โดย Zao Noam
(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
‘All we can do is drink whisky’
By Zao Noam
09/05/2008
อีกครั้งหนึ่งที่ประชาชนพม่าถูกบังคับให้ต่อสู้เผชิญกับภัยพิบัติร้ายแรงด้วยตัวพวกเขาเอง พวกเขารวมตัวกันโดยแทบไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรจากรัฐบาล อาหารและน้ำดื่มกำลังหายากขึ้นเรื่อยๆ โรคร้ายทั้งหลายอันตามหลังหายนภัยกำลังคุกคามใกล้เข้ามา และคาดหมายกันว่าไฟฟ้าจะดับมืดกันไปอีกเป็นแรมเดือน รวมทั้ง “เหล้า” ด้วย ก็จะหมดไปในไม่ช้า
ย่างกุ้ง – ผู้คนในพม่าแทบไม่มีใครเตรียมตัวรับมือกับมหันตภัยระดับโลกาวินาศที่กำลังเคลื่อนใกล้เข้ามาเลย สถานีข่าวของรัฐบาลรายงานตอนคืนวันศุกร์(2)ว่า “มีโอกาส 80%ที่จะเกิดฝนตก” ดูเหมือนไม่มีใครเลยสักคนที่รู้ว่า พายุไซโคลนลูกมหึมากำลังหมุนคว้างอย่างดุร้ายจากอ่าวเบงกอล เคลื่อนเข้าสู่ประเทศพม่า (โดยมุ่งหน้าไปที่รัฐมอญ, รัฐกะเหรี่ยง, รัฐคะยา, และเขตอิรวดี กับเขตย่างกุ้ง) ถึงแม้ผู้คนซึ่งอยู่นอกพม่าได้ทราบล่วงหน้ากันมาหลายวันแล้ว
ภัยพิบัติทั้งหลายที่เรียกกันว่าเป็นภัย “ธรรมชาติ” คือสิ่งที่ระบอบปกครองเผด็จการทหารของพม่าซึ่งแยกตัวโดดเดี่ยวและเชื่อถือไสยศาสตร์อย่างสูง พยายามไม่ไปยุ่งเกี่ยวตลอดจนปกปิดไม่ให้ประชาชนรับรู้ เนื่องจากในทางโหราศาสตร์ ภัยพิบัติสามารถตีความได้ว่าเป็นสัญญาณแสดงถึงการปกครองมีความบกพร่องไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ไม่มีใครเตรียมการรับมือ เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้เตือนหรือวางแผนอะไรไว้เลย
ไม่กี่ชั่วโมงก่อนรุ่งสางวันเสาร์(3) ผู้คนหลายล้านจึงสะดุ้งตื่นขึ้นมาประจันหน้ากับผลลัพธ์ของภัย“ธรรมชาติ” บวกกับการละเลยเพิกเฉยของระบอบปกครองทหารที่ทั้งโดดเดี่ยวและทั้งอันตราย (จนกลายเป็นส่วนผสมที่ออกไปในทางภัยธรรมชาติน้อยลง ทว่าเป็นภัยทางการเมืองมากขึ้น) ผลลัพธ์ดังกล่าวนี้ก็คือ นับถึงตอนเช้าวันศุกร์(9) ทางการพม่าให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตว่าอยู่ที่ 60,000 คนแล้ว (ขณะที่ตัวเลขไม่เป็นทางการพูดกันว่า มีผู้เสียชีวิต 100,000 คน โดยที่มีอีกหลายหมื่นคนยังสูญหายตามหาตัวไม่เจอ), หมู่บ้านและตำบลหลายต่อหลายแห่งถูกลบหายไปจากแผนที่, และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งทางกายภาพและทางการสื่อสาร ก็ขาดสะบั้นไปอย่างสิ้นเชิง
ข่าวภายในประเทศแสดงให้เห็นแต่ภาพของเหล่านายพลออกไปเยี่ยมพวกชาวบ้านซึ่งไร้ที่อยู่ แทนที่จะรายงานเรื่องหมู่บ้านแห่งไหนได้รับความเสียหายหนักที่สุด, มีแผนการอย่างไรในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์, หรือศูนย์พักพิงที่ไหนบ้างสามารถเข้าไปหลบภัยได้ พูดกันอย่างสั้นๆ มันก็เป็นอย่างที่พอจะทำนายล่วงหน้าได้ นั่นคือ รัฐบาลยังแทบไม่ได้ทำอะไรเลย ทั้งเนื่องจากระบบราชการที่อีนุงตุงนังอืดอาดจนขึ้นชื่อ และเนื่องจากการขาดแคลนทรัพยากรและศักยภาพ
ในช่วงสองสามวันหลังจากพายุไซโคลนถล่ม ผู้เขียนไม่ได้เห็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลแม้แต่คนเดียวไม่ว่าที่ไหนก็ตามภายในอาณาบริเวณรอบๆ นครย่างกุ้ง ถนนหนทางส่วนมาก (ทั้งที่เป็นตรอกซอยคับแคนไปจนถึงถนนสายใหญ่) ต่างถูกปิดขวางด้วยต้นไม้ใหญ่อายุนับร้อยปี และเสาไฟฟ้าคอนกรีตที่ล้มลงมา รถโดยสารประจำทางในช่วงแรกๆ ก็ถูกกันไว้ไม่ให้ออกมาวิ่ง ซึ่งทำให้ชาวบ้านได้รับความลำบากในการติดตามตรวจสอบชะตากรรมของบรรดาผู้เป็นที่รักใคร่ห่วงใย จวบจนกระทั่งไม่กี่วันหลังมานี้เอง ทางรถไฟจึงได้รับการเก็บกวาดเศษซากที่กีดขวางอยู่ออกไปบางส่วน แต่ศูนย์คมนาคมขนส่งไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศยังคงใช้การไม่ได้ สายโทรศัพท์เกือบทั้งหมดถูกตัดขาด เช่นเดียวกับกระแสไฟฟ้า พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นครย่างกุ้งตลอดจนเขตและรัฐต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ตกอยู่ในสภาพชะงักนิ่งงันอย่างฉับพลันเมื่อตอนเช้าวันเสาร์
คนพม่าท้องถิ่นแสดงความโกรธเกรี้ยวที่ไม่มีความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์จากรัฐบาลมากันเลย กระนั้นพวกเขาก็ดูราวกับยอมรับโชคชะตา และกระทั่งรู้สึกงุนงงสับสนทีเดียว เมื่อถูกผู้เขียนถามว่ามีใครจะมาช่วยเหลือหรือเปล่า เหมือนกับว่าคำตอบมันชัดเจนอยู่แล้วจนไม่น่าจะต้องถาม ชายผู้หนึ่งที่เพิ่งกลายเป็นคนไร้ที่อยู่ไปหมาดๆ และกำลังเดินเปะปะไปตามถนนใจกลางเมืองซึ่งผู้คนคับคั่ง โบกไม้โบกมือใส่ผมและบอกว่า “ตานฉ่วย (ผู้นำคณะเผด็จการทหาร) ไม่ได้อยู่ที่นี่หรอก ไม่ต้องเสียเวลาหาเลย เขาไปซ่อนตัวอยู่ที่เนย์ปิดอว์(เมืองหลวงใหม่ของพม่า)โน่น” ชาวบ้านอื่นๆ ซึ่งไม่ทราบว่าจะไปหาความช่วยเหลือที่ไหนหรือจะทำอย่างไรดี พากันระบายความทุกข์อย่างกระตือรือร้น “ไม่มีใครสักคนมาที่นี่เพื่อช่วยเหลือพวกเรา ไม่มีใครมาเลย” ผู้หญิงท่าทางยากจนคนหนึ่งร้องสะอื้นไห้อยู่กลางถนนสายนั้น “บ้านฉันพังไปหมดแล้ว ฉันไม่มีเงินเลย ฉันไม่มีอะไรจะกิน แล้วฉันจะทำยังไง” ชายอีกคนหนึ่งซึ่งนุ่งโสร่งเก่าซีด พูดพึมพำด้วยท่าทีที่กำลังกล่าวถึงความเป็นจริงธรรมดาๆ ว่า “ตำรวจไม่ออกมาช่วยพวกเราหรอก”
