เอเอฟพี – ประธานาธิบดีบุชออกมาแสดงความผิดหวังที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มีมติไม่รับรองแผนฟื้นฟูระบบการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วนอย่างหนัก พร้อมยืนยันจะเร่งผลักดันให้แผนดังกล่าวผ่านการพิจารณาของสภาฯ โดยเร็ว
ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งมีกำหนดกล่าวถ้อยแถลงต่อรัฐสภาในเวลา 08.45 น.(19.45 น.ตามเวลาในไทย) กล่าวว่า เขารู้สึกผิดหวังที่แผนฟื้นฟูระบบการเงินดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนฯ รวมถึงกรณีที่ ส.ส.ของพรรคเดโมแครต ได้กล่าวหา ส.ส.พรรครีพับลิกันหัวอนุรักษนิยมว่า เป็นผู้ฆ่าร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเหตุผลในเรื่องอุดมการณ์
ผู้นำสหรัฐฯ ยังได้เรียกประชุมที่ปรึกษาระดับสูงทันที หลังสภาผู้แทนฯ มีมติคว่ำร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางในการแก้วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่ ขณะที่ เฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ รุดเดินทางมายังทำเนียบขาว เพื่อร่วมหารือด้วยเช่นกัน
การโหวตไม่รับรองแผนฟื้นฟูระบบการเงินของสภาผู้แทนฯ สหรัฐฯ ซึ่งสร้างความแตกตื่นไปทั่วโลกเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเปิดฉากขึ้นในอีก 5 สัปดาห์ข้างหน้า รวมถึงทำให้เกิดเกมการเมืองที่โทษกันไปมาระหว่าง ส.ส.พรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน
ทั้งนี้ ส.ส.หัวอนุรักษนิยม ของรีพับลิกัน และ ส.ส.กบฏของเดโมแครต จับมือกันโหวตไม่รับร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนน 228 ต่อ 205 เสียง หลังผู้นำสหรัฐฯ ได้ออกมาขอร้องให้บรรดา ส.ส.เร่งผ่านแผนฟื้นฟูระบบการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ (24 ล้านล้านบาท) ก่อนหน้านี้
ขณะที่ แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต ออกมายืนยันว่าจะเร่งผลักดันให้สภาผู้แทนฯ ผ่านร่างกฎหมายนี้โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม สเตนีย์ โฮเยอร์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กลับระบุว่า สภาจะไม่มีการประชุมจนกว่าจะถึงวันพฤหัสบดี (2) เนื่องจาก ส.ส.ส่วนใหญ่ต่างเดินทางกลับไปฉลองเทศกาลรอช ฮาชานาห์ ซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญของชาวยิวที่บ้านเกิด
ด้าน เดวิด โอเบย์ ส.ส.ชื่อดังของพรรคเดโมแครต กล่าวว่า ผู้นำพรรครีพับลิกัน ซึ่งรวมถึงประธานาธิบดีบุช และจอห์น แมคเคน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้สูญเสียอำนาจในการควบคุมพรรคของตัวเองอย่างสิ้นเชิง
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะให้อำนาจรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในการนำเงิน 2.5 แสนล้านดอลลาร์ (8.5 ล้านล้านบาท) ไปซื้อหนี้เน่าของธนาคารต่างๆ ซึ่งเกิดจากวิกฤติสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้อยคุณภาพ หรือซับไพรม์ โดยกำหนดเพดานการซื้อสูงสุดไว้ที่ 7 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ หวังว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยเสริมสภาพคล่องในระบบ และฟื้นฟูตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาให้กระเตื้องขึ้นอีกครั้ง