บีบีซีนิวส์ - โลกการเมืองอเมริกันดูเหมือนถูกแช่แข็งไปชั่วขณะ ในระหว่างที่สภาคองเกรสกำลังลงมติแผนช่วยชีวิตภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ จนถึงการประกาศว่าแผนการดังกล่าวไม่ผ่านการรับรองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ผลการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ถือเป็นทางการ จนกว่าประธานสภาจะทุบค้อน และดูเหมือนว่าค้อนของประธานก็ชะงักงันอยู่ครู่หนึ่ง ทว่าเป็นชั่วครู่ที่ให้ความรู้สึกเหมือนยาวนานนับกัปกัลป์ทีเดียว ขณะเดียวกัน สำนักข่าวทั้งหลายก็ต้องรออยู่หลายนาทีก่อนจะแจ้งผล ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในโลกยุคข่าวสารเร่งด่วน
หลังจากนั้นข่าวลือต่างๆ ก็แพร่สะพัดไปทั่วว่า กำลังมีความพยายามที่จะเปลี่ยนใจ ส.ส.บางคนที่ลงมติ "ไม่รับ" แผนกอบกู้ภาคการเงินดังกล่าว
**ตะลึงงัน**
นับเป็นขั้นตอนที่ผิดธรรมดาของระบอบประชาธิปไตย หากจะมีการขอให้สมาชิกสภานิติบัญญัติกลับมติของตน ในเรื่องที่สำคัญยิ่งต่อผลประโยชน์แห่งชาติ โดยที่ไม่มีการทบทวนแผนหรืออภิปรายเนื้อหาเพื่มเติมก่อน ดังนั้นข่าวลือดังกล่าวจึงไม่น่าจะเป็นจริงได้ ทว่า ภาวะตะลึงงันในสภาผู้แทนฯ ก็ทำให้พวกเขาเชื่อว่าเป็นไปได้อยู่ครู่หนึ่ง
ทั้งนี้ ส.ส. ได้ลงมติไม่รับรองแผนช่วยเหลือภาคการเงิน ที่กระทรวงการคลังและธนาคารกลางของสหรัฐฯ ยืนกรานว่า มีความสำคัญต่อเสถียรภาพและความอยู่รอดของระบบการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลสืบเนื่องไปถึงระบบการเงินทั่วโลกด้วย รัฐบาลบุชถึงกับบอกว่าหากแผนดังกล่าวไม่ผ่านการรับรอง เศรษฐกิจอเมริกันก็จะเริ่มหยุดชะงัก
ทุกคนรู้ดีว่าทั้ง ส.ส.รีพับลิกันและเดโมแครตมีความไม่พอใจอยู่ลึกๆ กับแผนการนี้ของรัฐบาล แต่มีน้อยคนที่คิดว่าความรู้สึกดังกล่าวจะแรงพอถึงกับลงมติคว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ลงได้
ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว สมาชิกคองเกรสต้องรับมือกับแรงกดดันถึง 2 เรื่องคือ หนึ่ง แรงกดดันจากทำเนียบขาวซึ่งหยิบยกประเด็นว่าประเทศกำลังเผชิญวิกฤตรุนแรง และสอง แรงกดดันจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เรียกร้องให้ส.ส.ของตนลงมติไม่รับรองแผนการดังกล่าว เพราะพวกเขาเห็นว่าเป็นการช่วยเหลือพวกนายธนาคารในวอลล์สตรีท ซึ่งเป็นคนละโมบและสร้างวิกฤตการณ์ครั้งนี้ขึ้นมาเอง จึงไม่ควรดึงเงินจากประชาชนอเมริกันไปช่วยคนเหล่านั้น
**ห้วงเวลาอันอึดอัด**
ส.ส. เดโมแครตส่วนใหญ่นั้นรับรองแผนกอบกู้ภาคการเงินดังกล่าว แม้ว่าจะยังมีข้อสงสัยว่าแผนการนี้ช่วยเหลือธนาคารที่ขาดความรับผิดชอบมากกว่าช่วยเหลือพวกลูกค้าที่ไม่มีเงินผ่อนส่งค่างวดก็ตาม ดังนั้น ปัญหาที่แท้จริงจึงเกิดขึ้นจากฝั่งของรีพับลิกัน ซึ่ง ส.ส.ส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการของรัฐบาลนั้นไม่ใช่แบบของอเมริกัน ซึ่งเน้นความสำคัญของหลักการพื้นฐานในระบบทุนนิยม
แต่ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ เรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่น่าอึดอัดใจที่สุดในวงจรการเมืองอเมริกัน กล่าวคือ เมื่อสถาบันที่ทรงอำนาจไม่มีเครื่องมือในการจูงใจที่มากเพียงพอ เนื่องจากจอร์จ ดับเบิลยู บุช กำลังจะอำลาตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้เขาอยู่ในฐานะที่เรียกกันว่า "เป็ดง่อย"
ส.ส.อเมริกันไม่เพียงต้องเผชิญความรับรู้อันเป็นนามธรรมตลอดชีวิตการทำงานของพวกเขาว่า พวกเขาจะต้องทำให้ตัวเองได้รับเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง โดยที่แต่ละวาระการดำรงตำแหน่งมีอายุเพียงแค่ 2 ปี แต่เวลานี้พวกเขายังต้องเผชิญความรับรู้ที่เป็นเรื่องเฉพาะหน้าอีกด้วย เพราะจะต้องเผชิญกับการตัดสินของผู้มีสิทธิออกเสียงในต้นเดือนพฤศจิกายนี้แล้ว
**นาทีระทึก**
ส.ส.รีพับลิกันบางคนบอกว่าพวกเขาเตรียมลงมติรับแผนกอบกู้ภาคการเงินดังกล่าว แต่มาเปลี่ยนใจในนาทีสุดท้ายหลังจากที่ฟังแนนซี เพโลซี ประธานสภาฯ กล่าววิจารณ์แนวทางพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของรีพับลิกัน ส่วน ส.ส.อาวุโสของเดโมแครตก็ไม่พอใจกับความเห็นที่ว่า ส.ส.อาวุโสอาจทำให้ระบบการเงินของประเทศปั่นป่วนหากไม่รับรองแผนนี้
แม้ว่าขณะนี้กำลังมีการปรับปรุงแผนช่วยชีวิตระบบการเงินดังกล่าวเพื่อเสนอสภาอีกครั้ง แต่ในระหว่างนี้แม้ภาวะราคาหุ้นจะต้องดิ่งลงทั่วโลก คนอเมริกันส่วนใหญ่ก็ยังไม่คิดว่าวิกฤตครั้งนี้จะกระทบต่อชีวิตประจำวันของพวกเขา ทั้งนี้บางทีอาจจะต้องรอจนกว่าปัญหาลุกลามถึงขั้นที่เกิดภาวะว่างงานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
หากมองในแง่ดี ในท้ายที่สุด ส.ส.และชาวอเมริกันคงจะยอมให้กระทรวงการคลังนำเงินไปแก้ปัญหาตามแผนการดังกล่าวได้ แต่ถ้ามองในแง่ร้ายก็คือ ส.ส.ส่วนใหญ่จะเห็นพ้องกับฐานเสียงของตน และไม่ยอมรับแผนกอบกู้ระบบการเงินอีก ซึ่งเฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เตือนไว้แล้วว่าจะนำไปสู่ยุคแห่งหายนะ
ไม่ว่ามองแบบไหนก็ตาม อีกไม่กี่วันข้างหน้าเราก็จะรู้ผลการตัดสินใจของพวก ส.ส.อีกครั้งว่าจะ "รับรอง"หรือ "ไม่รับรอง"