xs
xsm
sm
md
lg

เงาทะมึนของตอลิบานทาบทาเหนือนาโต้

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

The Taliban’s shadow hangs over NATO
By M K Bhadrakumar
7/04/2008


ภายหลังการประชุมสุดยอดองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) และการพบปะกันระหว่างประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน และประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ทางฝ่ายรัสเซียก็บอกว่า พวกเขา “พ่ายแพ้” โดยที่โครงการโล่ป้องกันขีปนาวุธในยุโรปของทางสหรัฐฯ ตลอดจนการขยายสมาชิกภาพของนาโต้ ยังจะเดินหน้ากันต่อไป ทว่านี่เป็นเพียงม่านควันเท่านั้น เพราะจากการที่มอสโกกำลังตกลงยินยอมให้มีการขนส่งอาหารและสินค้าที่มิใช่ทางทหาร รวมทั้ง “อุปกรณ์ทางทหารบางประเภทที่มิใช่ชนิดร้ายแรงมุ่งหมายเอาชีวิต” ผ่านแดนรัสเซียไปยังอัฟกานิสถาน ก็ทำให้เวลานี้มอสโกมีบทบาทในการปฏิบัติการของนาโต้ในอัฟกานิสถานแล้ว

มันอาจจะดูเหมือนกับว่า ผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ณ กรุงบูคาเรสต์, โรมาเนีย ระหว่างวันที่ 2-4 เมษายน และการหารือกันในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน กับ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่เมืองโซชิ สถานตากอากาศริมทะเลดำ อยู่ในทางเป็นผลดีแก่ฝ่ายวอชิงตัน อย่างน้อยที่สุด พวกนักวิจารณ์ของสื่อต่างๆ ในมอสโก ก็ประเมินกันว่า รัสเซีย “เป็นฝ่ายปราชัย” ในการประชุมซัมมิตนาโต้คราวนี้

แน่นอนทีเดียวว่า ส่วนประกอบของความกระวนกระวายใจได้คืบคลานย่างกรายเข้ามา ซัมมิตบูคาเรสต์และการพบปะที่โซชิ เป็นเหตุการณ์สำคัญในระดับเป็นเส้นแบ่งเขต ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียกำลังมาถึงทางแยก หลังจากนี้แล้ว อาจจะบังเกิดการเผชิญหน้ากันอย่างยาวนานครั้งใหม่ หรือไม่หนทางสู่ความสัมพันธ์ฉันหุ้นส่วนกันก็อาจจะเปิดกว้างออก คณะผู้แทนสหรัฐฯไม่ได้ยอมอ่อนข้ออะไรให้แก่มอสโก คณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช เดินทางไปด้วยท่าทีที่แข็งโป๊ก – “ไม่มีการยื่นหมูยื่นแมวอะไรเลย ไม่มีอะไรมากกว่านี้แล้ว” บุชกล่าวขณะที่เขามุ่งหน้าไปยังบูคาเรสต์ ในด้านหนึ่ง คณะรัฐบาลบุชต้องการสร้างมรดกฝากผลงาน ด้วยการแปรเปลี่ยนนาโต้ให้กลายเป็นพลังทางการเมือง-การทหารที่มีฐานะครอบงำในยุโรปและอยู่ใต้การนำของอเมริกัน ในอีกด้านหนึ่ง คณะรัฐบาลยบุชก็ต้องการบรรลุสิ่งนี้โดยไม่ต้องแตกแยกทั้งกับพันธมิตรในยุโรปของตนและทั้งกับรัสเซีย

มีหนทางเพียง 2 หนทางเท่านั้นที่จะสามารถบรรลุความสมดุลดังกล่าวนี้ได้ หนึ่งคือ ด้วยการผลักดันให้เกิดการผ่าทางตันฝ่าข้ามอุปสรรคอันใหญ่โต และสองคือ ด้วยการดำเนินการประนีประนอมในเชิงยุทธศาสตร์กับรัสเซีย วอชิงตันเลือกที่จะใช้หนทางแรก ทว่ามันเป็นข้อเรียกร้องที่ทำได้ลำบากยากเย็น และในการทำไปตามกระบวนการเช่นนั้น สหรัฐฯก็ต้องประสบความล้มเหลวไม่สามารถผลักดันให้ยูเครนและจอร์เจีย ได้รับอนุมัติให้เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการ “แผนปฏิบัติการเพื่อการเป็นสมาชิกนาโต้” ทว่าก็สามารถงัดแงะจนได้คำมั่นสัญญาจากพวกพันธมิตรนาโต้ว่า เรื่องนี้จะได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณากันอีกครั้งในเดือนธันวาคมนี้

มอสโกคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วถึงผลลัพธ์อย่างนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ เซอร์เก ลาฟรอฟ กล่าวว่า “นี่จะไม่ถูกปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่มีการตอบโต้ แต่เราจะตอบโต้ด้วยวิธิที่มุ่งเล็งผลในทางปฏิบัติ ไม่ใช่แบบเด็กนักเรียนตัวน้อยที่รู้สึกเจ็บปวด แล้วหนีออกจากห้องเรียนปิดประตูดังโครมเพื่อไปร้องไห้ที่มุมๆ หนึ่ง” เขาบ่งบอกเป็นนัยว่าประเด็นนี้ยังไม่ใช่จะจบลงง่ายๆ หรอก “เรากำลังเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นมา ซึ่งได้มีการคาดการณ์กันเอาไว้หลายหลาก” เขากล่าวต่อ

เช่นเดียวกัน การทูตของฝ่ายอเมริกันดูเหมือนเป็นฝ่ายได้คะแนน จากผลสำเร็จอันจับต้องได้ในการทำให้นาโต้ตกลงเห็นพ้องที่จะพิจารณา “ระบบที่แค่เพียงไขน็อต” ก็สามารถเชื่อมต่อกับโล่ป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯที่วางแผนสร้างขึ้นในโปแลนด์และสาธารณรัฐเช็ก ที่ประชุมซัมมิตยังมีมติมอบภารกิจให้นาโต้คิดค้นเสนอแนะทางเลือกต่างๆ สำหรับสถาปัตยกรรมของระบบป้องกันขีปนาวุธอันซับซ้อนรอบด้าน เพื่อขยายให้ครอบคลุมดินแดนและประชากรของบรรดาพันธมิตรทั้งหมด ซึ่งเวลานี้ระบบของสหรัฐฯยังไม่ได้ครอบคลุม ผลการศึกษาจะนำมาให้ทบทวนพิจารณากัน ณ การประชุมสุดยอดปี 2009 ของกลุ่มพันธมิตรนี้ โดยที่บรรดาผู้นำนาโต้บอกด้วยว่า ตระหนักดี “ถึงคุณูปการอันมีสาระสำคัญที่ระบบของสหรัฐฯสามารถเอื้ออำนวยให้”

เมื่อดูจากรูปโฉมภายนอกของถ้อยคำเหล่านี้แล้ว ระบบต่อต้านขีปนาวุธในยุโรป ก็ได้เปลี่ยนฐานะจากความเป็นโครงการของอเมริกันให้กลายมาเป็นโครงการของนาโต้แล้ว เรื่องนี้ย่อมส่งต่อเนื่องเป็นการบ่อนทำลายความสามารถของรัสเซียที่จะคัดค้านโครงการ เพราะถึงตอนนี้ มอสโกจะต้องรับมือกับประชาคมชาติตะวันตกในรูปลักษณ์ของนาโต้เสียแล้ว จริงๆ แล้ว มอสโกกำลังเผชิญทางเลือกอันหนักหนาสาหัสทีเดียว –ถ้าหากไม่หาทางตกลงกับบุชให้ได้ภายในช่วงเวลาแห่งการดำรงตำแหน่งของเขาซึ่งเหลืออยู่ไม่กี่เดือน ก็ต้องเตรียมตัวเผชิญกับแรงกดดันอันหนักหน่วงที่สุดของวุฒิสมาชิก จอห์น แมคเคน (ซึ่งก้าวผงาดขึ้นมากลายเป็นตัวเก็งสำคัญที่สุดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้) พวกตัวเก็งของฝ่ายเดโมแครตก็ใช่ว่าจะดีกว่านี้ ริชาร์ด โฮลบรูก ซึ่งเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่ ฮิลลารี คลินตัน หรือ ซบิกนิว เบรซินสกี ผู้ดูเหมือนจะคอยชี้แนะทีมงานของบารัค โอบามา อยู่หลังฉาก ต่างก็มีมุมมองคล้ายๆ กับแมคเคน ในเรื่องการขบคิดหาทางรับมือกับ “รัสเซียแห่งนักลัทธิกอบกู้ฟื้นคืนฐานะในอดีต”

