาคตในเชิงยุทธศาสตร์ ด้วยการระบุถึงทิศทางแนวโน้มสำคัญๆ , ปัจจัยต่างๆ ที่ขับดันแนวโน้มเหล่านี้, ทิศทางแนวโน้มเหล่านี้ทำท่าจะมุ่งไปสู่อะไร, และทิศทางแนวโน้มเหล่านี้อาจจะมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไรได้บ้าง

ในรายงานล่าสุดของ NIC ก็ดูจะตรงกันกับคำพังเพยเก่าแก่บทหนึ่งของจีน นั่นคือบอกว่า ในอนาคตอันยังพอจะมองเห็นได้ต่อจากนี้ไป จะเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยที่มีทั้งโอกาสและก็มีทั้งภยันตราย และภูมิภาคเอเชียจะกลายเป็นส่วนประกอบที่ใหญ่มากๆ ในอนาคตดังกล่าว

ในบรรดาสิ่งที่รายงานฉบับนี้ระบุว่าเป็น “สิ่งที่ค่อนข้างแน่นอนโดยสัมพัทธ์” ซึ่งหมายความว่าเชื่อได้ว่าจะบังเกิดขึ้นค่อนข้างแน่ๆ นั้น ได้แก่ “ระบบโลกที่มีแกนนำหลายๆ ขั้วกำลังปรากฏขึ้นมา จากการผงาดขึ้นของจีน, อินเดีย, และอื่นๆ”

ทำนองเดียวกัน ในบรรดา “สิ่งที่ไม่แน่นอน” ที่สำคัญๆ ก็ได้แก่
---จีนกับรัสเซียจะมีความก้าวหน้าในการมุ่งสู่ประชาธิปไตยหรือไม่
---ความหวาดกลัวภายในภูมิภาคต่อเรื่องที่อิหร่านจะกลายเป็นประเทศติดอาวุธนิวเคลียร์ จะเป็นชนวนทำให้เกิดการแข่งขันด้านอาวุธและยิ่งมีการสั่งสมทางทหารเพิ่มขึ้นมากหรือไม่
---ภูมิภาคตะวันออกกลางโดยรวมจะกลับมีเสถียรภาพมากขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิรักจะกลับมีเสถียรภาพหรือไม่ และความขัดแย้งอาหรับ-อิสราเอลจะสามารถแก้ไขกันได้อย่างสันติหรือไม่
---ยุโรปกับญี่ปุ่นจะสามารถเอาชนะปัญหาอุปสรรคทางด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม อันมีปัญหาด้านประชากรเป็นสาเหตุหรือเป็นตัวเพิ่มให้เกิดความซับซ้อนยิ่งขึ้นได้หรือไม่

ถ้าหากรายงานฉบับนี้มองการณ์ได้อย่างถูกต้องแล้ว โลกของเราก็จะพบตัวเองอยู่ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ซึ่งโครงสร้างทางการเมืองและทางเศรษฐกิจจะแตกต่างไปอย่างเดิมอย่างชัดเจน รายงานนี้บอกว่า “ระบบระหว่างประเทศ –ตามที่ได้สร้างกันขึ้นมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง- จะแทบไม่มีอะไรเหมือนเดิมเลยเมื่อถึงปี 2025 สืบเนื่องจากการผงาดขึ้นของพวกมหาอำนาจเกิดใหม่, เศรษฐกิจที่มีลักษณะโลกาภิวัตน์, การโอนย้ายถ่ายเทครั้งประวัติศาสตร์ของความมั่งคั่งและอำนาจทางเศรษฐกิจโดยเปรียบเทียบจากตะวันตกสู่ตะวันออก, และอิทธิพลที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของพวกตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ เมื่อถึงปี 2025 ระบบระหว่างประเทศจะกลายเป็นระบบที่โลกมีหลายๆ ขั้ว ขณะที่ช่องว่างต่างๆ ด้านอำนาจแห่งชาติในระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา ก็ยังคงหดแคบลงเรื่อยๆ”

