xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตเศรษฐกิจระลอกสองในพม่า

เผยแพร่:   โดย: ลาร์รี จาแกน

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Second wave economic crisis in Myanmar
By Larry Jagan
02/06/2008

วิบัติภัยจากพายุไซโคลนนาร์กิส คือการตีกระหน่ำอย่างหฤโหดเข้าใส่ประชาชนผู้พำนักอาศัยอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี แถมเวลานี้สภาพเศรษฐกิจของประเทศกำลังเรียกร้องถึงขนาดว่า กระทั่งเมล็ดพันธุ์ถูกทำลายไปจนหมด และไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์อะไรสำหรับไถนาที่ถูกน้ำทะเลท่วมขัง รวมทั้งมีซากศพถูกทิ้งระเกะระกะอยู่นานวัน แต่บรรดาผู้รอดชีวิตก็ต้องหาวิธีปลูกข้าวกันให้ได้ หรือกระทั่งว่าเรือประมงของพวกเขาอัปปางพังยับเยินไปแล้ว พวกเขาก็ยังต้องหาปลามาให้ได้ มิฉะนั้นแล้ว หนทางอื่นที่เหลืออยู่ก็ดูจะมีแต่ความอดอยากไม่มีอะไรจะกินเท่านั้น

กรุงเทพฯ – ขณะที่พม่ายังกำลังคิดคำนวณความเสียหายจากวิบัติภัยพายุไซโคลนนาร์กีส และพวกองค์กรให้ความช่วยเหลือจากนานาชาติกำลังดิ้นรนหาทางนำเสบียงอาหารข้าวของบรรเทาทุกข์ไปให้ถึงมือบรรดาเหยื่อผู้สิ้นหวังและไร้ที่อยู่ที่ประมาณกันว่ามีราว 2.4 ล้านคนอยู่นี้ เวลาก็กำลังเหลือน้อยลงทุกขณะสำหรับให้ชาวนาของประเทศได้ปลูกข้าวฤดูใหม่ และช่วยให้ประเทศชาติรอดพ้นจากความอดอยาก

พวกผู้เชี่ยวชาญขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติกล่าวเตือนว่า ภายในเวลาอีก 30 วันต่อจากนี้ไป ถ้ายังไม่หว่านกล้าในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี อันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของพม่า และก็เป็นบริเวณที่ถูกพายุไซโคลนลูกนี้เล่นงานหนักที่สุดด้วย การผลิตข้าวของประเทศก็จะลดลงจนถึงขีดอันตราย ขณะเดียวกัน เหล่านักวิเคราะห์ที่ชำนาญเกี่ยวกับเศรษฐกิจของพม่าบอกว่า ภาคการผลิตอาหารอื่นๆ ของพม่าก็ได้ถูกทำลายย่อยยับไปเช่นกัน จึงกำลังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดแคลนอาหาร ในเวลาที่คณะผู้นำทหารที่ปกครองประเทศอยู่ปัจจุบันนี้ ยังคงขัดขวางการขนส่งและการแจกจ่ายความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ด้วยเหตุผลต่างๆ ในทางการเมือง

อันที่จริงเศรษฐกิจพม่าก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผลงานย่ำแย่ที่สุดของเอเชียอยู่แล้ว สืบเนื่องจากการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจอย่างผิดพลาดมานานหลายสิบปีของรัฐบาลทหารชุดแล้วชุดเล่า ยิ่งภายหลังวิบัติภัยพายุไซโคลนคราวนี้ด้วยแล้ว นักวิเคราะห์บางคนจึงมองว่า กำลังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจพังทลายกันแบบเต็มเหนี่ยวทีเดียว “ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจนับว่าร้ายแรงสาหัสจริงๆ ไม่ว่าจะมองกันระยะสั้นหรือระยะยาว” ฌอน เทอร์เนลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของพม่าแห่งมหาวิทยาลัยแมคควอรี ในออสเตรเลีย ให้ความเห็น “เรื่องข้าวและเรื่องการเกษตรเป็นเพียงส่วนเดียวของภาพทั้งหมดเท่านั้น” เขากล่าว

พวกผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรเตือนว่า ในอีกไม่นานเกินรอ ภัยพิบัติจากพายุไซโคลนอาจทำให้ประเทศต้องเปลี่ยนฐานะจากการเป็นผู้ส่งออกข้าวสุทธิ ไปเป็นผู้นำเข้าข้าวสุทธิ ซึ่งจะยิ่งเป็นการเพิ่มแรงกดดันใหม่ๆ ต่อประเทศที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงินอย่างหนักอยู่แล้ว หนึ่งสัปดาห์หลังจากถูกพายุไซโคลนกระหน่ำ และขนาดของความเสียหายย่อยยับยังไม่เป็นที่ทราบกันชัดเจน พม่ายังคงส่งออกข้าวไปต่างประเทศอยู่เลย แต่ความสูญเสียคราวนี้ มันถึงขั้น “ร้านค้าขายอาหารหายสูญไปหมด, เมล็ดพันธุ์ก็ถูกทำลาย, และทรัพย์สินอื่นๆที่จำเป็นทั้งหลายล้วนแต่ถูกพายุและน้ำทะเลพัดกวาดไปสิ้น” ทั้งนี้ตามคำกล่าวของ ดิเดอริก เดอ วลีชชาวเออร์ โฆษกขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ

“ชาวนามีเวลาจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้เท่านั้นที่จะเพาะกล้าข้าวของพวกเขาขึ้นมาใหม่ ไม่เช่นนั้นการผลิตอาหารจะต้องลดน้อยลงฮวบฮาบถึงขั้นกลายเป็นปัญหาทีเดียว” เขากล่าวพร้อมกับชี้ว่า“ในพื้นที่สามเหลี่ยม (ปากแม่น้ำอิรวดี) ตอนล่างนั้น พวกเขา(ชาวนา)ไม่มีเงินทุนกันเลยที่จะซื้อหาเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ หาวัวควายและเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการเริ่มต้นปลูกข้าวกันอีกรอบในช่วงเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้านี้”

ตามปกติแล้ว ฤดูปลูกข้าวในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี ซึ่งเป็นเขตที่ธรรมดาแล้วผลิตข้าวได้ราวสองในสามของที่พม่าเก็บเกี่ยวได้ในแต่ละปีนั้น จะเริ่มต้นกันช่วงเวลานี้แหละ แต่ประมาณหนึ่งในสี่ของนาข้าวในพื้นที่นี้ยังคงถูกท่วมขังโดยน้ำทะเลที่ถูกลมพายุพัดเข้ามาสู่ดินแดนตอนใน อีกทั้งยังระเกะระกะไปด้วยซากสัตว์และศพมนุษย์ที่กำลังเน่าเปื่อย ซึ่งพวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่าจะต้องมีการเคลื่อนย้ายไปฝังหรือเผาเสียก่อน จึงจะสามารถทำการเพาะปลูกได้

ขณะเดียวกัน ระบบชลประทานก็จำเป็นต้องได้รับการบูรณะ, คันนาต้องได้รับการซ่อมแซม, และเครื่องสูบน้ำต้องได้รับการเปลี่ยนใหม่ จึงจะสามารถกลับทำการผลิตได้ในระดับเดิม ซึ่งเป็นระดับที่ประสิทธิภาพการผลิตถือว่าต่ำสุดๆ อยู่แล้ว ทั้งนี้ตามปากคำของพวกผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและการเกษตร นอกจากนั้น มีรายงานว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของปศุสัตว์ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ซึ่งจำนวนมากทีเดียวเป็นวัวควายที่ต้องใช้ในการไถนา ได้ตายไปในท่ามกลางพายุหรือไม่ก็อดตายหลังจากนั้น

“สถานการณ์เช่นนี้จะเป็นบทพิสูจน์รัฐบาลในช่วงไม่กี่เดือนต่อจากนี้ไป ในเรื่องของต้นทุนทางโอกาสอันสูงลิ่วทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราคิดถึงว่า ณ ขณะปัจจุบันนี้ตลอดจนน่าจะรวมถึงอนาคตอีกระยะหนึ่งด้วย ข้าวกำลังเป็นที่ต้องการของนานาชาติและมีราคาสูง” เทอร์เนลล์กล่าว

ขณะที่การบรรเทาทุกข์ทั้งหลายนั้น เรื่องที่ถือเป็นหลักโดยเฉพาะในช่วงต้นๆ ย่อมต้องรวมศูนย์ไปที่การช่วยชีวิตคน ดังนั้นจนถึงเวลานี้จึงยังแทบไม่มีการบูรณะฟื้นฟูในทางการเกษตรบังเกิดขึ้นเลย “พวกเขาต้องติดตามรวบรวมผู้คนในครอบครัวของพวกเขากันก่อน” เป็นคำกล่าวของ พอล ไรซ์ลี โฆษกประจำภูมิภาคของโครงการอาหารโลก (WFP) หน่วยงานสังกัดสหประชาชาติ “แม้กระทั่งหลังจากนั้นแล้ว ชาวนาก็ยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนในเรื่องเสบียงอาหารไปก่อน จนกว่าพืชผลของพวกเขาจะสามารถเก็บเกี่ยวได้” WFP คาดหมายว่าจะต้องจัดทำพวกโครงการทำงานแลกอาหารขึ้นมาในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ อย่างน้อยก็ตลอดช่วง 6 เดือนข้างหน้า

