xs
xsm
sm
md
lg

คนรัสเซียระแวง “จีน” และต้องการเป็น “ตะวันตก”

เผยแพร่:   โดย: ดมิตรี ชลาเปนตอค

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

COMMENT
Wary of China, Russians look West
By Dmitry Shlapentokh
23/07/2008

ประธานาธิบดี ดมิตรี เมดเวเดฟ ของรัสเซีย แสดงบทบาทได้อย่างถูกต้องหมดจดแล้ว ระหว่างการเยือนประเทศจีนของเขาเมื่อไม่นานมานี้ ทว่าสำหรับชาวรัสเซียจำนวนมากในประเทศรัสเซียเอง ประเทศจีนซึ่งมีประชากรอันมากมายมหาศาลที่อาจกลายเป็นนักแผ่ขยายอาณาเขต กลับถูกมองด้วยสายตาหวาดกลัว และพวกเขาเห็นว่ายุโรปนั่นแหละ จึงจะเป็นพันธมิตรโดยธรรมชาติของพวกเขา

เหมือนๆ กับ วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นั่งเก้าอี้ตัวนี้มาก่อนหน้าเขา ภายหลังจากที่ ดมิตรี เมดเวเดฟ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียในเดือนพฤษภาคม เขาก็ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนจีน สำหรับผู้เชี่ยวชาญบางคนแล้ว ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ดูราวกับการมุ่งสร้างปีศาจร้ายแห่งการผูกพันธมิตรกันระหว่างจีนกับรัสเซียขึ้นมา อันจะเป็นภัยคุกคามต่อโลกตะวันตก ทว่าความเป็นจริงไม่น่าจะเป็นเช่นนี้หรอก ทัศนคติซึ่งมีต่อจีนของชาวรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำหรือประชาชนทั่วไป มักอยู่ในลักษณะระแวดระวัง และถึงแม้จะมีเรื่องราวเยอะแยะเกี่ยวกับการเกี้ยวพาราสีจีนตลอดจนมหาอำนาจอื่นๆ ในเอเชีย แต่รัสเซียก็ยังคงมุ่งหน้าที่จะก้าวไปเป็นแบบตะวันตกมากกว่าอยู่นั่นเอง การไปเยือนรัสเซียเมื่อเร็วๆ นี้ของผมยิ่งยืนยันเรื่องนี้

ผมไปถึงรัสเซียในเวลาตรงกันกับที่เมดเวเดฟไปถึงจีน โทรทัศน์รัสเซียถ่ายทอดการปราศรัยของเขา ซึ่งเขาได้ประกาศว่ารัสเซียกับจีนจับมือเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์กัน ถึงแม้ “ใครบางคน” อาจจะหงุดหงิดไม่พอใจต่อความเป็นจริงเช่นนี้ บรรยากาศการต้อนรับอันอบอุ่นได้รับการตอกย้ำจากภาพของเมดเวเดฟ ที่รายล้อมด้วยเหล่านักศึกษาจีนผู้มีท่าทางตื่นเต้น และบางคนก็สามารถพูดภาษารัสเซียได้อย่างดีมาก

กระนั้นก็ตาม ความเห็นของพวกผู้รู้ต่างๆ ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์รัสเซีย กลับอยู่ในลักษณะระแวงระวัง บางคนยอมรับว่า แม้จีนแซงหน้ารัสเซียไปแล้วจริงๆ ในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่รัสเซียก็ยากที่จะได้ประโยชน์จากการมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับจีน เนื่องจากตลาดเฉพาะด้านในประเทศจีน ส่วนใหญ่ถูกยึดครองโดยพวกบริษัทญี่ปุ่นและสหรัฐฯเสียแล้ว ผู้สังเกตการณ์อีกคนหนึ่งชี้ว่า ไม่ควรมองความสำเร็จของจีนให้ใหญ่โตเกินความเป็นจริง จีนอาจจะกำลังก้าวผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกอยู่จริงๆ ก็ได้ ทว่านั่นจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตอีกไกลโพ้น และถึงแม้จีนจะเจริญเติบโต แต่ก็ประสบปัญหาร้ายแรงหลายอย่าง อาทิ อัตราเงินเฟ้อสูง

