เอเจนซี - สำนักข่าวรอยเตอร์ เสนอรายงานข่าวบรรยากาศการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล วันอังคารนี้ (2) โดยระบุว่า บรรดาผู้ชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ต่างไม่แยแสการออกประกาศพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้คำมั่นว่าจะสละชีวิตเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“ดิฉันยอมตายเพื่อพระเจ้าอยู่หัว” จันทรา ละมั่งทอง ครูวัย 53 ปี บอกกับนักข่าวขณะอยู่ภายในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
รอยเตอร์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งชาวไทยถือเป็นสมมติเทพ โดยทางการแล้วทรงมีฐานะอยู่เหนือการเมือง แต่ก็ได้เคยพระราชทานแนวทางแก้ไขความขัดแย้งระดับประเทศมาแล้วหลายครั้ง ในช่วงเวลา 60 ปีที่ทรงครองราชย์
กลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นพวกนักธุรกิจและนักวิชาการฝ่ายขวา ได้กล่าวหานายสมัครว่าเป็นตัวแทนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกทำรัฐประหารขับไล่ไปเมื่อปี 2006
กลุ่มพันธมิตรได้แรงสนับสนุนเพิ่มขึ้น โดยการให้ภาพของทักษิณและรัฐบาลที่ชนะเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วว่า เป็นพวกนิยมระบอบสาธารณรัฐ และถึงแม้สมัครและทักษิณจะปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวหลายต่อหลายครั้งด้วยกัน แต่การชุมนุมก็ยังคงเดินหน้าต่อไปโดยไม่มีใครรับฟังคำแก้ข้อกล่าวหาของคนทั้งสอง
รอยเตอร์ได้ยกตัวอย่างคำพูดของผู้ร่วมชุมนุมหลายคน เช่น ทรงพิชญา ตันสักวรน พนักงานขายประกันวัย 65 ปี ที่กล่าวว่า “ฉันรักในหลวงราชินีของฉัน” ซึ่งสวมเสื้อยืดสีเหลืองเช่นเดียวกับผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ และสวมหมวกตีกอล์ฟสีดำ
ขณะที่ สุวรรณชัย จิตวิวัฒน์ คนทำงานอิสระวัย 40 ปี กล่าวว่า “ผมไม่เคยกลัว เพราะผมมาที่นี่เพื่อประเทศชาติและเพื่อในหลวงของเรา”
รายงานของรอยเตอร์ ชี้ว่า ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์เผชิญหน้าระหว่างตำรวจปราบจลาจลและกลุ่มพันธมิตรฯ ในเรื่องคำสั่งศาลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมได้ชูพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นสูง และพวกเขายังเชื่อด้วยว่าทหารและตำรวจจะไม่เข้ามาทุบตีพระบรมฉายาลักษณ์แม้ว่าจะได้รับคำสั่งให้สลายการชุมนุมก็ตาม
และแม้ว่า นายกรัฐมนตรีจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพฯ หลังจากที่ผู้ชุมนุม 2 กลุ่มปะทะกันกลางดึก แต่กลุ่มพันธมิตรก็ยังเชื่อมั่นในความคิดดังกล่าว โดยเห็นได้จากที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ติดอยู่โดยรอบรั้วของทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้ รอยเตอร์บอกด้วยว่า ทำเนียบรัฐบาลเวลานี้แลดูคล้ายกับบรรยากาศการจัดแสดงดนตรี “วู้ดสต็อก”
รอยเตอร์ปิดท้ายรายงานโดยหยิบยกความเห็นของผู้ชุมนุมบางคน
“วันนี้ผมไม่ไปทำงาน เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญกว่า ถึงผมจะต้องตกงานก็ช่างเถอะ ผมทำเพื่อช่วยประเทศชาติของเรา” ประโยชน์ สิริลักษณ์ คนงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์วัย 40 ปี ซึ่งมาจากชลบุรี กล่าว
ส่วนครูจันทรานั้น ก็ลางานมาเช่นกัน เธอมาจากพระนครศรีอยุธยา เมืองหลวงเก่าของไทย เพื่อเข้าร่วมใน “สงครามครั้งสุดท้าย” ต่อต้านนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช “ชั้นเรียนอาจมีปัญหาบ้างเล็กน้อย แต่ปัญหาของประเทศเป็นปัญหาใหญ่มาก” เธอบอก