อันที่จริง ตำรวจได้ออกมากันเป็นจำนวนเล็กๆ ทว่าไม่ใช่มาช่วยชาวบ้าน นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องที่สามารถถกเถียงกันได้อีกว่า หากตำรวจมาช่วยจริงๆ แล้วจะเป็นที่ต้อนรับของประชาชนหรือไม่ เมื่อคิดถึงการปราบปรามอย่างนองเลือดในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คน ทั้งนี้ผู้เขียนได้เห็นขบวนรถตำรวจ 5 ขบวนแล่นผ่านไป ในรถแต่ละคันเต็มไปด้วยตำรวจที่อยู่ในชุดปราบจลาจลพรักพร้อม มีผู้ให้ข้อมูลอีกหลายคนยืนยันว่า ได้เห็นขบวนรถตำรวจปราบจลาจลแล่นผ่านไป บางคนบอกว่ามีรถบรรทุกทหารด้วยซ้ำ
ในตอนนั้น ยังไม่เห็นเลยว่ามีตำรวจทหารออกมาให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่กำลังระทมทุกข์ หรือช่วยทำความสะอาดถนนหนทาง แต่เป็นที่ชัดเจนว่า รัฐบาลตระหนักดีเรื่องที่ตำบลหลายแห่งย่านชานเมืองถูกฤทธิ์พายุถล่มราบ และผู้คนที่รอดชีวิตมาได้อาจจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อ “เสถียรภาพอันสันติสุข” ยิ่งกว่านั้น ยังมีรถกระบะของตำรวจจลาจลอีกหลายคัน จอดกันอยู่ด้านนอกทางเข้าทุกด้านของมหาเจดีย์ชะเวดากอง ซึ่งเป็นสถานที่ตำรวจเข้าปะทะปราบปรามอย่างรุนแรง ต่อการประท้วงอย่างสันติของบรรดาพระสงฆ์เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว จนถึงบดนี้ มหาเจดีย์ชะเวดากองยังคงถูกปิด เพื่อป้องกันไม่ให้มีพื้นที่กลางแจ้งซึ่งอาจเกิดการลุกฮือที่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์
กระทั่งถึงวันที่สี่ภายหลังพายุถล่ม ในที่สุดจึงได้เห็นทหารและตำรวจ (แม้ว่ายังมีจำนวนน้อยมากๆ) ตามท้องถนนสายต่างๆ กำลังช่วยเก็บกวาดเศษซากที่เกลื่อนกลาดจากฤทธิ์พายุ อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือดังกล่าวนี้ส่วนมากจำกัดอยู่เฉพาะตามย่านมั่งคั่งที่สุดของย่างกุ้งเท่านั้น แถมพวกทหารก็ไม่ได้รับการเลี้ยงดูดิบดีอะไรเช่นกัน โดยทหารเหล่านี้หลายคนบ่นว่า ในวันนั้นจนกระทั่งถึงบ่ายแก่ๆ แล้ว พวกเขาก็ยังไม่ได้กินอะไรเลย
**รัฐบาลละทิ้งหน้าที่-ชาวบ้านช่วยตัวเอง**
รัฐบาลพม่ายังคงไม่ได้ให้ความช่วยเหลือใดๆ แก่ผู้คนที่ประสบภัยพิบัติจากพายุไซโคลน ทั้งๆ ที่จำนวนคนซึ่งเดือดร้อนมีมากมายเหลือเกิน และพื้นที่ซึ่งประสบภัยก็ทรงความสำคัญยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะย่างกุ้งเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจของประเทศ ส่วนเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีก็เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของชาติ
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านก็เหมือนจะทราบถึงสถานการณ์เป็นอย่างดี พวกเขาดูราวกับรู้โดยสัญชาตญาณทีเดียวว่าจะยังคงอยู่รอดได้อย่างไรในภาวะเช่นนี้ บางทีอาจจะเป็นเพราะถูกทอดทิ้งไม่เคยได้รับบริการอันเป็นประโยชน์ใดๆ จากรัฐบาลมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ชุมชนต่างๆ หันหน้าเข้ามาร่วมมือกัน ผู้คนช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือนและถนนหนทางในพื้นที่ของตัวเองอย่างดีที่สุดที่จะทำได้ โดยที่อาศัยแต่แรงงานในครอบครัวและบ่อยครั้งเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีก็คือมีดทำครัวที่เอามาใช้ตัดกิ่งไม้ เสาไฟฟ้าที่ล้มลงมาถูกผู้คนช่วยกันลากออกไปไว้ข้างทาง ส่วนต้นไม้ใหญ่ๆ ที่ปิดกั้นถนนก็ค่อยๆ ถูกตัดถูกฟันเป็นท่อนๆ เพื่อให้รถราสามารถเดินทางสัญจรกันได้ใหม่
เพื่อนบ้านต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการซ่อมแซมหลังคาและฝาบ้านที่ถูกลมพายุพัดหายไป และสิ่งที่ต้องถือเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจซึ่งอุบัติขึ้นในย่านที่อยู่อาศัยของคนมั่งมี ก็คือ พวกเจ้าของบริษัทชื่อดังๆ อาทิ เทย์ ซอว์ เศรษฐีทรงอิทธิพลที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับฝ่ายทหาร และเป็นผู้ดำนินการสายการบิน “แอร์พุกาม” กับน้ำดื่ม “ป็อปปา อาควา” ได้ส่งทั้งคนงาน, เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ , ตลอดจนการติดต่อประสานงาน มาช่วยเคลื่อนย้ายต้นไม้ใหญ่ๆ และเสาโทรศัพท์ เพื่อให้ย่านมั่งมีของพวกเขาสามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติ ซึ่งความปีติยินดีให้แก่บรรดาเพื่อนบ้านเป็นอันมาก
มิตรภาพไมตรีจิตอย่างแท้จริงเช่นนี้เอง ทำให้นครย่างกุ้งกลับลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง หรืออย่างน้อยก็ไม่อยู่ในสภาพคุกเข่าลุกไม่ขึ้นอีกแล้ว
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าปฏิบัติการในระดับชุมชนเช่นนี้ยังคงมีความจำกัดมาก คณะผู้นำเผด็จการทหารไม่เคยอนุญาตเปิดทางให้ชุมชนต่างๆ สามารถจัดตั้งรวมตัวกันนอกขอบเขตการควบคุมอย่างใกล้ชิดของพวกเขาเลย ดังนั้น จึงเป็นอุปสรรคร้ายแรงต่อการระดมมวลชนรากหญ้า แบบที่สามารถพบเห็นกันได้ดาษดื่นในประเทศอื่นๆ จำนวนมาก สำหรับในพม่านั้น ระบอบปกครองเผด็จการทหารได้จัดสร้างองค์กรของพวกเขาเอง ซึ่งใช้ชื่อว่า สมาคมเพื่อการพัฒนาด้วยความสมานฉันท์สามัคคี (United Solidarity Development Association หรือ USDA) องค์กรแห่งนี้ทำหน้าที่คอยตรวจสอบควบคุมกิจกรรมต่างๆ แทบทุกอย่างในระดับหมู่บ้าน ทว่าเมื่อต้องรับมือกับสถานการณ์ภายหลังพายุไซโคลน ผลที่เกิดขึ้นก็คือ USDA กลายเป็น MIA (missing in action ทหารที่สูญหายไประหว่างการสู้รบ) โดยที่ชุมชนต่างๆ ก็ยังไม่สามารถเข้าไปเติมเต็มช่องโหว่ที่เกิดขึ้นมา