สภาพเช่นนี้มีอันตรายแฝงฝังอยู่ รายงานนี้ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อดูจากประวัติศาสตร์แล้ว ระบบโลกหลายขั้วขณะที่กำลังปรากฏขึ้นมา จะมีความไร้เสถียรภาพสูงกว่าระบบโลกสองขั้ว หรือระบบโลกขั้วเดียว ขณะที่รายงานฉบับนี้ไม่ได้ทำนายว่าระเบียบระหว่างประเทศจะถูกทำลายล้างยับเยิน เฉกเช่นที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่รายงานก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่เกิดภาพสถานการณ์แบบยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเต็มไปด้วยการแข่งขันด้านอาวุธ, การขยายดินแดน, และการเป็นปรปักษ์กันในทางทหาร

มองในทางเศรษฐกิจ ในอนาคตข้างหน้าเมื่อเอเชียพูดอะไรออกมา ทั่วทั้งโลกก็จะต้องตั้งใจฟังกันทีเดียว ขณะที่พวกประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่เพิ่งเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจตลาดรายใหญ่ๆ ทั้ง 4 คือ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน (หรือที่นิยมนำเอาอักษรตัวหน้าของชื่อภาษาอังกฤษของชาติเหล่านี้มาเรียงกัน และเรียกกันว่ากลุ่มประเทศ BRIC) คาดการณ์กันว่า จะมีส่วนแบ่งในผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ของทั่วโลก ในระดับทัดเทียมกับกลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7) ดั้งเดิมได้ เมื่อไปถึงระยะเวลาระหว่างปี 2040 – 2050

เอเชียยังจะเป็นภูมิภาคที่ผลิตชนชั้นกลางออกมาในอนาคตในสัดส่วนมากยิ่งกว่าที่อื่นๆ ในอีกหลายๆ สิบปีต่อจากนี้ไป ทั้งนี้ตามข้อมูลของธนาคารโลก คาดการณ์กันว่าจำนวนผู้คนที่ถือได้ว่าเป็น “ชนชั้นกลางของโลก” จะพุ่งสูงขึ้นจาก 440 ล้านคนเป็น 1,200 ล้านคน หรือจาก 7.6% ของประชากรโลก เป็น 16.1% โดยพวกชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ ส่วนใหญ่แล้วจะมาจากจีนและอินเดีย

ในแง่หนึ่งย่อมกล่าวได้ว่า จีนและอินเดียกำลังฟื้นฟูฐานะของตัวเองที่เคยทำได้เมื่อสองศตวรรษก่อน ตอนที่จีนเป็นผู้ผลิตความมั่งคั่งประมาณ 30% ของโลก ขณะที่อินเดียผลิตได้เป็นสัดส่วนราว 15% ของโลก

จีนน่าจะเป็นประเทศที่สร้างผลกระทบต่อโลกยิ่งกว่าประเทศอื่นใดตลอดช่วง 20 ปีต่อจากนี้ ถ้าหากทิศทางแนวโน้มในปัจจุบันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว เมื่อถึงปี 2025 จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก นอกจากนั้นคาดหมายกันว่าจีดีพีทั้งของจีนและอินเดียจะแซงหน้าของสหรัฐฯในปี 2035 แต่พวกเขาจะยังคงตามหลังในเรื่องรายได้เฉลี่ยต่อหัวไปอีกหลายสิบปี

ทว่ามันจะไม่ใช่เศรษฐกิจในรูปแบบของอาดัม สมิธแต่อย่างใด กล่าวโดยภาพกว้างๆ แล้ว จีน, อินเดีย, และรัสเซียไม่ได้กำลังพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองโดยเดินตามโมเดลเสรีนิยมของตะวันตก แต่กำลังใช้โมเดลที่แตกต่างออกไป ซึ่งพอจะเรียกได้ว่า “ทุนนิยมแห่งรัฐ” นั่นคือระบบการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ให้บทบาทโดดเด่นสำคัญที่สุดแก่รัฐ

