xs
xsm
sm
md
lg

บุช “โปรยยาหอม” พร้อมปล่อย “มุก” สนใจอยากได้ “ช้างไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปธน. บุชกล่าวสุนทรพจน์ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์
ผู้จัดการออนไลน์/เอเจนซี – “บุช” แจก “ยาหอม” ให้ไทยที่มีความสัมพันธ์อันยาวนานกับสหรัฐฯ มายาวนาน 175 ปี พร้อมปล่อย “มุก” สนใจอยากได้ “ช้างไทย” ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์แถลงนโยบายเกี่ยวกับเอเชีย ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เช้าวันนี้ (7) อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีอเมริกัน ก็ได้ใช้โอกาสนี้มาตำหนิติเตียนทางการจีนอย่างรุนแรงที่กดขี่ประชาชนของตัวเอง

ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ เริ่มต้นสุนทรพจน์ ด้วยการกล่าวคำทักทายเป็นภาษาไทยว่า “สวัสดีครับ” จากนั้นก็บอกว่า เขา กับ ลอรา ภรรยาของเขา รู้สึกยินดีที่ได้กลับมาเยือนกรุงเทพฯ อีกครั้ง และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมกับถวายพระพรล่วงหน้า เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ด้วย

บุช ได้กล่าวทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทย ที่เริ่มต้นเมื่อ 175 ปี เมื่อประธานาธิบดี แอนดริว แจ๊กสัน ส่งคณะทูตมายังประเทศสยาม และสามารถแจรจาทำสนธิสัญญาทางไมตรีและการค้ากันได้ หลังจากนั้น ประเทศทั้งสองก็มีความสัมพันธ์ฉันมิตรอันใกล้ชิด

เขาพูดถึงเรื่องที่มีครั้งหนึ่ง พระมหากษัตริย์ของไทย (ซึ่งก็คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) ได้ทรงเสนอที่จะพระราชทานช้างให้อเมริกา แต่ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น ได้ตอบปฏิเสธอย่างสุภาพ ถึงตรงนี้ บุช ก็ปล่อยมุกว่า ไม่ทราบว่าข้อเสนอนี้ยังอยู่หรือเปล่า

บุช บอกว่า คุณค่าในเรื่องเสรีภาพและการเปิดกว้าง ซึ่งก่อกำเนิดความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ กับไทย ยังคงยืนยาวเรื่อยมาตลอดช่วงเวลานับร้อยๆ ปี พร้อมกับชี้ถึงเรื่องที่ทหารอเมริกันกับทหารไทยได้ร่วมรบเคียงกันในเกาหลี เวียดนาม จนถึงอัฟกานิสถาน และอิรัก ขณะที่เศรษฐกิจแบบตลาดเสรีของทั้งสองประเทศก็เจริญรุ่งเรืองผ่านกระแสการค้าและการลงทุน การท่องเที่ยวก็เฟื่องฟู รวมทั้งเวลานี้มีคนอเมริกันเชื้อสายไทยอยู่ถึง 200,000 คน

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า ในวาระครบรอบ 175 ปี แห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง “อเมริกามองเห็นประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้นำรายหนึ่งในภูมิภาคนี้ และก็เป็นหุ้นส่วนรายหนึ่งในขอบเขตทั่วโลก” เขาจึงภูมิใจที่ได้แต่งตั้งให้ไทยมีฐานะเป็นชาติพันธมิตรนอกนาโต้ของสหรัฐฯ “และผมขอสดุดีประชาชนไทยในการฟื้นฟูประชาธิปไตย ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าอิสรภาพและกฎหมายคือผู้ปกครองเหนือดินแดนแห่งนี้ ใน ประเทศไทย “ดินแดนแห่งเสรีชน””

ในตอนท้ายของสุนทรพจน์ บุช ย้อนกลับมาพูดถึงประเทศไทยอีกครั้ง โดยพูดถึงเรื่องสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่นเข้ามาในไทย และเอกอัครราชทูตไทยประจำวอชิงตัน (ซึ่งคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช) ได้รับคำสั่งให้ประกาศสงครามกับสหรัฐฯ แต่เอกอัครราชทูตไทยผู้นี้ปฏิเสธ ทางอเมริกาก็จึงไม่ถือว่าไทยเป็นศัตรูของตน และได้ช่วยคนไทยในอเมริกา รวมตัวกันเป็นขบวนการที่รู้จักกันในนาม “เสรีไทย” ถึงตรงนี้ บุช “เสียมวย” โดยออกเสียง “เสรีไทย” เป็น “ซอรีไทย” 2 ครั้ง 2 ครา

สำหรับเนื้อหาหลักของสุนทรพจน์คราวนี้ของบุชนั้น สิ่งที่สำนักข่าวต่างประเทศให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ก็คือในช่วงที่เขากล่าวถึงความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งบุชได้กล่าวตำหนิติเตียนจีนด้วยภาษาที่โจ่งแจ้งชัดเจนที่สุดครั้งหนึ่งทีเดียว

“สหรัฐฯ เชื่อว่า ประชาชนจีนสมควรได้รับอิสรภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษชนทุกผู้คน” เขากล่าวในตอนหนึ่ง “อเมริกายืนอยู่อย่างหนักแน่นมั่นคงในการคัดค้านการที่จีนคุมขังผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในทางการเมือง ผู้เรียกร้องสนับสนุนสิทธิมนุษยชน ตลอดจนผู้นำทางศาสนา”

“เราพูดออกมาในเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชน เสรีภาพในการรวมตัวกัน และสิทธิทางแรงงาน มิใช่เพื่อเป็นปรปักษ์กับผู้นำจีน แต่เพราะการไว้วางใจในประชาชนของตนเองให้มีเสรีภาพอันยิ่งใหญ่ คือหนทางเดียวสำหรับจีนที่จะพัฒนาให้เต็มศักยภาพของตนเองได้”

อย่างไรก็ตาม เขาลดทอน “สาร” ของเขาด้วยการกล่าวด้วยว่า ความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในประเทศจีน จะต้องเกิดขึ้น “บนเงื่อนไขของพวกเขาเอง และด้วยการคำนึงถึงประวัติศาสตร์และประเพณีความเป็นมาของพวกเขาเอง”

นอกจากนั้น บุชยังยกย่องการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน และชี้ว่า จีนมีผลประโยชน์ร่วมกันกับสหรัฐฯ ตลอดจนย้ำอีกครั้งถึง “นโยบายจีนเดียว” ของวอชิงตัน รวมทั้งความคิดเห็นของเขาที่ว่าไม่ควรทำอะไรแต่ฝ่ายเดียวที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลง “สถานะเดิม” ในเรื่องไต้หวัน

สำนักข่าวต่างประเทศ ต่างชี้ว่า ในขณะที่บุชกำลังจะเดินทางไปยังปักกิ่ง เพื่อร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เขาก็กำลังเผชิญกับการก้าวย่างที่จะต้องเลี้ยงตัวอย่างยากลำบากเพื่อให้เกิดความสมดุลให้ได้

ทั้งนี้ บุช ยืนยันเรื่อยมาว่า เขาไปจีนคราวนี้ในฐานะแฟนกีฬา และพวกผู้ช่วยของเขาก็กล่าวว่า เขาจะไม่ทำอะไรที่จะทำให้ฝ่ายเจ้าภาพขายหน้า ทว่า ก็มีแรงกดดันจากพวกเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนสมาชิกรัฐสภาอเมริกันที่ต้องการให้บุชใช้โอกาสนี้กดดันจีน



กำลังโหลดความคิดเห็น