ในอีกด้านหนึ่ง ภัยพิบัติคราวนี้ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนต่างๆ หลายแห่งอยู่ในสภาพตึงเครียด โดยเฉพาะในพื้นที่ยากจนของย่างกุ้ง โดยมีรายงานบางกระแสระบุว่าชาวบ้านขโมยแผ่นหลังคาสังกะสีของคนอื่นที่ถูกลมพายุพัดปลิวหลุดออกมา ขณะเดียวกัน ราคาแผ่นสังกะสีมุงหลังคาที่ขายกันตามร้านค้า ก็เช่นเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์อย่างอื่นๆ นั่นคือแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทีแรกเป็นสองเท่าตัวของราคาก่อนพายุ แล้วก็กลายมาเป็นกว่าสามเท่าตัว ทำให้คนยากจนต้องอยู่กันไปในบ้านที่ไม่มีหลังคาตลอดจนสิ่งของจำเป็นอื่นๆ ถึงแม้กำลังเป็นช่วงเริ่มต้นฝนฤดูมรสุม
ระหว่างการช่วยกันทำความสะอาดแบบอาสาสมัครของชุมชนแห่งหนึ่ง ชาวบ้านหลายคนได้ออกความคิดเห็นเกี่ยวกับมหันตภัยคราวนี้กับผลกระทบทางการเมืองที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น “ใน(พม่า) รัฐธรรมนูญเป็นของที่นำแต่ความโชคร้ายมาให้” หญิงพม่าสูงอายุผู้หนึ่งบอก เธอพูดโดยพาดพิงถึงการลงประชามติรัฐธรรมนูญที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 10 พฤษภาคม ซึ่งมีการโหมประโคมข่าวกันมากมาย พร้อมๆ กับที่เสียงกล่าวหาเรื่องการบังคับให้ไปลงคะแนน, การข่มขู่และการใช้กลโกงต่างๆ
ตามคำบอกเล่าของหญิงผู้นี้ พายุใหญ่ครั้งสุดท้ายที่กระหน่ำใส่พื้นที่บริเวณนี้ เกิดขึ้นในปี 1974 เพียงไม่นานก่อนที่พม่าจะรับรองรัฐธรรมนูญฉบับก่อน เมื่อพูดกันถึงเรื่องที่ยังมีเวลาที่จะยกเลิกการลงประชามติ ชาวบ้านอีกผู้หนึ่งก็กล่าวเสริมด้วยอารมณ์ขันชวนสยองว่า “พายุมาเร็วไปอาทิตย์นึง” แต่เขาน่าจะเป็นฝ่ายถูก เพราะทหารประกาศแล้วว่าสำหรับส่วนอื่นๆ ของประเทศ จะเดินหน้าจัดการลงประชามติต่อไปตามแผน แต่เฉพาะพื้นที่ซึ่งถูกกระทบอย่างรุนแรงจากพายุนั้น ให้เลื่อนไปออกเสียงกันในตอนปลายเดือนนี้
คนขับรถแท๊กซี่ผู้หนึ่ง (ซึ่งขึ้นราคาค่าโดยสารเป็นสองเท่าตัวของปกติ เนื่องจากราคาน้ำมันแพงลิ่ว แถมยังหายากมากในช่วงหลังเกิดพายุแล้ว โดยเขาเล่าว่าต้องเข้าแถวรออยู่นานถึง 5 ชั่วโมง จึงจะได้น้ำมันปันส่วนสำหรับวันนั้น) ได้พูดถึงเรื่องประจวบเหมาะทางการเมืองที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง “คุณรู้ไหม ในเหตุการณ์ 8-8-88 ในย่างกุ้ง (เหตุการณ์ลุกฮือของประชาชนพม่าเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1988) ทหารยิงใส่ประชาชนและคนตายไปมากมายเลย มาในตอนนี้พายุไซโคลนก็พัดเข้ามาและฆ่าต้นไม้ใหญ่ไปมากมายเหมือนกัน มันก็แบบเดียวกับปี 88 แหละ”
ขณะรับประทานอาหารที่ร้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในไม่กี่แห่งที่ยังคงเปิดร้านอยู่ ลูกค้าคนหนึ่งขยายความเรื่องเหน็บแนมทางการเมืองดังกล่าวนี้พร้อมกับหลิ่วตา “พวก ‘ไม้ใหญ่’ต่างก็ล้มไปหมดแล้ว ยังเหลือแต่ ‘ไม้เล็ก’ ที่รอดมาได้ พวก ‘ไม้เล็ก’ เป็นฝ่ายชนะ น่าสนใจมากเลย ใช่ไหม?”
**ความทุกข์ไม่รู้จบสิ้น**
แม้เผชิญกับมหันตภัยคราวนี้ แต่ชาวเมืองย่างกุ้งดูเหมือนสามารถยืดหยุ่นปรับตัว และมุ่งมั่นที่จะดำเนินชีวิตกันต่อไป อันที่จริงแล้ว พวกเขาก็เคยต้องทำแบบเดียวกันนี้ในระหว่างช่วงเวลาแห่งความไม่สงบและทุกข์ทรมานครั้งก่อนๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับพวกตำบลนอกเมืองและในเขตอิรวดี สถานการณ์เป็นคนละเรื่องไปเลย เพราะไม่มีอะไรหลงเหลือให้บูรณะซ่อมแซมกันขึ้นใหม่ ไม่มีสถานที่ให้ไปและไม่มีอะไรให้กิน กระทั่งในเมืองย่างกุ้งก็เถอะ บางทีความสงบแบบชาวพุทธที่ปรากฏออกมาในรอยยิ้มอันสดใสและไมตรีจิตมิตรภาพ อาจจะกำลังจืดจางลงเต็มทีแล้ว ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ผู้คนส่วนใหญ่จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ หลังจากที่ได้ใช้ส่วนที่ยังเหลืออยู่ไปจนหมดแล้ว
เมื่อไม่มีไฟฟ้าไว้สูบน้ำเพิ่มเติม ผู้คนก็จะไม่สามารถใช้ห้องน้ำหรือหาน้ำมาหุงต้มทำอาหาร ถนนหนทางจะกลายเป็นห้องส้วมสาธารณะขนาดใหญ่ ดังที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วในวันที่สอง ผู้คนยังกลัวกันว่าแก๊สในถังของพวกเขาจะหมดเกลี้ยง ซึ่งจะทำให้พวกเขาทำครัวไม่ได้ น้ำดื่มตามร้านค้าส่วนใหญ่ก็กำลังจะหมดไปเช่นกัน เมื่อผมถามว่าอีกสักกี่อาทิตย์กว่าที่จะมีไฟฟ้าใช้กัน ผมก็ถูกแก้คำถามให้ถูกต้องเสียใหม่อย่างตั้งอกตั้งใจว่า “คุณหมายถึงกี่เดือนใช่ไหม”
