เอเอฟพี - นักวิเคราะห์ เผย สาเหตุที่รัสเซียตัดสินใจส่งเรือรบเข้าไปยังทะเลแคริบเบียนนั้นไม่ใช่เป็นเพียงการตอบโต้อย่างทันควันต่อการที่สหรัฐฯ เดินแผนส่งเรือรบเข้าไปในเขตทะเลดำเท่านั้น หากยังเป็นสัญญาณบอกถึงความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับอิทธิพลของสหรัฐฯ ด้วย
รัสเซียได้ประกาศเมื่อวันจันทร์ (8) ว่า กำลังจัดส่งเรือลาดตระเวนติดอาวุธนิวเคลียร์หนึ่งลำ พร้อมเรือรบกับเครื่องบินอีกจำนวนหนึ่งเข้าร่วมซ้อมรบกับเวเนซุเอลาในทะเลแคริบเบียน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รัสเซียเข้าไปซ้อมรบกับประเทศเพื่อนบ้านของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา
ทอมัส โกมาร์ต แห่งสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฝรั่งเศส ระบุว่า แม้จะมีผู้มองว่านี่เป็นการเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าทางการทหาร แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความตึงเครียดระหว่างอดีตศัตรูคู่แค้นในยุคสงครามเย็นบรรเทาเบาบางลง หลังจากที่รัสเซียส่งกองกำลังบุกเข้าไปในจอร์เจียเมื่อเดือนที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่คณะผู้แทนจากสหภาพยุโรปซึ่งนำโดยประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซีแห่งฝรั่งเศส ได้เจรจากับประธานาธิบดีดมิตรี เมดเวเดฟแห่งรัสเซียในวันจันทร์แล้ว เมดเวเดฟก็ได้ตกลงที่จะถอนทหารออกจากจอร์เจีย โดยยกเว้นเซาท์ออสเซเทีย และอับฮาเซีย
โกมาร์ต กล่าวว่า รัสเซียอาจจะชนะการสู้รบทางทหาร ทว่า “สถานการณ์ในจอร์เจียทำให้รัสเซียถูกโดดเดี่ยว เพราะจะมีผู้สนับสนุนรัสเซียเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น อย่างเช่นเวเนซุเอลาและซีเรีย”
เขาบอกอีกว่า แต่ถึงกระนั้นรัสเซียก็อาจเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการทูตดังกล่าวไปเป็นความร่วมมือทางการทหารอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ดังที่ซีเรียได้เสนอให้รัสเซียเข้าไปใช้ฐานส่งกำลังบำรุงที่ท่าเรือตาร์ตุสซึ่งเคยใช้ในยุคอดีตสหภาพโซเวียต
ยิ่งกว่านั้น การประกาศซ้อมรบในทะเลแคริบเบียนก็ดูเหมือนเป็นทั้งการท้าทายอำนาจของสหรัฐฯ อย่างโจ่งแจ้ง และยังเป็นการแสดงท่าทีสนับสนุนนโยบายสุดขั้วของผู้นำละตินอเมริกาเช่นประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซแห่งเวเนซุเอลาอีกด้วย
ก่อนหน้านี้ รัสเซียได้ประณามการที่สหรัฐฯ ส่งเรือรบเมาท์ วิทนีย์ ซึ่งเป็นเรือธงของกองเรือภาคพื้นเมดิเตอร์เรเนียน นำความช่วยเหลือเข้าไปให้แก่จอร์เจียที่เมืองท่าโปตี ในทะเลดำ โดยที่กองกำลังของรัสเซียยังอยู่ในระหว่างการตรวจการณ์ในพื้นที่แถบนั้น
พันเอก คริสโตเฟอร์ แลงตัน ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านความขัดแย้งประจำสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาทางยุทธศาสตร์ (ไอไอเอสเอส) ในลอนดอน ให้ความเห็นว่า ความเคลื่อนไหวของรัสเซียยังไม่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นครั้งที่สอง โดยให้เหตุผลว่า “บริบทของสถานการณ์มีความแตกต่างกัน และครั้งนี้ไม่ได้เป็นการต่อสู้กันในเชิงอุดมการณ์โดยตรง มันเป็นการต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงอิทธิพลมากกว่า เพราะรัสเซียนั้นหวังที่จะฟื้นคืนความภาคภูมิใจในตนเองกลับมา”
เขายังกล่าวอีกว่า “มันเป็นการเมืองแบบอวดความเป็นลูกผู้ชาย และรัสเซียทำไปเพื่อให้สหรัฐฯ รำคาญใจ ด้วยการเข้าไปสร้างอิทธิพลของตนที่หลังบ้านของสหรัฐฯ แบบเดียวกับที่สหรัฐฯ เข้าไปสร้างอิทธิพลที่หลังบ้านของรัสเซีย คือ ในจอร์เจีย และยูเครน นั่นเอง”
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่สหภาพโซเวียตแตกเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยในช่วงต้นทศวรรษ 1990 นั้น รัสเซียมีความหวั่นเกรงภัยคุกคามจากโลกตะวันตกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการขยายอิทธิพลของสหภาพยุโรปมาทางด้านตะวันออก หรือการที่สหรัฐฯ มีแผนการติดตั้งโล่ป้องกันขีปนาวุธในยุโรปตะวันออก รวมทั้งการที่จอร์เจียและยูเครนขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโต้และสหภาพยุโรป หรือจากการที่ชาติตะวันตกพร้อมยอมรับการประกาศเอกราชของโคโซโว ซึ่งเคยเป็นดินแดนของอดีตเซอร์เบียก็ตาม
อนึ่ง ในวันจันทร์ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้สั่งการให้ระงับข้อตกลงนิวเคลียร์ภาคพลเรือนระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ไว้ก่อน เพื่อประท้วงการที่รัสเซียส่งทหารเข้าไปในจอร์เจีย