การเน้นย้ำถึงด้านลบในการเจริญเติบโตและการสร้างประเทศให้ทันสมัยโดยรวมของจีน ยังคงดำเนินต่อไปอีกหลายวันภายหลังการเยือนของเมดเวเดฟ ภาพจากโทรทัศน์ให้ความสนใจไปที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงของจีนในมณฑลเสฉวน และความช่วยเหลือของรัสเซีย ซึ่งก็ดูคล้ายคลึงกับที่เคยเกิดขึ้นในยุคโซเวียต นั่นคือ ประเทศด้อยพัฒนาในโลกที่สามแห่งหนึ่ง ที่ประชาชนชาวโซเวียตผู้เมตตากรุณาเข้าไปช่วยเหลือ การตั้งข้อสังเกตในเรื่องที่จีนไม่ได้มีเครื่องมืออุปกรณ์อันประณีตทันสมัยอย่างเดียวกับที่รัสเซียมีใช้ ถูกเรียงร้อยอยู่ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ว่าด้วยความเป็นรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จของจีน ซึ่งควบคุมอัตราการเกิดโดยใช้นโยบายให้พลเมืองมีลูกเพียงคนเดียว

ชาวรัสเซียที่เป็นสามัญชนซึ่งผมได้พบปะ ส่วนใหญ่ต่างไม่ยอมรับว่าจีนเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจที่แท้จริงแห่งยุคศตวรรษที่ 21 บางคนมองจีนว่าเป็นเพียงหนึ่งในบรรดาศูนย์กลางทางเศรษฐกิจจำนวนมากของโลก ซึ่งในจำนวนนี้ก็มีรัสเซียด้วย ที่จะก้าวผงาดขึ้นมาภายหลังการทรุดต่ำอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ของสหรัฐฯ สำหรับอีกหลายๆ คนแล้ว จีนเป็นเพียงผู้ผลิตสินค้าคุณภาพต่ำ อย่างเช่น รถยนต์ที่ทำออกมาได้อย่างย่ำแย่มาก สำหรับพวกที่เพียงแต่มองจีนในฐานะเป็นพลังทางเศรษฐกิจแล้ว เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เป็นปัญหาอะไร ทว่าสำหรับพวกซึ่งมองเศรษฐกิจของจีนอย่างสอดร้อยกับมิติด้านอื่นๆ ของประเทศนี้ พวกเขาก็กำลังมองว่าจีนคือภัยคุกคาม

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งของความเข้าใจเช่นนี้มาจากมิติทางด้านประชากร กล่าวคือ ประชากรของรัสเซียที่เวลานี้มีกันอยู่ 142 ล้านคน กำลังลดจำนวนลงเรื่อยๆ ขณะที่ของจีนที่มีอยู่มากกว่า 1,300 ล้านคนกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วทั้งรัสเซียเราจะพบเห็นแผ่นป้ายที่มีข้อความเรียกร้องให้ช่วยกันสร้างครอบครัวที่ใหญ่ขึ้น และเสียงจากสถานีวิทยุก็วาดภาพการลดลงของประชากร ว่าเป็นพัฒนาการไปสู่ความวิบัติหายนะ ซึ่งอาจนำไปสู่การแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ ของรัสเซีย

ชาวรัสเซียนั้นมีความหวาดกลัวว่าคนจีนจะทะลักเข้าไปในพื้นที่ภาคตะวันออกของพวกเขา พวกเขายอมรับว่าผู้อพยพชาวจีนมีความขยันขันแข็งอย่างยิ่ง กระทั่งสามารถเปลี่ยนให้ดินแดนทุ่งหญ้าทุนดรา อันทุรกันดารของรัสเซียให้กลายเป็นนาข้าวได้ ทว่าชาวรัสเซีย (ผิวขาว)ก็หวั่นใจว่า พวกเขาจะถูกดูดกลืนหายเข้าไปในจำนวนอันมากมายมหาศาลของคนจีน

