xs
xsm
sm
md
lg

เอเชีย 2 พันล้านเสี่ยง "ไข้เลือดออก"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - องค์การอนามัยโลกเผยรายงานเมื่อวันอังคาร (23) ว่าประชาชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเกือบ 2,000 ล้านคนเสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้เลือดออก หากรัฐบาลไม่เอาจริงเอาจังกับการต่อสู้กับโรคที่เป็นหนึ่งใน 40 โรคอันตรายของโลก เตรียมขอให้ 37 ประเทศและดินแดนซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ลงนามในยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคเพื่อรับมือกับไวรัสที่มียุงเป็นพาหะดังกล่าว

องค์การอนามัยโลกกล่าวในเอกสารเพื่อการอภิปราย ซึ่งเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการระดับภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ณ กรุงมะนิลา ว่า ในระหว่างปี 1991-2004 มีการระบาดของไข้เลือดออกทั่วภูมิภาคนี้ โดยที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุดถึง 350,000 รายในปี 1998 และในจำนวนประชากร 2,500 ล้านคนทั่วโลกที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ ปรากฏว่าราว 1,800 ล้านคนอาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะที่ผู้ป่วยในช่วงปี 2001-2004 ถึงร้อยละ 98 ก็เป็นชาวเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ เฟรนช์โปลินีเซีย ฟิจิ นิวแคลิโดเนีย และจีน

นอกจากนั้นยังมีรายงานด้วยว่า "ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการแพร่กระจายของโรคนี้อย่างมาก" เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จนทำให้ยุง "Aedes aegypti" ซึ่งเป็นพาหะของไวรัสไข้เลือดออก ขยายถิ่นที่อยู่ออกไปมากขึ้นด้วย

รายงาน ระบุด้วยว่า "การดำเนินชีวิตของมนุษย์ เช่น การเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงฤดูฝน และการทิ้งของจำพวกยางรถยนต์ ถังพลาสติก หรือกระป๋องเครื่องดื่มไว้ระเกะระกะนั้น ทำให้ยุงสามารถแพร่พันธุ์ได้เช่นกัน"

นอกจากนั้นเชื้อไวรัสยังแพร่กระจายจากสาเหตุอื่นอีก คือ การย้ายถิ่นของประชากร การเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากร และการเติบโตอย่างรวดเร็วของพื้นที่ในเขตเมือง

"ไข้เลือดออกเป็นโรคที่เรามักจะละเลย แต่จะสนใจกันมากขึ้นเมื่อเกิดการแพร่ระบาด" รายงานระบุและชี้ว่า "หลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกยังขาดแคลนทรัพยากรที่เพียงพอสำหรับการต่อต้านไวรัสไข้เลือดออก อีกทั้งยังมีขีดความสามารถในการรับมือกับโรคนี้อย่างจำกัด" และส่วนใหญ่ก็มีเพียง "การพ่นยาฆ่ายุง หรือใช้สารเคมีกำจัดลูกน้ำ ซึ่งแทบไม่มีผลอะไรต่อการควบคุมการระบาดของโรคเลย"

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เรียกร้องให้มี "เครื่องมือในการวินิจฉัย ป้องกัน และรักษาโรคไข้เลือดออกแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิม" เพราะอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคนี้สามารถลดลงเหลือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์หรือต่ำกว่านั้นได้ หากวินิจฉัยพบแต่เนิ่นๆ และเยียวยารักษาอย่างถูกต้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น