กระทั่งว่าถ้าสามารถปลูกข้าวจำนวนอันจำกัดสักจำนวนหนึ่งในปีนี้ ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ก็ยังน่าจะลดต่ำลงอย่างสาหัสทั้งในทางปริมาณและทางคุณภาพ พวกผู้เชี่ยวชาญบอก “เราสามารถคาดมหายได้เลยว่าผลผลิตจะได้กันต่ำมากๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ ฤดูเก็บเกี่ยวสองฤดูข้างหน้าจะถูกกระทบกระเทือนอย่างหนักหน่วง” เทอร์เนลล์บอก “ตั้งแต่ก่อนพายุไซโคลน พิ้นที่บริเวณนี้ก็ทำผลงานได้ต่ำกว่าศักยภาพ ส่วนใหญ่เป็นเพราะระบอบการปกครองจงใจที่จะละเลิกเพิกเฉย และดำเนินนโยบายที่เลวร้ายต่อการเกษตร”

** บังคับให้ชาวนากลับไปอยู่บ้าน **
เวลานี้กำลังมีความเสี่ยงที่ระบอบปกครองทหารชุดนี้ กำลังจะทำให้วิกฤตการณ์ทางมนุษยธรรมและทางเศรษฐกิจยิ่งสาหัสขึ้นไปอีก ด้วยการบังคับชาวนาให้กลับไปยังที่นาของพวกเขาก่อนเวลาอันสมควร พวกเจ้าหน้าที่ยูเอ็นเตือนรัฐบาลชุดนี้เมื่อวันศุกร์(30 พ.ค.)ว่า การบังคับให้เหยื่อผู้ประสบเคราะห์จำนวนนับหมื่นนับแสนกลับไปยังถิ่นที่อยู่ อาจเท่ากับเป็นการเริ่มต้นกระแสคลื่นแห่งความตายระลอกที่สอง จากการที่จะเกิดโรคระบาดตลอดจนชาวบ้านจะถูกทอดทิ้งให้อยู่ในพื้นที่ซึ่งขาดแคลนน้ำดื่มและเสบียงอาหารอันเหมาะสมพอเพียง

พวกเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและอาสาสมัครบรรเทาทุกข์ที่ตั้งฐานอยู่ในพม่า และไปปฏิบัติงานในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีมาเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน แสดงความสงสัยว่าชาวนาจำนวนมากคงไม่สามารถปลูกข้าวฤดูมรสุมของพวกเขาได้ทันเวลา ถึงแม้รัฐบาลกำลังใช้นโยบายบังคับให้กลับถิ่นที่อยู่ก็ตามที

“พวกเขากังวลเกี่ยวกับการเอาชีวิตรอดและการหาอาหารมาให้แก่ครอบครัวของพวกเขา มากกว่าจะต้องการกลับไปยังไร่นาของพวกเขา” เป็นคำบอกเล่าของอาสาสมัครชาวไทยผู้หนึ่ง ซึ่งเพิ่งกลับจากการไปอยู่ในพื้นที่ประสบภัยหนักที่สุดของบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมา 1 สัปดาห์ “ทุกหนทุกแห่งนอกตัวตำบลเมืองน้อยออกไป ไร่นาและทางน้ำต่างเต็มไปด้วยซากสัตว์เน่าเปื่อยและศพคนขึ้นอืด”

นอกจากเรื่องข้าวแล้ว ภาคการผลิตอาหารประเภทอื่นๆ ก็ถูกกระทบกระเทือนหนักทำนองเดียวกัน อาทิ อุตสาหกรรมประมงอันทรงความสำคัญยิ่ง ซึ่งจำนวนมากทีเดียวก็มีฐานอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเช่นกัน ตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรของรัฐบาลผู้หนึ่ง มากกว่าครึ่งของอุตสาหกรรมจับปลาถูกพายุไซโคลนทำลายราบ เขาแจกแจงว่าชาวประมงในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำกว่า 20,000 คนมีรายงานว่าเสียชีวิต และอีก 6,000 คนสูญหายไป

เรือประมงแทบทั้งหมดของประเทศถูกทำลายหรือไม่ก็หายสูญไป เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นหลายรายกล่าวเช่นนี้ ตามสถิติของทางการ ก่อนที่จะถูกพายุไซโคลนโถมกระหน่ำ มีเรือประมงขนาดเล็กประมาณ 26,000 ลำ และขนาดกลางประมาณ 2,000 ลำ ซึ่งออกไปหาปลานอกชายฝั่ง ขณะเดียวกัน บ่อเลี้ยงปลาจำนวนนับหมื่นนับแสนบ่อ ซึ่งเป็นอาหารเสริมและรายได้เพิ่มเติมให้แก่ชาวนา ก็ถูกน้ำเค็มท่วมขังจนใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้