คู่สนทนาของผมคนหนึ่งบอกว่า เธอเชื่อว่าเรื่องเช่นนี้เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และสิ่งเดียวที่สามารถปลอบใจเธอก็คือ เมื่อถึงวาระที่สิ่งนี้จะบังเกิดขึ้นมาจริงๆ เธอก็คงไม่มีชีวิตแล้ว

ทัศนะของชาวรัสเซียที่มองชาวจีนว่าเป็นคนทำงานหนักและเชื่อฟังเจ้านายที่มักจะโหดร้ายนั้น เข้ากันได้พอดีกับภาพลักษณ์เก่าแก่ว่าด้วยภัยร้ายจากโลกตะวันออก ซึ่งมีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์กับชาวมองโกล/ตาตาร์ อันเป็นผู้คนเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่ได้เคยเข้าไปพิชิตครอบครองรัสเซียอย่างแท้จริง โดยเกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรตที่ 13

ในตอนปลายยุคของบอริส เยลตซิน และยุคต้นๆ ของปูตินนั้น ภาพลักษณ์ของชาวมองโกลได้ถูกปั้นถูกหล่อขึ้นมาใหม่ สืบเนื่องจากความนิยมชมชื่นใน “ลัทธิชาวยูเรเชีย” (Eurasianism) ซึ่งก็คือความคิดความเชื่อทางการเมือง/ปรัชญา ที่ถือว่าชาวรัสเซียเป็นส่วนผสมอันโดดเด่นระหว่างชาวสลาฟที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์ กับชาวมุสลิมที่ส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดจากชาวเติร์ก โดยที่ชาวมองโกลได้รับเครดิตว่าเป็นผู้หลอมรวมให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างเอื้อประโยชน์แก่กันระหว่าง 2 ส่วนนี้ ได้อย่างโดดเด่นไม่เหมือนใครขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม เวลานี้ภาพลักษณ์เก่าของชาวมองโกลกลับปรากฏขึ้นมาใหม่อีกครั้งเสียแล้ว โดยพวกเขาถูกมองว่าเป็นผู้พิชิตที่ไร้ความปราณี ซึ่งนำเอาความทุกข์ทรมานแสนโหดเหี้ยมมาสู่รัสเซีย และไม่มีการพูดถึงยอมรับแง่บวกใดๆ ในการปกครองของพวกเขากันเลย ชาวมองโกลในภาพลักษณ์เช่นนี้เอง มักถูกมองเชื่อมโยงไปกับชาวจีน ตลอดจนชาวเอเชียโดยรวมด้วย

ประชาชนชาวรัสเซียยังคงมีความหวาดระแวงชาวจีนอย่างยืดเยื้อยาวนาน ถึงแม้เมื่อพวกเขายอมรับแล้วถึงคุณสมบัติด้านบวกของคนจีนอย่างเช่นความขยันขันแข็ง สภาพเช่นนี้ก็คือการบ่งชี้ให้เห็นว่ารัสเซียยังคงมีความปรารถนาที่จะก้าวไปสู่โลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุโรป ความมุ่งมาดเช่นนี้ยังคงดำรงอยู่ ถึงแม้มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการบุกคืบหน้าเข้ามาขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ตลอดจนแผนการสร้างระบบป้องกันขีปนาวุธขึ้นในยุโรปของสหรัฐฯ

ชาวรัสเซียมองยุโรปว่ามีความใกล้ชิดกับพวกเขายิ่งกว่าผู้คนของโลกตะวันออกมากมายนัก หลายๆ คนวาดหวังว่า ยุโรป “เก่า” โดยเฉพาะเยอรมนีกับฝรั่งเศส จะยอมรับว่า ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ, การทหาร, ตลอดจนในทางประชากร รัสเซียก็ล้วนมีบทบาทอันจำเป็นสำหรับพวกเขา ในฐานะของเพื่อนร่วมอารยธรรมแห่งชาวคอเคเซียนและชาวคริสต์ ที่กำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างเดียวกันจากโลกตะวันออก

ดมิตรี ชลาเปนตอค PhD เป็นรองศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ แห่งวิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินดีแอนา วิทยาเขต เซาท์ เบนด์ เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง East Against West: The First Encounter – The Life of Themistocles ตีพิมพ์เมื่อปี 2005
กำลังโหลดความคิดเห็น