เรื่องที่ไร้ความสบายอกสบายใจเหล่านี้ ช่างขัดแย้งตรงกันข้ามกับการที่มนุษย์เงินเดือนบางคน ยังคงไปช็อปปิ้งหาซื้อรองเท้าส้นสูงแปลกๆ ใหม่ๆ, ดอกไม้ที่ประดับตกแต่งอย่างงดงาม, และแผ่นซีดีเถื่อนเพลงคาราโอเกะล่าสุดในตลาด ราวกับว่าการปิดสำนักงานและโรงเรียนเป็นการชั่วคราวในระยะนี้คือโอกาสอันสำราญที่จะได้ออกไปจับจ่ายใช้สอยกันให้เต็มคราบ จริงๆ แล้ว ชาวเมืองทั้งหลายเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะกลับดีขึ้นมาได้ หรือพวกเขากำลังลอยละล่องอยู่ในบรรยากาศของการปฏิเสธไม่ยอมรับรู้ความจริงกันแน่ นี่ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
พนักงานทำงานออฟฟิศชาวพม่าคนหนึ่งร้องขอความเห็นใจเอาไว้ดังนี้ “บ้านไม้หลังเล็กๆ ของดิฉันตอนนี้ไม่เหลือหลังคาเลย พวกเราสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง พวกเราจะทำอะไรได้ล่ะ ไม่มีใครมาช่วยเหลือเลย กรุณาเอาเรื่องราวเหล่านี้ออกไปเผยแพร่นอกพม่าด้วย สิ่งที่พวกเราทำได้ตอนนี้ก็มีแต่นั่งสวดมนตร์ นี่คือทั้งหมดที่พวกเราชาวพม่าสามารถทำได้” วันรุ่งขึ้นบุคคลผู้เดียวกันนี้ถามผมด้วยท่าทีจริงจังที่สุดว่า พื้นที่อื่นๆ ในแถบนี้เป็นอย่างไรกันบ้าง เพราะแทบไม่มีการเสนอข่าวให้ประชาชนทราบกันเลย ระหว่างที่เล่าให้เธอฟัง เธอก็สอบถามว่าเธอจะออกไปจากประเทศในฐานะเป็นผู้ลี้ภัยได้อย่างไร ผมเองนั้นใจยังไม่ถึงพอที่จะบอกกับเธอว่า การเกิดมาในพม่าก็เท่ากับถือตั๋วเที่ยวเดียวเอาไว้อยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ยอมตกลงอนุญาตให้ความช่วยเหลือจากนานาชาติผ่านเข้ามาในประเทศได้บ้าง ซึ่งนับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากแล้วในพม่าที่แสนจะโดดเดี่ยวไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร แต่กระนั้นเรื่องนี้ก็ยังถูกขีดวงอยู่เพียงแค่การยอมรับข้าวของช่วยเหลือฉุกเฉิน ซึ่งน่าจะเข้ามาทางเครื่องบินที่ขนส่งข้าวของได้เพียงจำกัด (ท่าเรือของย่างกุ้งถูกทำลายยับเยิน) โดยที่หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบในการแจกจ่าย อันนับเป็นยุทธศาสตร์ที่ไร้ความหวัง และมีแต่จะกลายเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงขวางกั้นไม่ให้เกิดความช่วยเหลือที่ทรงประสิทธิภาพใดๆ ขึ้นมา ยังต้องคอยดูกันต่อไปว่าเมื่อถึงขั้นตอนของการขนส่งและการแจกจ่ายในทางปฏิบัติแล้ว เรื่องนี้จะทำกันอย่างไร เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือชาวต่างชาติจะได้เข้าไปในพื้นที่ซึ่งเมื่อก่อนเข้าไม่ได้หรือเปล่า, หน่วยงานรัฐบาลหน่วยไหนที่พวกเขาจะต้องทำงานด้วย, และพวกเขาจะได้รับความร่วมมือขนาดไหน
จวบจนถึงเวลานี้ ยังมีเพียงการจัดวางยุทธศาสตร์และการประเมินความต้องการการช่วยเหลืออย่างไม่เป็นทางการ ขององค์กรนอกภาครัฐบาลบางแห่งในย่างกุ้ง ซึ่งกำลังพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะส่งข้าวของฉุกเฉินทั้งหลายไปให้ถึงผู้ประสบภัย เรื่องเงินทุนเพื่อใช้จ่ายในการช่วยเหลือฉุกเฉินนั้น เป็นสิ่งที่กำลังต้องการกันอย่างเหลือเกิน แต่ทว่าในประเทศซึ่งย่ำแย่จากสงครามภายในมายาวนาน ปัญหาเรื่อง “ศักยภาพที่อาจถูกดึงไปใช้ทางอื่น” ยังเป็นโรคประจำตัวอันเรื้อรัง
สิ่งที่กำลังหวาดหวั่นกันก็คือ อีกไม่นานพวกบ่อน้ำดื่มก็จะเหือดแห้ง, อาหารจะถูกปันส่วนน้อยลงจนไม่อาจเลี้ยงดูผู้หิวโหยและผู้ไร้ที่อยู่ได้, ตลอดจนจะเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์และโรคทางเดินอาหารอื่นๆ จากนั้น ชาวบ้านในพื้นที่ชนบทรอบๆ เมืองซึ่งกลายเป็นคนไร้ที่อยู่เพราะกระท่อมของพวกเขาถูกลมพายุพัดหอบหายไป ก็จะเริ่มเคลื่อนทัพเข้าสู่ย่างกุ้ง และทุกๆ คนก็จะสิ้นหวังพร้อมกับโกรธแค้นที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ เลย นี่คือสูตรสำเร็จของสถานการณ์ที่จะนำไปสู่ความพยายามลุกฮือกันขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง ไม่ได้แตกต่างไปจากเมื่อเดือนกันยายน 2007 ซึ่งถ้าหากประวัติศาสตร์ช่วงใกล้ๆ จะสอนอะไรเราได้บ้างแล้ว ก็คงจะเป็นบทเรียนเรื่องการปราบปรามอย่างรุนแรงด้วยกำลังทหาร เวลานี้พวกตำรวจปราบจลาจลรวมพลประจำที่มั่นกันรอบๆ นครย่างกุ้งแล้วเพื่อทำหน้าที่ข่มขู่คุกคาม และชาวเมืองต่างทราบและกลัวเกรงศักยภาพของตำรวจหน่วยนี้
อย่างไรก็ดี บรรยากาศในย่างกุ้งเวลานี้อยู่ในลักษณะเฉยเมยไม่แยแส และคงจะเป็นกันอย่างนี้ไปอีกระยะหนึ่งทีเดียว บางทีอาจจะเป็นเพราะผู้คนในเมืองนี้ได้เรียนรู้มาหลายสิบปีแล้ว ถึงความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างต่อเนื่องจากเหล่าผู้ปกครองของพวกเขา
ชายวัยกลางคน 3 คน ที่กำลังรวมกลุ่มกันอยู่ตรงกองเศษเกลื่อนกลาดของสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเพิงขายก๋วยเตี๋ยวหลังคามุงจาก พากันส่งสัญญาณเรียกผมให้ไปร่วมวงกับพวกเขาบนถนนสายที่รกไปด้วยต้นไม้กิ่งไม้หักโค่น “ผมอยู่ที่นี่แหละตอนที่พายุพัดมา มันน่ากลัวจริงๆ ผมนะไม่เป็นไร แต่ร้านผมพังหมดแล้ว ตอนนี้ผมไม่มีอะไรเหลือแล้ว ดูซี่ ผมไม่มีเงินทองอะไรอีกแล้ว” คนหนึ่งในกลุ่มพูดขึ้นมา พร้อมกันนั้นเขาก็เผยอวดขวดเหล้าพม่าที่ถูกกินไปเกือบหมดขวดแล้วและมีโคลนเกรอะกรังเกาะอยู่ข้างขวด เขายิ้มและบอกว่า “ผมกับเพื่อนๆ ก็เลยกินเหล้า ซึ่งเป็นของอย่างเดียวที่ยังเหลือไว้ให้พวกเรา”
Zao Noam เป็นนักวิจัยซึ่งพำนักอยู่ที่นครย่างกุ้ง เขาเขียนรายงานข่าวชิ้นนี้โดยใช้นามแฝง เพื่อปกปิดตัวเอง