แหล่งข่าวในเครมลินที่ไม่ได้มีการระบุชื่อรายหนึ่ง ยอมรับ ณ เมืองโซชิว่า ปูตินกับบุชล้มเหลวไม่อาจเอาชนะความแตกต่างกันในเรื่องระบบป้องกันขีปนาวุธได้ ตัวปูตินเองยอมรับระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับบุชที่เมืองโซชิในวันอาทิตย์(6)ว่า “ผมไม่ต้องการปิดบังข้อเท็จจริงที่ว่า ประเด็นปัญหาอันยากลำบากที่สุดประเด็นหนึ่ง เคยได้แก่และเดี๋ยวนี้ก็ยังคงได้แก่ เรื่องระบบขีปนาวุธอเมริกันในยุโรป ... ผมต้องการทำความเข้าใจกันให้ถูกต้องว่า ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้นในท่าทีพื้นฐานของเราต่อแผนการของอเมริกันนี้” จุดที่สำคัญก็คือ ในการตอบสนองต่อคำพูดนี้ของปูติน ถ้อยแถลงของบุชก็ไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาใดๆ ว่าจะขบคิดพิจารณาใหม่ ไม่มีการให้หลักประกันใดๆ ในเชิงรอมชอม

เมื่อเป็นเช่นนี้ หมายความว่ากำลังจะเกิดสงครามเย็นครั้งใหม่หรือ? ปูตินบอกว่า “ไม่” เขาแสดงการมองการณ์แง่ดีแบบระมัดระวังตัวด้วยการกล่าวว่า ยังคงเป็นไปได้ที่จะมีการทำความตกลงกันในเรื่องระบบป้องกันขีปนาวุธ เขายืนยันว่า “มีความก้าวหน้าในเชิงบวกบางประการ ฝ่ายอเมริกันยอมรับฟังความวิตกกังวลของเรา” เขาเชื่อว่าบุชกำลังเสาะแสวงหาทางแก้ปัญหานี้ “อย่างจริงจังและจริงใจ” และ “เราสนับสนุนท่าทีเช่นนี้อย่างเต็มที่”

สิ่งที่ซ่อนเงื่อนสิ่งที่อุบกันเอาไว้อยู่ตรงไหนกันละนี่? เรากำลังพลาดลืมมองอะไรไปหรือเปล่า? คำตอบอาจจะพบได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ในเขตเทือกเขาอันวกวนเวียนในอัฟกานิสถานที่อยู่ไกลโพ้น

ระหว่างที่พวกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกำลังเก็บกวาดบรรดาผู้คนไร้บ้านและสุนัขจรจัด ให้ออกพ้นไปจากบริเวณรอบๆ อาคารรัฐสภาโรมาเนีย อันอัครฐานงามสง่าซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมซัมมิตคราวนี้ พวกเขาไม่ได้สังเกตพบเห็นหรอกว่า ณ ย่านใจกลางกรุงบูคาเรสต์ได้ปรากฏอาคันตุกะผู้หนึ่งซึ่งมีดวงตาถมึงทึงและหนวดเครารุ่มร่าม ผู้อ้อยอิ่งอยู่แต่ในเงามืดตลอดเวลาและคอยจ้องจับตาสิ่งที่กำลังดำเนินการกันอยู่--นี่ก็คือ พวกตอลิบาน

ทันทีที่บรรยากาศแบบละครเรื่องแต่งซึ่งแวดล้อมประเด็นการขยายตัวของนาโต้ตลอดจนระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯจืดจางหายไป ความเป็นจริงก็จะต้องติดตามเข้ามาเช็กมาเบรกอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น นั่นก็คือ คำถามแบบมุ่งมองปัจจุบันเฉพาะหน้า และก็เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นกันได้ชัดๆ อยู่แล้ว ในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติการที่กำลังย่ำแย่ในอัฟกานิสถานของเหล่าพันธมิตรนาโต้

