xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกอ้างนักวิเคราะห์ชี้ “ทักษิณ” ต้นตอความไม่สงบในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทักษิณ
เอเอฟพี/ไฟแนนเชียลไทมส์/เอเจนซี - บรรดาสื่อต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์, สำนักข่าวเอเอฟพี หรือ สำนักข่าวรอยเตอร์ ต่างรายงานเรื่องรัฐบาล “สมัคร” เผชิญศึกรอบด้าน ทั้งจากการชุมนุมคัดค้านและเตรียมบุกทำเนียบของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และจากการยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคประชาธิปัตย์

ไฟแนนเชียลไทมส์ บอกว่า หลังจากบริหารงานได้เพียง 4 เดือน รัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคพลังประชาชน และเต็มแน่นไปด้วยผู้จงรักภักดีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็กำลังเผชิญการท้าทายทางการเมืองอย่างร้ายแรง โดยที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 7 คน และขณะที่ข่าวลือเรื่องทหารจะปฏิวัติจางลงไปแล้ว แต่คนไทยจำนวนมากก็เชื่อว่า รัฐบาลจะยิ่งเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้นอีกในช่วงไม่กี่เดือนนับจากนี้ และอาจถึงขั้นรัฐบาลต้องล้มกันทีเดียว

หนังสือพิมพ์ธุรกิจสัญชาติอังกฤษที่ทรงอิทธิพลมากฉบับนี้ ได้อ้างคำพูดของ นายสุนัย ผาสุก นักวิเคราะห์การเมืองไทยแห่งองค์การ “ฮิวแมนไรต์ วอตช์” ที่กล่าวว่า รัฐบาลกำลังเผชิญกับการท้าทายของจริง ตอนนี้เหลือเพียงเงื่อนเวลา และประเด็นที่จะเกิดการจุดชนวน แต่มีแนวโน้มสูงมากที่จะเห็นความรุนแรงทางการเมืองไม่ในทางใดก็ทางหนึ่ง ในรูปแบบการประท้วงบนท้องถนน และการปะทันกันของคนจากสองฝ่าย จากนั้นทหารก็จะเข้ามาแทรกแซง

ไฟแนนเชียลไทมส์ บอกว่า สิ่งที่อยู่เบื้องลึกของความไม่สงบเช่นนี้ ก็คือ ความขัดแย้งที่ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง ระหว่างกลุ่มคัดค้านทักษิณที่ต้องการให้เขาหมดอิทธิพลทางการเมือง กับกลุ่มสนับสนุนทักษิณที่กำลังพยายามช่วยให้เขาได้รับทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้กลับคืน โดยหนังสือพิมพ์นี้ได้อ้างคำพูดของนายคริส เบเกอร์ นักวิเคราะห์ซึ่งประจำอยู่ในกรุงเทพฯ และเขียนหนังสือชีวประวัติของทักษิณด้วย โดย นายเบเกอร์ กล่าวว่า “ทั้งหมดเป็นเรื่องของทักษิณ” และ “ทั้งหมดมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงินของเขา”

“ทหารดูเหมือนจะไม่ได้ไม่สบายใจเกินไปนักกับการปล่อยให้กลุ่มพันธมิตรฯ อยู่บนท้องถนน” นายเบเกอร์ กล่าวกับไฟแนนเชียลไทมส์ “มันเป็นการย้อนกลับไปที่สถานการณ์ก่อนเกิดรัฐประหาร และพันธมิตรฯก็กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือ”

ทางด้านเอเอฟพี พูดถึงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ดำเนินมาเกือบ 4 สัปดาห์แล้วว่า เท่าที่ผ่านมา ยังคงมีขนาดเล็กๆ ทว่า มีอิทธิพลเกินกว่าขนาดของคนที่มาชุมนุม เพราะกลุ่มพันธมิตรฯ สามารถจับอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ผู้ซึ่งไม่ไว้วางใจนายสมัคร หลังจากที่เขารณรงค์หาเสียงอย่างเปิดเผยว่า ตนเองเป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ

ขณะที่ ไฟแนนเชียลไทมส์ ก็บอกว่า ในขณะนี้ผู้เข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ยังมีจำนวนค่อนข้างน้อย คนกรุงเทพฯ ที่เป็นพวกชนชั้นกลางและชนชั้นสูง ซึ่งเคยร่วมประท้วงต่อต้านทักษิณ ต่างยังคงเหนื่อยล้ากับการเล่นการเมืองที่ไม่จบสิ้น อย่างไรก็ตาม จากการที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ลง จำนวนผู้ประท้วงจึงน่าจะมากขึ้น ทั้งจากกลุ่มคนขับรถบรรทุก,กลุ่มเกษตรกร รวมทั้งกลุ่มที่ถูกแรงบีบจากปัญหาราคาน้ำมันและค่าครองชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจที่ลงมติเข้าร่วมการประท้วงด้วยแล้ว

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้อ้างคำพูดของ นายฐิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวว่า สถานการณ์กำลังคุกกรุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ “ตอนนี้คุณมีกลุ่มพันธมิตรฯชุมนุมกันอยู่บนถนน ประกาศขับไล่รัฐบาลจนกว่าจะสำเร็จ ส่วนปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาเศรษฐกิจก็ถูกเตะเข้ามาและทำลายความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมของรัฐบาล...ถ้าหากรัฐบาลดำเนินการรุนแรงเกินไป ก็จะเปิดโอกาสให้ทหารเข้าแทรกแซง”

ไฟแนนเชียลไทมส์ กล่าวว่า นักวิเคราะห์หลายคนคาดว่าจะมีการเล่นเกมต่อรองกันอย่างยืดเยื้อ เนื่องจากแต่ละฝ่ายที่เป็นปรปักษ์กันต่างหาทางสร้างอิทธิพลโดยผ่านช่องทางของรัฐธรรมนูญ ทว่าทุกคนก็พูดด้วยว่า ยังคงมีภัยคุกคามอยู่ตลอดเวลาว่าจะเกิดการรัฐประหาร หรือการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงภายในซึ่งจะมีการระงับใช้ระบอบประชาธิปไตย

“ผมเดาว่าจะมีภาวะแบบเกิดการชะงักงันกันอย่างยาวนาน แต่การรัฐประหารก็เกิดขึ้นได้ตลอด” นายเบเกอร์ ให้ความเห็น “ทักษิณอาจเคลื่อนไหวจนกองทัพบอกว่า 'เราจะยอมต่อไปไม่ได้แล้ว' มันอาจเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ทั้งนั้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น