(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
‘All we can do is drink whisky’
By Zao Noam
09/05/2008
อีกครั้งหนึ่งที่ประชาชนพม่าถูกบังคับให้ต่อสู้เผชิญกับภัยพิบัติร้ายแรงด้วยตัวพวกเขาเอง พวกเขารวมตัวกันโดยแทบไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรจากรัฐบาล อาหารและน้ำดื่มกำลังหายากขึ้นเรื่อยๆ โรคร้ายทั้งหลายอันตามหลังหายนภัยกำลังคุกคามใกล้เข้ามา และคาดหมายกันว่าไฟฟ้าจะดับมืดกันไปอีกเป็นแรมเดือน รวมทั้ง “เหล้า” ด้วย ก็จะหมดไปในไม่ช้า
ย่างกุ้ง – ผู้คนในพม่าแทบไม่มีใครเตรียมตัวรับมือกับมหันตภัยระดับโลกาวินาศที่กำลังเคลื่อนใกล้เข้ามาเลย สถานีข่าวของรัฐบาลรายงานตอนคืนวันศุกร์(2)ว่า “มีโอกาส 80%ที่จะเกิดฝนตก” ดูเหมือนไม่มีใครเลยสักคนที่รู้ว่า พายุไซโคลนลูกมหึมากำลังหมุนคว้างอย่างดุร้ายจากอ่าวเบงกอล เคลื่อนเข้าสู่ประเทศพม่า (โดยมุ่งหน้าไปที่รัฐมอญ, รัฐกะเหรี่ยง, รัฐคะยา, และเขตอิรวดี กับเขตย่างกุ้ง) ถึงแม้ผู้คนซึ่งอยู่นอกพม่าได้ทราบล่วงหน้ากันมาหลายวันแล้ว
ภัยพิบัติทั้งหลายที่เรียกกันว่าเป็นภัย “ธรรมชาติ” คือสิ่งที่ระบอบปกครองเผด็จการทหารของพม่าซึ่งแยกตัวโดดเดี่ยวและเชื่อถือไสยศาสตร์อย่างสูง พยายามไม่ไปยุ่งเกี่ยวตลอดจนปกปิดไม่ให้ประชาชนรับรู้ เนื่องจากในทางโหราศาสตร์ ภัยพิบัติสามารถตีความได้ว่าเป็นสัญญาณแสดงถึงการปกครองมีความบกพร่องไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ไม่มีใครเตรียมการรับมือ เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้เตือนหรือวางแผนอะไรไว้เลย
ไม่กี่ชั่วโมงก่อนรุ่งสางวันเสาร์(3) ผู้คนหลายล้านจึงสะดุ้งตื่นขึ้นมาประจันหน้ากับผลลัพธ์ของภัย“ธรรมชาติ” บวกกับการละเลยเพิกเฉยของระบอบปกครองทหารที่ทั้งโดดเดี่ยวและทั้งอันตราย (จนกลายเป็นส่วนผสมที่ออกไปในทางภัยธรรมชาติน้อยลง ทว่าเป็นภัยทางการเมืองมากขึ้น) ผลลัพธ์ดังกล่าวนี้ก็คือ นับถึงตอนเช้าวันศุกร์(9) ทางการพม่าให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตว่าอยู่ที่ 60,000 คนแล้ว (ขณะที่ตัวเลขไม่เป็นทางการพูดกันว่า มีผู้เสียชีวิต 100,000 คน โดยที่มีอีกหลายหมื่นคนยังสูญหายตามหาตัวไม่เจอ), หมู่บ้านและตำบลหลายต่อหลายแห่งถูกลบหายไปจากแผนที่, และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งทางกายภาพและทางการสื่อสาร ก็ขาดสะบั้นไปอย่างสิ้นเชิง
ข่าวภายในประเทศแสดงให้เห็นแต่ภาพของเหล่านายพลออกไปเยี่ยมพวกชาวบ้านซึ่งไร้ที่อยู่ แทนที่จะรายงานเรื่องหมู่บ้านแห่งไหนได้รับความเสียหายหนักที่สุด, มีแผนการอย่างไรในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์, หรือศูนย์พักพิงที่ไหนบ้างสามารถเข้าไปหลบภัยได้ พูดกันอย่างสั้นๆ มันก็เป็นอย่างที่พอจะทำนายล่วงหน้าได้ นั่นคือ รัฐบาลยังแทบไม่ได้ทำอะไรเลย ทั้งเนื่องจากระบบราชการที่อีนุงตุงนังอืดอาดจนขึ้นชื่อ และเนื่องจากการขาดแคลนทรัพยากรและศักยภาพ
ในช่วงสองสามวันหลังจากพายุไซโคลนถล่ม ผู้เขียนไม่ได้เห็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลแม้แต่คนเดียวไม่ว่าที่ไหนก็ตามภายในอาณาบริเวณรอบๆ นครย่างกุ้ง ถนนหนทางส่วนมาก (ทั้งที่เป็นตรอกซอยคับแคนไปจนถึงถนนสายใหญ่) ต่างถูกปิดขวางด้วยต้นไม้ใหญ่อายุนับร้อยปี และเสาไฟฟ้าคอนกรีตที่ล้มลงมา รถโดยสารประจำทางในช่วงแรกๆ ก็ถูกกันไว้ไม่ให้ออกมาวิ่ง ซึ่งทำให้ชาวบ้านได้รับความลำบากในการติดตามตรวจสอบชะตากรรมของบรรดาผู้เป็นที่รักใคร่ห่วงใย จวบจนกระทั่งไม่กี่วันหลังมานี้เอง ทางรถไฟจึงได้รับการเก็บกวาดเศษซากที่กีดขวางอยู่ออกไปบางส่วน แต่ศูนย์คมนาคมขนส่งไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศยังคงใช้การไม่ได้ สายโทรศัพท์เกือบทั้งหมดถูกตัดขาด เช่นเดียวกับกระแสไฟฟ้า พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นครย่างกุ้งตลอดจนเขตและรัฐต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ตกอยู่ในสภาพชะงักนิ่งงันอย่างฉับพลันเมื่อตอนเช้าวันเสาร์
คนพม่าท้องถิ่นแสดงความโกรธเกรี้ยวที่ไม่มีความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์จากรัฐบาลมากันเลย กระนั้นพวกเขาก็ดูราวกับยอมรับโชคชะตา และกระทั่งรู้สึกงุนงงสับสนทีเดียว เมื่อถูกผู้เขียนถามว่ามีใครจะมาช่วยเหลือหรือเปล่า เหมือนกับว่าคำตอบมันชัดเจนอยู่แล้วจนไม่น่าจะต้องถาม ชายผู้หนึ่งที่เพิ่งกลายเป็นคนไร้ที่อยู่ไปหมาดๆ และกำลังเดินเปะปะไปตามถนนใจกลางเมืองซึ่งผู้คนคับคั่ง โบกไม้โบกมือใส่ผมและบอกว่า “ตานฉ่วย (ผู้นำคณะเผด็จการทหาร) ไม่ได้อยู่ที่นี่หรอก ไม่ต้องเสียเวลาหาเลย เขาไปซ่อนตัวอยู่ที่เนย์ปิดอว์(เมืองหลวงใหม่ของพม่า)โน่น” ชาวบ้านอื่นๆ ซึ่งไม่ทราบว่าจะไปหาความช่วยเหลือที่ไหนหรือจะทำอย่างไรดี พากันระบายความทุกข์อย่างกระตือรือร้น “ไม่มีใครสักคนมาที่นี่เพื่อช่วยเหลือพวกเรา ไม่มีใครมาเลย” ผู้หญิงท่าทางยากจนคนหนึ่งร้องสะอื้นไห้อยู่กลางถนนสายนั้น “บ้านฉันพังไปหมดแล้ว ฉันไม่มีเงินเลย ฉันไม่มีอะไรจะกิน แล้วฉันจะทำยังไง” ชายอีกคนหนึ่งซึ่งนุ่งโสร่งเก่าซีด พูดพึมพำด้วยท่าทีที่กำลังกล่าวถึงความเป็นจริงธรรมดาๆ ว่า “ตำรวจไม่ออกมาช่วยพวกเราหรอก”