และถ้าหากเรื่องโครงสร้างทางประชากรคือสิ่งที่จะตัดสินชี้ชะตาในท้ายที่สุดแล้ว เอเชียก็จะยังจะเป็นสถานที่แห่งอนาคตอยู่นั่นเอง ประมาณการกันว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นราว 1,200 ล้านคนในช่วงระหว่างปี 2009 ถึง 2025 นั่นคือจาก 6,800 ล้านคนเป็นราวๆ 8,000 ล้านคน พวกนักประชากรศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่า เอเชียกับแอฟริกาจะมีสัดส่วนการเพิ่มของประชากรสูงที่สุดจนกระทั่งถึงปี 2025 ขณะที่ “ตะวันตก” จะมีประชากรสูงขึ้นในสัดส่วนไม่ถึง 3%ของการเพิ่มขึ้นทั่วโลกเช่นนี้

การเพิ่มขึ้นอย่างมากมายที่สุดจะเกิดขึ้นที่อินเดีย โดยจะมีสัดส่วนเท่ากับประมาณหนึ่งในห้าของการเพิ่มประชากรในทั่วโลกทีเดียว คาดการณ์กันว่าเมื่อถึงปี 2025 ประชากรของอินเดียจะสูงขึ้นอีกราว 240 ล้านคน นั่นคืออินเดียจะมีประชากรทั้งสิ้นประมาณ 1,450 ล้านคน ส่วนจีนนั้นจากปี 2009 ถึง 2025 คาดการณ์กันว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นอีกกว่า 100 ล้านคน บวกเข้ามาในจำนวนประชากรซึ่งมีอยู่แล้วในเวลานี้กว่า 1,300 ล้านคน

นี่ไม่ได้หมายความว่าพัฒนาการเหล่านี้จะคลี่คลายไปโดยไม่มีปัญหาใดๆ เลย อันที่จริงเมื่อถึงประมาณปี 2015 ประชากรในวัยทำงานของจีนจะเริ่มมีขนาดลดต่ำลง สภาพสัดส่วนประชากรที่มีผู้อยู่ในวัยเกษียณเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่คนทำงานกลับลดน้อยลงโดยเปรียบเทียบเช่นนี้ กำลังเร่งตัวขึ้นเนื่องจากนโยบายจำกัดการมีบุตรที่ใช้มาหลายสิบปีของทางการจีน ตลอดจนธรรมเนียมปฏิบัติในเรื่องการเกษียณอายุก่อนกำหนด จากการเลือกที่จะทำให้อัตราการเพิ่มประชากรลดต่ำลงอย่างฮวบฮาบ เพื่อบรรเทาปัญหาความต้องการที่พุ่งสูงทั้งในเรื่องพลังงาน, น้ำ,และอาหาร เวลานี้จึงกลายเป็นว่าจีนกำลังเร่งรัดให้โครงสร้างประชากรโดยรวมมีอายุเพิ่มสูงขึ้น

เมื่อถึงปี 2025 ประชากรของจีนในสัดส่วนที่สูงทีเดียวจะอยู่ในวัยเกษียณหรือกำลังเข้าสู่วัยเกษียณ ในเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง สืบเนื่องจากอัตราการเพิ่มในบรรดารัฐต่างๆ ทางตอนเหนือของอินเดียซึ่งมีประชากรหนาแน่นอยู่แล้ว คาดการณ์กันว่าอินเดียจะแซงหน้าจีนในเรื่องจำนวนประชากรทั่วทั้งประเทศ

เอเชียยังได้รับการคาดการณ์ด้วยว่าจะเป็นภูมิภาคที่ความขัดแย้งหลายหลากอาจปะทุขึ้นมาได้ ทั้งนี้รายงานฉบับนี้เน้นย้ำว่า ระยะ 15-20 ปีข้างหน้า ปฏิกิริยาต่างๆ ที่มีต่อการตัดสินใจของอิหร่านในเรื่องเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ อาจเป็นสาเหตุทำให้รัฐในภูมิภาคแถบนี้จำนวนหนึ่ง ยิ่งเพิ่มความพยายามและคิดที่จะแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์อย่างกระตือรือร้นขึ้นมา

