xs
xsm
sm
md
lg

“ฉลาม” ถูกไล่ล่าหนักจนกำลังใกล้สูญพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวประมงเฉือนครีบฉลามเพื่อนำไปขายทำซุปหูฉลาม
เอเอฟพี/บีบีซี - การล่าอย่างไม่บันยะบันยัง โดยส่วนหนึ่งถูกโยนลงไปในหม้อเพื่อปรุงซุปหูฉลาม เมนูจานเด็ดที่เชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะชั้นเยี่ยม ส่งผลให้บรรดาเพชฌฆาตแห่งมหาสมุทรจำนวน 11 สายพันธุ์เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ จากรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ผลการศึกษาครั้งแรกเริ่มที่มุ่งประเมินสถานภาพความเป็นอยู่ของสัตว์จำพวกปลาผิวน้ำจำพวกฉลาม และกระเบนทั่วโลกจำนวน 21 สายพันธุ์ที่อาศัยและหากินบริเวณทะเลเปิดชี้ว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว โดยในจำนวนนี้ เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มแล้วนำมาจัดลำดับการถูกคุกคามพบว่า ปลากระเบนยักษ์เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ส่วนที่เหลืออีก 10 สายพันธุ์ตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ทั้งนี้ จากรายงานที่จะนำไปตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ชื่อ “อนุรักษ์น้ำ : ระบบนิเวศวิทยาในน้ำเค็มและน้ำจืด”

“ถึงแม้จะงัดหลักฐานต่างๆ ขึ้นมาแสดงให้เห็นว่า สัตว์เหล่านี้มีจำนวนลดลงเรื่อย ขณะที่ ภัยคุกคามกลับเพิ่มทุกทีแต่ก็ยังไม่มีมาตรการการจำกัดการล่าปลาฉลามในระดับนานาชาติแต่อย่างใด” ซอนยา ฟอร์ดแฮม นักวิจัยแห่งสถาบันอนุรักษ์มหาสมุทรและพันธมิตรเพื่อปลาฉลาม ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม หนึ่งในคณะผู้เขียนรายงานดังกล่าวบอก

ปลาฉลามขนาดใหญ่สายพันธุ์ต่างๆ จำนวนมากต้องสังเวยเลือดเนื้อให้กับเศรษฐกิจเอเชียที่โตวันโตคืน เนื่องจากซุปหูฉลามเป็นเมนูสุดหรูหราที่จะขาดเสียไม่ได้บนโต๊ะอาหารในงานแต่งงานหรืองานเลี้ยงสังสรรค์ทั่วไป โดย หู หรือความจริงคือ ครีบ ของฉลามเหล่านี้ มักจะถูกเฉือนออกมาขณะที่ปลาฉลามกำลังมีชีวิตอยู่ จากนั้นก็ปล่อยมันทิ้งไว้กับความเจ็บปวด

นอกจากนี้ ผลการศึกษาข้างต้นยังระบุด้วยว่า “การล่าโดยไม่ได้ตั้งใจ” ของบรรดาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประมง นั่นคือ ปลาเหล่านี้ติดอยู่ในอวน โดยที่เรือประมงกำลังมุ่งจับปลาชนิดอื่นๆ อยู่ ก็มีส่วนทำให้ฉลามมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เพชฌฆาตแห่งมหาสมุทรและปลากระเบนยักษ์เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ คือ สัตว์เหล่านี้ต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะถึงวัยเจริญพันธุ์ อีกทั้งยังผลิตลูกหลานได้เพียงน้อยนิด

“เรากำลังจะสูญเสียสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ มากมายมหาศาลกว่าสถิติที่ผ่านมาราว 10-100 เท่า” นิโคลาส ดัลวีย์ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยชิมฟราเซอร์ เมืองแวนคูเวอร์ของแคนาดา หัวหน้าผู้เขียนรายงานฉบับดังกล่าวเสริม

ผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมชิ้นนี้ได้นำไปเสนอบนเวทีการประชุมว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพขององค์การสหประชาชาติครั้งล่าสุด โดยเรียกร้องให้บัญญัติและบังคับใช้มาตรการการจำกัดการล่าฉลามและกระเบนที่อ้างอิงจากหลักฐานและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ พร้อมกันนี้ ยังเรียกร้องให้ยุติการ “ติดหูฉลามตัวเป็นๆ” ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น