อันที่จริง ตำรวจได้ออกมากันเป็นจำนวนเล็กๆ ทว่าไม่ใช่มาช่วยชาวบ้าน นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องที่สามารถถกเถียงกันได้อีกว่า หากตำรวจมาช่วยจริงๆ แล้วจะเป็นที่ต้อนรับของประชาชนหรือไม่ เมื่อคิดถึงการปราบปรามอย่างนองเลือดในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คน ทั้งนี้ผู้เขียนได้เห็นขบวนรถตำรวจ 5 ขบวนแล่นผ่านไป ในรถแต่ละคันเต็มไปด้วยตำรวจที่อยู่ในชุดปราบจลาจลพรักพร้อม มีผู้ให้ข้อมูลอีกหลายคนยืนยันว่า ได้เห็นขบวนรถตำรวจปราบจลาจลแล่นผ่านไป บางคนบอกว่ามีรถบรรทุกทหารด้วยซ้ำ
ในตอนนั้น ยังไม่เห็นเลยว่ามีตำรวจทหารออกมาให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่กำลังระทมทุกข์ หรือช่วยทำความสะอาดถนนหนทาง แต่เป็นที่ชัดเจนว่า รัฐบาลตระหนักดีเรื่องที่ตำบลหลายแห่งย่านชานเมืองถูกฤทธิ์พายุถล่มราบ และผู้คนที่รอดชีวิตมาได้อาจจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อ “เสถียรภาพอันสันติสุข” ยิ่งกว่านั้น ยังมีรถกระบะของตำรวจจลาจลอีกหลายคัน จอดกันอยู่ด้านนอกทางเข้าทุกด้านของมหาเจดีย์ชะเวดากอง ซึ่งเป็นสถานที่ตำรวจเข้าปะทะปราบปรามอย่างรุนแรง ต่อการประท้วงอย่างสันติของบรรดาพระสงฆ์เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว จนถึงบดนี้ มหาเจดีย์ชะเวดากองยังคงถูกปิด เพื่อป้องกันไม่ให้มีพื้นที่กลางแจ้งซึ่งอาจเกิดการลุกฮือที่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์
กระทั่งถึงวันที่สี่ภายหลังพายุถล่ม ในที่สุดจึงได้เห็นทหารและตำรวจ (แม้ว่ายังมีจำนวนน้อยมากๆ) ตามท้องถนนสายต่างๆ กำลังช่วยเก็บกวาดเศษซากที่เกลื่อนกลาดจากฤทธิ์พายุ อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือดังกล่าวนี้ส่วนมากจำกัดอยู่เฉพาะตามย่านมั่งคั่งที่สุดของย่างกุ้งเท่านั้น แถมพวกทหารก็ไม่ได้รับการเลี้ยงดูดิบดีอะไรเช่นกัน โดยทหารเหล่านี้หลายคนบ่นว่า ในวันนั้นจนกระทั่งถึงบ่ายแก่ๆ แล้ว พวกเขาก็ยังไม่ได้กินอะไรเลย
**รัฐบาลละทิ้งหน้าที่-ชาวบ้านช่วยตัวเอง**
รัฐบาลพม่ายังคงไม่ได้ให้ความช่วยเหลือใดๆ แก่ผู้คนที่ประสบภัยพิบัติจากพายุไซโคลน ทั้งๆ ที่จำนวนคนซึ่งเดือดร้อนมีมากมายเหลือเกิน และพื้นที่ซึ่งประสบภัยก็ทรงความสำคัญยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะย่างกุ้งเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจของประเทศ ส่วนเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีก็เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของชาติ
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านก็เหมือนจะทราบถึงสถานการณ์เป็นอย่างดี พวกเขาดูราวกับรู้โดยสัญชาตญาณทีเดียวว่าจะยังคงอยู่รอดได้อย่างไรในภาวะเช่นนี้ บางทีอาจจะเป็นเพราะถูกทอดทิ้งไม่เคยได้รับบริการอันเป็นประโยชน์ใดๆ จากรัฐบาลมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ชุมชนต่างๆ หันหน้าเข้ามาร่วมมือกัน ผู้คนช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือนและถนนหนทางในพื้นที่ของตัวเองอย่างดีที่สุดที่จะทำได้ โดยที่อาศัยแต่แรงงานในครอบครัวและบ่อยครั้งเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีก็คือมีดทำครัวที่เอามาใช้ตัดกิ่งไม้ เสาไฟฟ้าที่ล้มลงมาถูกผู้คนช่วยกันลากออกไปไว้ข้างทาง ส่วนต้นไม้ใหญ่ๆ ที่ปิดกั้นถนนก็ค่อยๆ ถูกตัดถูกฟันเป็นท่อนๆ เพื่อให้รถราสามารถเดินทางสัญจรกันได้ใหม่
เพื่อนบ้านต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการซ่อมแซมหลังคาและฝาบ้านที่ถูกลมพายุพัดหายไป และสิ่งที่ต้องถือเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจซึ่งอุบัติขึ้นในย่านที่อยู่อาศัยของคนมั่งมี ก็คือ พวกเจ้าของบริษัทชื่อดังๆ อาทิ เทย์ ซอว์ เศรษฐีทรงอิทธิพลที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับฝ่ายทหาร และเป็นผู้ดำนินการสายการบิน “แอร์พุกาม” กับน้ำดื่ม “ป็อปปา อาควา” ได้ส่งทั้งคนงาน, เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ , ตลอดจนการติดต่อประสานงาน มาช่วยเคลื่อนย้ายต้นไม้ใหญ่ๆ และเสาโทรศัพท์ เพื่อให้ย่านมั่งมีของพวกเขาสามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติ ซึ่งความปีติยินดีให้แก่บรรดาเพื่อนบ้านเป็นอันมาก
มิตรภาพไมตรีจิตอย่างแท้จริงเช่นนี้เอง ทำให้นครย่างกุ้งกลับลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง หรืออย่างน้อยก็ไม่อยู่ในสภาพคุกเข่าลุกไม่ขึ้นอีกแล้ว
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าปฏิบัติการในระดับชุมชนเช่นนี้ยังคงมีความจำกัดมาก คณะผู้นำเผด็จการทหารไม่เคยอนุญาตเปิดทางให้ชุมชนต่างๆ สามารถจัดตั้งรวมตัวกันนอกขอบเขตการควบคุมอย่างใกล้ชิดของพวกเขาเลย ดังนั้น จึงเป็นอุปสรรคร้ายแรงต่อการระดมมวลชนรากหญ้า แบบที่สามารถพบเห็นกันได้ดาษดื่นในประเทศอื่นๆ จำนวนมาก สำหรับในพม่านั้น ระบอบปกครองเผด็จการทหารได้จัดสร้างองค์กรของพวกเขาเอง ซึ่งใช้ชื่อว่า สมาคมเพื่อการพัฒนาด้วยความสมานฉันท์สามัคคี (United Solidarity Development Association หรือ USDA) องค์กรแห่งนี้ทำหน้าที่คอยตรวจสอบควบคุมกิจกรรมต่างๆ แทบทุกอย่างในระดับหมู่บ้าน ทว่าเมื่อต้องรับมือกับสถานการณ์ภายหลังพายุไซโคลน ผลที่เกิดขึ้นก็คือ USDA กลายเป็น MIA (missing in action ทหารที่สูญหายไประหว่างการสู้รบ) โดยที่ชุมชนต่างๆ ก็ยังไม่สามารถเข้าไปเติมเต็มช่องโหว่ที่เกิดขึ้นมา
