เอเอฟพี - คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติมีมติเอกฉันท์ในวันจันทร์ (2) ให้ประเทศต่างๆ มีสิทธิที่จะต่อสู้กับโจรสลัดที่มีอยู่ชุกชุมในบริเวณนอกชายฝั่งของโซมาเลียได้ หลังเกิดเหตุปล้นชิงในน่านน้ำดังกล่าวจนกลายเป็นเขตอันตรายที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง
มีสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางจากกรุงไนโรบีไปยังกรุงจิบูติแจ้งว่าการลงมติดังกล่าวมีขึ้นในวันศุกร์ (30) ที่ผ่านมา หลังจากที่ฝรั่งเศสซึ่งต้องการเน้นให้เห็นว่าปัญหาโจรสลัดนั้นเป็นปัญหาระดับโลก ยอมตกลงตามคำเรียกร้องของอินโดนีเซียที่จะให้ทุกประเทศดำเนินการตอบโต้กับโจรสลัดที่อยู่ในบริเวณนอกชายฝั่งของโซมาเลียเท่านั้น และไม่ได้เป็นการเตรียมการสำหรับใช้กับประเทศอื่นๆ
มติดังกล่าวให้การรับรองสิทธิในการปฏิบัติ "ที่ใช้กับสถานการณ์ในโซมาเลียเท่านั้น" และจะ "ไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นการสร้างธรรมเนียมปฏิบัติของกฎหมายระหว่างประเทศแต่อย่างใด..."
ทั้งนี้ บรรดาทูตจาก 15 ประเทศประจำคณะมนตรีความมั่นคงกำลังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติภารกิจในอัฟริกา และได้พบปะกับผู้แทนของโซมาเลียทั้งจากฟากรัฐบาลและฝ่ายค้านที่กรุงจิบูติ สาธารณรัฐจิบูติ
"ปัญหาโจรสลัดเป็นเรื่องที่เกินกำลังความสามารถที่เราจะเข้าไปจัดการได้" อับดุลลาไฮ ยูซุฟ ประธานาธิบดีของโซมาเลียแถลงต่อบรรดาทูตประจำคณะมนตรีความมั่นคงที่กรุงจิบูติ ก่อนหน้าการลงมติของคณะมนตรีฯ ที่นิวยอร์ก
มติดังกล่าวซึ่งได้มีการเสนอร่างแรกกันตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน มีเป้าหมายในการต่อสู้กับการปล้นเรือเรียกค่าไถ่ในบริเวณน่านน้ำนอกชายฝั่งของโซมาเลีย ซึ่งกำลังเป็นเขตเดินเรือที่อันตรายที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี้เองก็มีเหตุโจรสลัดปล้นเรือถึงสามลำด้วยกัน
นับตั้งแต่การโค่นล้มเผด็จการโมฮัมมัด ไซอาด บาร์ ในปี 1991 เป็นต้นมา โซมาเลียก็ปกครองโดยรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพเรื่อยมา การลักพาตัวและปล้นเรือกลายเป็นแหล่งรายได้ให้อย่างงดงาม และโจรสลัดชาวโซมาเลียส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติต่อผู้ถูกลักพาตัวเป็นอย่างดีโดยคาดหวังว่าจะได้เงินค่าไถ่
มติในวันจันทร์เป็นการรับรองให้ประเทศต่างๆ เข้าไปในน่านน้ำของโซมาเลียและใช้ "วิธีการทุกอย่างที่จำเป็นในการปราบโจรสลัดและการปล้นชิงโดยใช้อาวุธ"