นากุ้งจำนวนมากในบริเวณใกล้นครย่างกุ้งและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี ได้ถูกทำลายไปหรือไม่ก็เสียหายหนักจากพายุไซโคลน นักธุรกิจผู้หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกกุ้งไปยังประเทศไทยเปิดเผยโดยขอให้สงวนนาม “พายุไซโคลนน่าจะทำให้ผลผลิตปีนี้เหลือแค่เพียงเศษเสี้ยวของปีที่แล้ว และจะลดทอนปริมาณสินค้าส่งออกของประเทศลงมาเยอะเลย” ผู้ส่งออกสินค้าประมงชาวพม่ารายนี้กล่าว

สินค้าสัตว์น้ำทั้งจากการจับและการเพาะเลี้ยงในอาณาบริเวณนี้ คิดเป็นประมาณกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสัตว์น้ำที่ผลิตได้จากทั่วประเทศทีเดียว ขณะที่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง อาทิ นากุ้ง, ฟาร์มปู, และฟาร์มปลาเก๋า คิดเป็นประมาณเกือบ 20% ของการผลิตทั้งประเทศ สินค้าทั้งสองส่วนนี้เป็นตัวทำรายได้จากการส่งออกที่สำคัญในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา และถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมไม่กี่อย่างที่มีช่องทางเติบโตขยายตัวได้ในประเทศนี้

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม รัฐบาลพม่าได้ร้องขอเงินจำนวน 11,700 ล้านดอลลาร์จากบรรดาผู้บริจาคระหว่างประเทศ โดยอ้างว่าเพื่อนำไปใช้ในการฟื้นฟูบูรณะและทำให้ประชาชนสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ จวบจนถึงเวลานี้ ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าประชาคมระหว่างประเทศมีความปรารถนาที่จะแบกรับงบประมาณก้อนมหึมาเช่นนี้สักแค่ไหน คำขอของคณะทหารผู้ปกครองพม่าคราวนี้ รวมไปถึงรายการฟื้นฟูอุตสาหกรรมข้าวที่ตั้งงบประมาณไว้ 243 ล้านดอลลาร์ และการทดแทนผลผลิตทางปศุสัตว์เป็นมูลค่า 25 ล้านดอลลาร์ ขณะที่พวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมงให้เป็นปกตินั้น น่าจะต้องใช้เงินสูงกว่าที่คำขอนี้ระบุไว้มาก

สภาพการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้บ่งชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิบัติภัยพายุไซโคลนคราวนี้ อาจจะยิ่งสร้างความหายนะมากกว่าการสูญเสียชีวิตจากพายุ ซึ่งตัวเลขของทางการเวลานี้ประมาณการว่าอยู่ในราว 133,000 คน ถึงแม้มีการประมาณการบางรายให้ตัวเลขสูงกว่านี้มาก พายุไซโคลนลูกนี้จึงกำลังเพิ่มความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจของประเทศที่หนักหน่วงอยู่แล้ว ให้ยิ่งสาหัสขึ้นไปอีก และยิ่งเพิ่มแรงบีบคั้นต่อฐานะการคลังของรัฐบาล

“การนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานและพวกอาหารต่างๆ ซึ่งทั้งหมดต้องนำเข้าด้วยราคาระหว่างประเทศที่สูงมาก แน่นอนเหนือเกินว่าจะต้องเพิ่มขึ้นมา แต่การส่งออกกลับจะตกฮวบลงอย่างน่าใจหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการประมง เรื่องนี้จึงกำลังสร้างแรงกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อฐานะทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของพม่า” เทอร์เนลล์ชี้

ขณะที่การส่งออกพลังงาน อาทิที่ส่งไปยังไทย, อินเดีย, และจีน คาดหมายกันว่าจะไม่ถูกกระทบกระเทือนจากวิบัติภัยพายุไซโคลนคราวนี้ แต่เทอร์เนลล์เห็นว่า เมื่อก่อนรายได้ที่มาจากการขายพลังงานเหล่านี้ได้เคยมาช่วยเติมช่วยพยุงฐานะการคลังของรัฐบาล ทว่าต่อไปในอนาคตรายได้เหล่านี้กลับจะถูกกลบกลืนหายไป ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงยิ่งกว่า ในการนำเข้าบรรดาสิ่งออกอันเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูบูรณะ

เนื่องจากสินค้านำเข้ามีราคาแพงลิ่ว วิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่สาหัสร้ายแรงยิ่งอยู่แล้ว มีหวังจะต้องประสบกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มเข้ามาอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ในช่วงหลายๆ เดือนต่อจากนี้ไป ความทุกข์ยากลำบากของผู้คน จึงกำลังต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ

ลาร์รี จาแกน เคยรายงานข่าวด้านการเมืองพม่าให้แก่ บริติช บรอดคาสติ้ง คอร์ป (บีบีซี) เวลานี้เขาเป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระ ซึ่งพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ

กำลังโหลดความคิดเห็น