ในอีกด้านหนึ่ง ภัยพิบัติคราวนี้ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนต่างๆ หลายแห่งอยู่ในสภาพตึงเครียด โดยเฉพาะในพื้นที่ยากจนของย่างกุ้ง โดยมีรายงานบางกระแสระบุว่าชาวบ้านขโมยแผ่นหลังคาสังกะสีของคนอื่นที่ถูกลมพายุพัดปลิวหลุดออกมา ขณะเดียวกัน ราคาแผ่นสังกะสีมุงหลังคาที่ขายกันตามร้านค้า ก็เช่นเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์อย่างอื่นๆ นั่นคือแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทีแรกเป็นสองเท่าตัวของราคาก่อนพายุ แล้วก็กลายมาเป็นกว่าสามเท่าตัว ทำให้คนยากจนต้องอยู่กันไปในบ้านที่ไม่มีหลังคาตลอดจนสิ่งของจำเป็นอื่นๆ ถึงแม้กำลังเป็นช่วงเริ่มต้นฝนฤดูมรสุม
ระหว่างการช่วยกันทำความสะอาดแบบอาสาสมัครของชุมชนแห่งหนึ่ง ชาวบ้านหลายคนได้ออกความคิดเห็นเกี่ยวกับมหันตภัยคราวนี้กับผลกระทบทางการเมืองที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น “ใน(พม่า) รัฐธรรมนูญเป็นของที่นำแต่ความโชคร้ายมาให้” หญิงพม่าสูงอายุผู้หนึ่งบอก เธอพูดโดยพาดพิงถึงการลงประชามติรัฐธรรมนูญที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 10 พฤษภาคม ซึ่งมีการโหมประโคมข่าวกันมากมาย พร้อมๆ กับที่เสียงกล่าวหาเรื่องการบังคับให้ไปลงคะแนน, การข่มขู่และการใช้กลโกงต่างๆ
ตามคำบอกเล่าของหญิงผู้นี้ พายุใหญ่ครั้งสุดท้ายที่กระหน่ำใส่พื้นที่บริเวณนี้ เกิดขึ้นในปี 1974 เพียงไม่นานก่อนที่พม่าจะรับรองรัฐธรรมนูญฉบับก่อน เมื่อพูดกันถึงเรื่องที่ยังมีเวลาที่จะยกเลิกการลงประชามติ ชาวบ้านอีกผู้หนึ่งก็กล่าวเสริมด้วยอารมณ์ขันชวนสยองว่า “พายุมาเร็วไปอาทิตย์นึง” แต่เขาน่าจะเป็นฝ่ายถูก เพราะทหารประกาศแล้วว่าสำหรับส่วนอื่นๆ ของประเทศ จะเดินหน้าจัดการลงประชามติต่อไปตามแผน แต่เฉพาะพื้นที่ซึ่งถูกกระทบอย่างรุนแรงจากพายุนั้น ให้เลื่อนไปออกเสียงกันในตอนปลายเดือนนี้
คนขับรถแท๊กซี่ผู้หนึ่ง (ซึ่งขึ้นราคาค่าโดยสารเป็นสองเท่าตัวของปกติ เนื่องจากราคาน้ำมันแพงลิ่ว แถมยังหายากมากในช่วงหลังเกิดพายุแล้ว โดยเขาเล่าว่าต้องเข้าแถวรออยู่นานถึง 5 ชั่วโมง จึงจะได้น้ำมันปันส่วนสำหรับวันนั้น) ได้พูดถึงเรื่องประจวบเหมาะทางการเมืองที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง “คุณรู้ไหม ในเหตุการณ์ 8-8-88 ในย่างกุ้ง (เหตุการณ์ลุกฮือของประชาชนพม่าเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1988) ทหารยิงใส่ประชาชนและคนตายไปมากมายเลย มาในตอนนี้พายุไซโคลนก็พัดเข้ามาและฆ่าต้นไม้ใหญ่ไปมากมายเหมือนกัน มันก็แบบเดียวกับปี 88 แหละ”
ขณะรับประทานอาหารที่ร้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในไม่กี่แห่งที่ยังคงเปิดร้านอยู่ ลูกค้าคนหนึ่งขยายความเรื่องเหน็บแนมทางการเมืองดังกล่าวนี้พร้อมกับหลิ่วตา “พวก ‘ไม้ใหญ่’ต่างก็ล้มไปหมดแล้ว ยังเหลือแต่ ‘ไม้เล็ก’ ที่รอดมาได้ พวก ‘ไม้เล็ก’ เป็นฝ่ายชนะ น่าสนใจมากเลย ใช่ไหม?”
**ความทุกข์ไม่รู้จบสิ้น**
แม้เผชิญกับมหันตภัยคราวนี้ แต่ชาวเมืองย่างกุ้งดูเหมือนสามารถยืดหยุ่นปรับตัว และมุ่งมั่นที่จะดำเนินชีวิตกันต่อไป อันที่จริงแล้ว พวกเขาก็เคยต้องทำแบบเดียวกันนี้ในระหว่างช่วงเวลาแห่งความไม่สงบและทุกข์ทรมานครั้งก่อนๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับพวกตำบลนอกเมืองและในเขตอิรวดี สถานการณ์เป็นคนละเรื่องไปเลย เพราะไม่มีอะไรหลงเหลือให้บูรณะซ่อมแซมกันขึ้นใหม่ ไม่มีสถานที่ให้ไปและไม่มีอะไรให้กิน กระทั่งในเมืองย่างกุ้งก็เถอะ บางทีความสงบแบบชาวพุทธที่ปรากฏออกมาในรอยยิ้มอันสดใสและไมตรีจิตมิตรภาพ อาจจะกำลังจืดจางลงเต็มทีแล้ว ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ผู้คนส่วนใหญ่จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ หลังจากที่ได้ใช้ส่วนที่ยังเหลืออยู่ไปจนหมดแล้ว
เมื่อไม่มีไฟฟ้าไว้สูบน้ำเพิ่มเติม ผู้คนก็จะไม่สามารถใช้ห้องน้ำหรือหาน้ำมาหุงต้มทำอาหาร ถนนหนทางจะกลายเป็นห้องส้วมสาธารณะขนาดใหญ่ ดังที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วในวันที่สอง ผู้คนยังกลัวกันว่าแก๊สในถังของพวกเขาจะหมดเกลี้ยง ซึ่งจะทำให้พวกเขาทำครัวไม่ได้ น้ำดื่มตามร้านค้าส่วนใหญ่ก็กำลังจะหมดไปเช่นกัน เมื่อผมถามว่าอีกสักกี่อาทิตย์กว่าที่จะมีไฟฟ้าใช้กัน ผมก็ถูกแก้คำถามให้ถูกต้องเสียใหม่อย่างตั้งอกตั้งใจว่า “คุณหมายถึงกี่เดือนใช่ไหม”