แต่ถ้ามองหาด้านบวกกันบ้าง รายงานนี้ระบุว่า “เราเห็นว่าเกาหลีที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกัน น่าจะปรากฏขึ้นมาได้ภายในปี 2025 ถ้าหากไม่ใช่เป็นรัฐหนึ่งเดียวเลย ก็จะอยู่ในบางรูปแบบของสมาพันธ์ระหว่างเหนือ-ใต้”

ในโลกแห่งอนาคตนี้ สหรัฐฯจะพบว่าตัวเองกลายเป็นเพียงหนึ่งในตัวแสดงสำคัญๆ จำนวนหนึ่งบนเวทีโลก ถึงแม้ยังคงเป็นชาติที่มีแสนยานุภาพทางทหารสูงที่สุดก็ตาม ทว่าจากความก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของรัฐอื่นๆ, การนำเอายุทธวิธีสงครามนอกแบบแผนมาประยุกต์ใช้กันเพิ่มมากขึ้นทั้งโดยตัวแสดงที่เป็นรัฐและมิใช่รัฐ, การแพร่กระจายของอาวุธแม่นยำระยะไกล, และจากการใช้การโจมตีด้วยสงครามไซเบอร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เหล่านี้จะเป็นเครื่องจำกัดเสรีภาพในการปฏิบัติการของสหรัฐฯ

บทบาทที่ถูกจำกัดหดแคบลงของสหรัฐฯเช่นนี้ ก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ประเด็นปัญหาที่ถือเป็นวาระใหม่ๆ จะได้รับการแก้ไขรับมืออย่างทรงประสิทธิภาพแค่ไหน อย่างไรก็ดี ถึงแม้ในช่วงหลังๆ มานี้จะมีกระแสต่อต้านอเมริกันกันเพิ่มมากขึ้น -ซึ่งรายงานฉบับนี้เวลานี้คิดว่ามันกำลังเริ่มลดน้อยถอยลงในระดับหนึ่งแล้ว- แต่สหรัฐฯก็น่าจะได้รับการจับตามอง ในฐานะผู้สร้างความสมดุลระดับภูมิภาค ซึ่งยังเป็นที่ต้องการอยู่มากทั้งในตะวันออกกลางและในเอเชีย

ประเทศอื่นๆ ยังคงคาดหมายให้สหรัฐฯแสดงบทบาทอันสำคัญ ในการใช้แสนยานุภาพทางทหารของตนเพื่อตอบโต้การก่อการร้ายระดับโลก หรือเพื่อแสดงความเป็นผู้นำในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ กระนั้นก็ตาม จากการที่ในอนาคตพวกตัวแสดงทรงอิทธิพลจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังจะเกิดความไม่ไว้วางใจมหาอำนาจที่มีอิทธิพลใหญ่โตกว้างขวาง นั่นย่อมหมายถึงว่าสหรัฐฯจะมีช่องทางน้อยลงในการทำตัวเป็นผู้ตัดสินใจ ถ้าหากว่าไม่ได้รับความสนับสนุนอย่างแข็งขันจากบรรดาหุ้นส่วนรายอื่นๆ

ดังนั้น บารัค โอบามา และประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อๆ ไปในอนาคต จึงจำเป็นจะต้องมีการพูดจาหารือเป็นอันมากกับพวกผู้นำของชาติอื่นๆ ในอนาคตข้างหน้า

เดวิด ไอเซนเบิร์ก เป็นนักวิเคราะห์ด้านกิจการความมั่นคงทั้งในระดับชาติและระดับระหว่างประเทศ ณ sento@earthlink.net เขายังเป็นสมาชิกของ Coalition for a Realistic Foreign Policy, เมธีวิจัยผู้ช่วยที่ทำงานให้กับ Cato Institute, ผู้มีส่วนในโครงการ Straus Military Reform Project. นักวิจัยแห่ง Independent Institute, และทหารผ่านศึกของกองทัพเรือสหรัฐฯ สำหรับทัศนะต่างๆ ที่แสดงเอาไว้ในที่นี้เป็นความเห็นส่วนตัวของเขา
กำลังโหลดความคิดเห็น