xs
xsm
sm
md
lg

มาเลเซียเล็งใช้บัตร ปชช.ฝังชิป สกัดเพื่อนบ้านย่องซื้อน้ำมันราคาถูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - มาเลเซียเล็งใช้บัตรประชาชนฝังชิปสกัดคนไทย-สิงคโปร์ ย่องซื้อน้ำมันราคาถูกที่ทางการเสือเหลืองใช้มาตรการอุดหนุนเพื่อปกป้องปากท้องประชาชนในประเทศ

แผนการล่าสุดมีขึ้นขณะที่ทางการกัวลาลัมเปอร์กำลังทบทวนมาตรการตรึงราคาเชื้อเพลิง ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้นถึง 43,000 ล้านริงกิต (13,600 ล้านดอลลาร์) ภายในปีนี้หากราคาน้ำมันเคลื่อนไหวอยู่แถวๆ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

มาเลเซียพยายามอย่างมากในการตรึงราคาน้ำมันเบนซิน ดีเซล ก๊าซ ตลอดจนถึงอาหารอีก 21 รายการ ทว่า ราคาที่พุ่งสูงในตลาดโลก ประกอบกับมาตรการควบคุมกลับทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอย่างรุนแรง รวมถึงการลักลอบขนข้ามพรมแดน

ชาห์รีร์ ซาหมัด รัฐมนตรีกระทรวงการค้าภายในและกิจการผู้บริโภคของมาเลเซีย เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ (4) ว่า อาจมีการใช้มาตรการตรวจบัตรประชาชนที่สถานีบริการน้ำมัน เพื่อจำหน่ายน้ำมันราคาถูกให้แก่ชาวมาเลเซียเท่านั้น ส่วนผู้ที่ไม่มีบัตรประชาชน หรืออีกนัยหนึ่งคือชาวต่างชาติ จะต้องซื้อน้ำมันในราคาปกติ

รายงานข่าว ระบุว่า คนสิงคโปร์มักเดินทางข้ามไปยังมาเลเซียเพื่อเติมน้ำมันรถเต็มถังและหาซื้อของชำที่มีราคาถูกกว่าในแดนลอดช่อง นอกจากนั้น ยังมีการลักลอบนำน้ำมันปรุงอาหาร เบนซิน และแป้งข้ามพรมแดนเข้ามาในไทย

ชาห์รีร์ เสริมว่า ทางการกัวลาลัมเปอร์กำลังพัฒนาระบบจัดการการอุดหนุนเพื่อให้มั่นใจว่าเชื้อเพลิงราคาถูกถึงมือคนจน และป้องกันไม่ให้มาตรการช่วยเหลือสูญเปล่า เนื่องจากหากประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ได้ รัฐบาลจะมีงบประมาณเพิ่มเติมที่จะนำไปใช้ในโครงการต่อต้านภาวะเงินเฟ้อ เพื่อดึงราคาและต้นทุนสินค้าให้ต่ำลงสำหรับประชาชนในประเทศ

อนึ่ง วันศุกร์ที่ผ่านมา (3) มาเลเซียประกาศใช้เงิน 2,490 ล้านริงกิตเพื่อเพิ่มผลผลิตอาหาร ท่ามกลางปัญหาอาหารแพงทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ข้าว ที่ปัจจุบันแดนเสือเหลืองผลิตได้ 1.6 ล้านตัน หรือ 70 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น ที่เหลือต้องนำเข้าจากไทยและเวียดนาม

ราคาอาหารที่แพงขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการจลาจลในอียิปต์และเฮติ และการประท้วงในหลายประเทศ ขณะที่บราซิล เวียดนาม อินเดีย และอียิปต์หันมาใช้มาตรการจำกัดการส่งออกข้าว

ความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นในการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ข้อจำกัดทางการค้า ความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นของเอเชีย ผลผลิตการเกษตรตกต่ำ และต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของปัญหาข้าวยากหมากแพงในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น