เอเจนซี/เอเอฟพี – พายุเฮอริเคน “กุสตาฟ” เคลื่อนตัวบ่ายหน้าสู่อ่าวเม็กซิโก ที่เป็นฐานอุตสาหกรรมน้ำมันสำคัญของสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (31) ภายหลังพัดกระหน่ำผ่านคิวบา และแม้ความเร็วของลมจะลดระดับลง แต่ก็คาดหมายกันว่ามันจะกลับรุนแรงขึ้นอีก ก่อนจะขึ้นสู่ฝั่งในบริเวณใกล้ๆ เมืองนิวออร์ลีนส์ นครที่ยังเพิ่งจะฟื้นตัวจากฤทธิ์เดชของเฮอริเคน “แคทรีนา” เมื่อ 3 ปีก่อน
ศูนย์พายุเฮอริเคนแห่งชาติของสหรัฐฯ แถลงว่า ภายหลังเฮอริเคนกุสตาฟพัดผ่านภาคตะวันตกของคิวบา โดยได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่ออาคารบ้านเรือนและสวนกล้วยจำนวนมากแล้ว ปรากฏว่าความเร็วลมของพายุลูกนี้ได้ลดต่ำลงกว่าที่คาดหมายกันไว้ในตอนแรก โดยตอนนี้อยู่ในระดับ 201 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะกำลังเคลื่อนที่มุ่งสู่แหล่งน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก
แต่ถึงแม้ความแรงของเฮอริเคนลูกนี้เท่ากับลดลงสู่ระดับ 3 ในระบบวัดความแรงของเฮอริเคนแบบซัฟฟีร์-ซิมป์สันที่มีทั้งสิ้น 5 ระดับ บรรดานักพยากรณ์อากาศก็เตือนว่า กุสตาฟน่าจะเพิ่มความเร็วลมขึ้นอีก ในขณะที่พัดผ่านผืนน้ำอุ่นของอ่าวเม็กซิโก จนกระทั่งเมื่อมันขึ้นฝั่งอีกครั้งในวันนี้ (1) น่าจะกลับมีความแรงอยู่ในระดับ 4 ซึ่งมีอันตรายยิ่ง
นักอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์กันว่า กุสตาฟน่าจะขึ้นฝั่งสหรัฐฯ แถวๆ ด้านตะวันตกของนครนิวออร์ลีนส์ ซึ่งถูกฤทธิ์เดชของพายุเฮอริเคนแคทรีนาเมื่อ 3 ปีก่อน ทำให้น้ำท่วมเมืองเสียหายยับเยิน แต่ก็เตือนว่าเนื่องจากกุสตาฟมีขนาดใหญ่มาก จึงอาจส่งผลกระทบรุนแรงแม้กระทั่งในอาณาบริเวณที่ห่างจากตาของพายุ ดังนั้น ทางการสหรัฐฯ จึงประกาศเตือนภัยเฮอริเคนลูกนี้เป็นบริเวณกว้าง ตั้งแต่เมืองแคเมรอน มลรัฐลุยเซียนา ทางฟากตะวันออก มาจรดพรมแดนมลรัฐแอละแบมาและฟลอริดา
ศูนย์พายุเฮอริเคนแห่งชาติของสหรัฐฯ ระบุด้วยว่า ขณะที่กุสตาฟขึ้นสู่ฝั่งบริเวณริมอ่าวเม็กซิโกนั้น คาดหมายว่าบริเวณใกล้ๆ กับศูนย์กลางพายุ ตลอดจนพื้นที่ถัดไปทางตะวันออก น่าจะเกิดกระแสคลื่นยักษ์ที่อันตรายอย่างยิ่ง โดยอาจมีความสูง 18-25 ฟุต (5.4–7.6 เมตร)
เฮอริเคนแคทรีนาขณะที่เคลื่อนขึ้นสู่ฝั่งบริเวณเมืองนิวออร์ลีนส์ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2005 ก็มีความเร็วลมอยู่ในระดับ 3 เท่านั้น ทว่าก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ความสูงถึง 8.5 เมตร ทะลักเข้าท่วมพื้นที่ 80 เปอร์เซ็นต์ของนคร และด้วยความผิดพลาดในการบริหารจัดการงานกู้ภัยของรัฐบาล ทำให้เหยื่อพายุต้องรอความช่วยเหลือกันเป็นวันๆ ส่งผลให้สถานการณ์เลวร้ายถึงขั้นเป็นจลาจล ความเสียหายจากแคทรีนาที่อยู่ในระดับ 80,000 ล้านดอลลาร์ ยังทำให้มันกลายเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีราคาแพงที่สุดของสหรัฐฯ
พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ บอกว่า เวลานี้แนวทำนบกั้นน้ำที่คอยปกป้องนิวออร์ลีนส์ อยู่ในสภาพแข็งแรงกว่าเมื่อ 3 ปีก่อนมาก ทว่าก็ยังคงมีช่องโหว่ที่อาจทำให้ย่านที่อยู่อาศัยบางแห่ง ซึ่งเดือดร้อนหนักที่สุดจากน้ำท่วมคราวพายุแคทรีนา ต้องประสบความเสียหายรุนแรงอีกครั้ง
เจ้าหน้าที่ของนิวออร์ลีนส์ ซึ่งยังคงกังวลใจกับความเสียหายจากแคทรีนาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 1,500 คน จึงได้ออกคำสั่งให้ประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำของเมืองอพยพออกไป เริ่มตั้งแต่เช้าวานนี้
เรย์ แนกิน นายกเทศมนตรีนิวออร์ลีนส์ แถลงเตือนชาวเมืองว่า พายุลูกนี้เป็น “พายุแห่งศตวรรษ” เป็น “มารดาแห่งพายุทั้งปวง”
คำเตือนของทางนครดูจะได้ผล ทางหลวงสายต่างๆ รอบเมืองนิวออร์ลีนส์ อยู่ในสภาพแออัดติดขัดมาหลายวันแล้ว และประชาชนหลายร้อยคน ซึ่งบางคนยังคงรู้สึกผวาจากภัยพิบัติเมื่อ 3 ปีก่อน พากันเข้าแถวเพื่อขึ้นรถโดยสารอพยพหลบภัยออกไปจากเมือง
ทางด้านบริษัทพลังงานทั้งหลาย ซึ่งตั้งแท่นขุดเจาะอยู่ในเขตอ่าวเม็กซิโกถึงราว 4,000 แท่น และผลิตน้ำมันดิบประมาณ 1 ใน 4 กับก๊าซธรรมชาติอีกราว 15 เปอร์เซ็นต์ของสหรัฐฯ ก็ได้สั่งอพยพพวกคนงานที่ทำงานอยู่นอกชายฝั่ง และปิดงานการผลิตน้ำมันและก๊าซไปแล้วราว 3 ใน 4
แคทรีนา และเฮอริเคนริตา ซึ่งติดตามหลังแคทรีนาเข้ามาในอีก 3 สัปดาห์ต่อจากนั้น ได้สร้างความเสียหายให้แก่แท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกมากกว่า 100 แท่น แต่นักวิเคราะห์บางคนหวั่นเกรงว่า กุสตาฟอาจก่อให้เกิดความสูญเสียร้ายแรงกว่านั้นอีก