เรื่องที่ไร้ความสบายอกสบายใจเหล่านี้ ช่างขัดแย้งตรงกันข้ามกับการที่มนุษย์เงินเดือนบางคน ยังคงไปช็อปปิ้งหาซื้อรองเท้าส้นสูงแปลกๆ ใหม่ๆ, ดอกไม้ที่ประดับตกแต่งอย่างงดงาม, และแผ่นซีดีเถื่อนเพลงคาราโอเกะล่าสุดในตลาด ราวกับว่าการปิดสำนักงานและโรงเรียนเป็นการชั่วคราวในระยะนี้คือโอกาสอันสำราญที่จะได้ออกไปจับจ่ายใช้สอยกันให้เต็มคราบ จริงๆ แล้ว ชาวเมืองทั้งหลายเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะกลับดีขึ้นมาได้ หรือพวกเขากำลังลอยละล่องอยู่ในบรรยากาศของการปฏิเสธไม่ยอมรับรู้ความจริงกันแน่ นี่ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
พนักงานทำงานออฟฟิศชาวพม่าคนหนึ่งร้องขอความเห็นใจเอาไว้ดังนี้ “บ้านไม้หลังเล็กๆ ของดิฉันตอนนี้ไม่เหลือหลังคาเลย พวกเราสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง พวกเราจะทำอะไรได้ล่ะ ไม่มีใครมาช่วยเหลือเลย กรุณาเอาเรื่องราวเหล่านี้ออกไปเผยแพร่นอกพม่าด้วย สิ่งที่พวกเราทำได้ตอนนี้ก็มีแต่นั่งสวดมนตร์ นี่คือทั้งหมดที่พวกเราชาวพม่าสามารถทำได้” วันรุ่งขึ้นบุคคลผู้เดียวกันนี้ถามผมด้วยท่าทีจริงจังที่สุดว่า พื้นที่อื่นๆ ในแถบนี้เป็นอย่างไรกันบ้าง เพราะแทบไม่มีการเสนอข่าวให้ประชาชนทราบกันเลย ระหว่างที่เล่าให้เธอฟัง เธอก็สอบถามว่าเธอจะออกไปจากประเทศในฐานะเป็นผู้ลี้ภัยได้อย่างไร ผมเองนั้นใจยังไม่ถึงพอที่จะบอกกับเธอว่า การเกิดมาในพม่าก็เท่ากับถือตั๋วเที่ยวเดียวเอาไว้อยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ยอมตกลงอนุญาตให้ความช่วยเหลือจากนานาชาติผ่านเข้ามาในประเทศได้บ้าง ซึ่งนับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากแล้วในพม่าที่แสนจะโดดเดี่ยวไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร แต่กระนั้นเรื่องนี้ก็ยังถูกขีดวงอยู่เพียงแค่การยอมรับข้าวของช่วยเหลือฉุกเฉิน ซึ่งน่าจะเข้ามาทางเครื่องบินที่ขนส่งข้าวของได้เพียงจำกัด (ท่าเรือของย่างกุ้งถูกทำลายยับเยิน) โดยที่หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบในการแจกจ่าย อันนับเป็นยุทธศาสตร์ที่ไร้ความหวัง และมีแต่จะกลายเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงขวางกั้นไม่ให้เกิดความช่วยเหลือที่ทรงประสิทธิภาพใดๆ ขึ้นมา ยังต้องคอยดูกันต่อไปว่าเมื่อถึงขั้นตอนของการขนส่งและการแจกจ่ายในทางปฏิบัติแล้ว เรื่องนี้จะทำกันอย่างไร เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือชาวต่างชาติจะได้เข้าไปในพื้นที่ซึ่งเมื่อก่อนเข้าไม่ได้หรือเปล่า, หน่วยงานรัฐบาลหน่วยไหนที่พวกเขาจะต้องทำงานด้วย, และพวกเขาจะได้รับความร่วมมือขนาดไหน
จวบจนถึงเวลานี้ ยังมีเพียงการจัดวางยุทธศาสตร์และการประเมินความต้องการการช่วยเหลืออย่างไม่เป็นทางการ ขององค์กรนอกภาครัฐบาลบางแห่งในย่างกุ้ง ซึ่งกำลังพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะส่งข้าวของฉุกเฉินทั้งหลายไปให้ถึงผู้ประสบภัย เรื่องเงินทุนเพื่อใช้จ่ายในการช่วยเหลือฉุกเฉินนั้น เป็นสิ่งที่กำลังต้องการกันอย่างเหลือเกิน แต่ทว่าในประเทศซึ่งย่ำแย่จากสงครามภายในมายาวนาน ปัญหาเรื่อง “ศักยภาพที่อาจถูกดึงไปใช้ทางอื่น” ยังเป็นโรคประจำตัวอันเรื้อรัง
สิ่งที่กำลังหวาดหวั่นกันก็คือ อีกไม่นานพวกบ่อน้ำดื่มก็จะเหือดแห้ง, อาหารจะถูกปันส่วนน้อยลงจนไม่อาจเลี้ยงดูผู้หิวโหยและผู้ไร้ที่อยู่ได้, ตลอดจนจะเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์และโรคทางเดินอาหารอื่นๆ จากนั้น ชาวบ้านในพื้นที่ชนบทรอบๆ เมืองซึ่งกลายเป็นคนไร้ที่อยู่เพราะกระท่อมของพวกเขาถูกลมพายุพัดหอบหายไป ก็จะเริ่มเคลื่อนทัพเข้าสู่ย่างกุ้ง และทุกๆ คนก็จะสิ้นหวังพร้อมกับโกรธแค้นที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ เลย นี่คือสูตรสำเร็จของสถานการณ์ที่จะนำไปสู่ความพยายามลุกฮือกันขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง ไม่ได้แตกต่างไปจากเมื่อเดือนกันยายน 2007 ซึ่งถ้าหากประวัติศาสตร์ช่วงใกล้ๆ จะสอนอะไรเราได้บ้างแล้ว ก็คงจะเป็นบทเรียนเรื่องการปราบปรามอย่างรุนแรงด้วยกำลังทหาร เวลานี้พวกตำรวจปราบจลาจลรวมพลประจำที่มั่นกันรอบๆ นครย่างกุ้งแล้วเพื่อทำหน้าที่ข่มขู่คุกคาม และชาวเมืองต่างทราบและกลัวเกรงศักยภาพของตำรวจหน่วยนี้
อย่างไรก็ดี บรรยากาศในย่างกุ้งเวลานี้อยู่ในลักษณะเฉยเมยไม่แยแส และคงจะเป็นกันอย่างนี้ไปอีกระยะหนึ่งทีเดียว บางทีอาจจะเป็นเพราะผู้คนในเมืองนี้ได้เรียนรู้มาหลายสิบปีแล้ว ถึงความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างต่อเนื่องจากเหล่าผู้ปกครองของพวกเขา
ชายวัยกลางคน 3 คน ที่กำลังรวมกลุ่มกันอยู่ตรงกองเศษเกลื่อนกลาดของสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเพิงขายก๋วยเตี๋ยวหลังคามุงจาก พากันส่งสัญญาณเรียกผมให้ไปร่วมวงกับพวกเขาบนถนนสายที่รกไปด้วยต้นไม้กิ่งไม้หักโค่น “ผมอยู่ที่นี่แหละตอนที่พายุพัดมา มันน่ากลัวจริงๆ ผมนะไม่เป็นไร แต่ร้านผมพังหมดแล้ว ตอนนี้ผมไม่มีอะไรเหลือแล้ว ดูซี่ ผมไม่มีเงินทองอะไรอีกแล้ว” คนหนึ่งในกลุ่มพูดขึ้นมา พร้อมกันนั้นเขาก็เผยอวดขวดเหล้าพม่าที่ถูกกินไปเกือบหมดขวดแล้วและมีโคลนเกรอะกรังเกาะอยู่ข้างขวด เขายิ้มและบอกว่า “ผมกับเพื่อนๆ ก็เลยกินเหล้า ซึ่งเป็นของอย่างเดียวที่ยังเหลือไว้ให้พวกเรา”
Zao Noam เป็นนักวิจัยซึ่งพำนักอยู่ที่นครย่างกุ้ง เขาเขียนรายงานข่าวชิ้นนี้โดยใช้นามแฝง เพื่อปกปิดตัวเอง