ณ บูคาเรสต์ รัสเซียได้ยื่นเชือกเส้นหนึ่งออกมาให้ความช่วยเหลือ และเหล่าพันธมิตรก็ฉวยคว้าเอาไว้ ขณะที่วอชิงตันแสร้างทำเป็นมองไม่เห็นว่าว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ความสำคัญของสิ่งที่บรรลุข้อตกลงกันในบูคาเรสต์เมื่อวันศุกร์(4)นั้น อาจจะยังไม่ทันเป็นที่ซึมซับกันนัก ข้อตกลงคราวนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการอนุญาตให้ขนส่งอาหารและสินค้าที่มิใช่ทางทหาร รวมทั้ง “อุปกรณ์ทางทหารบางประเภทที่มิใช่ชนิดร้ายแรงมุ่งหมายเอาชีวิต” ข้ามผ่านแดนรัสเซียไปยังอัฟกานิสถาน

บรรดาสัมภาระของนาโต้จะถูกขนส่งเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร ข้ามรัสเซีย, คาซัคสถาน, และอุซเบกิสถาน ถึงแม้ตัวเอกสารซึ่งระบุถึงการขนส่งผ่านแดนนี้ จะลงนามและส่งมอบแลกเปลี่ยนแก่กันและกัน โดย ลาฟรอฟ และ เลขาธิการนาโต้ ยาฟ เดอ ฮูป เชฟเฟอร์ ในพิธีซึ่งจัดขึ้นที่บูคาเรสต์ แต่รัสเซียก็ปฏิบัติต่อเรื่องนี้เสมือนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (ซีเอสทีโอ) หัวข้อนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศซีเอสทีโอ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงมอสโกเมื่อวันที่ 28 มีนาคม “เพราะการขนส่งผ่านแดนไปยังอัฟกานิสถานนั้น เพียงแค่เหตุผลทางภูมิศาสตร์ล้วนๆ ก็ยังเรียกร้องให้ต้องมีการดำเนินการอย่างเหมาะสมกับประเทศจำนวนมากซึ่งเป็นสมาชิกของซีเอสทีโอ” หากจะหยิบยกคำพูดของลาฟรอฟมาอ้างอิงกัน ทั้งนี้ ซีเอสทีโอประกอบด้วย อาร์เมเนีย, เบลารุส, คาซัคสถาน, คีร์กิซสถาน, รัสเซีย, อุซเบกิสถาน, และ ทาจิกิสถาน

ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์กันอย่างถึงที่สุดแล้ว รัสเซียก็กระทำไปโดยมีการปรึกษาหารือและทำไปในนามของบรรดาหุ้นส่วนในซีเอสทีโอ เรื่องนี้มีความนัยหลายประการ ไม่ว่าฐานะของซีเอสทีโอจะเป็นอย่างไรในสายตาของนาโต้ มอสโกก็ไม่ได้ปิดบังเลยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่า สิ่งที่ชี้นำการตัดสินใจของพวกเขาในคราวนี้คือการเล็งถึงผลในทางปฏิบัติโดยแท้ ลาฟรอฟบอกว่า “ถ้าเราแสร้งทำเป็นว่าถูกละเมิดศักดิ์ศรีและพยายามสกัดกั้นการขนส่งผ่านแดนนี้ ประสิทธิภาพของการสู้รบต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ใช่ว่าจะดีอยู่แล้ว ก็จะยิ่งเลวร้ายลงอย่างมากมาย และผลลัพธ์เพียงประการเดียวก็จะมีอยู่ว่า ในเมื่อปราศจากปัจจัยประการหนึ่งที่จะคอยเหนี่ยวรั้งเสียแล้ว พวกนักลักลอบค้ายาเสพติดและผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ก็จะรู้สึกมีเสรีมากขึ้นอีก ในการวางแผนดำเนินปฏิบัติการของพวกเขาในเอเชียกลางและรัสเซีย ... การเล็งผลในทางปฏิบัติและผลประโยชน์ของรัสเซีย เร่งรัดให้เราต้องสนับสนุนบรรดากิจกรรมของผู้ซึ่งกำลังพยายามจัดการกับพวกผู้ก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน”

ทว่ามันมีอะไรมากกว่านี้อีกใน “การเล็งผลในทางปฏิบัติ” ของมอสโก เอกอัครราชทูตรัสเซียในกรุงคาบูล ซามีร์ คาบูลอฟ กล่าวกับหนังสือพิมพ์ วเรมยา โนโวสเทย์ ไว้ดังนี้ “ยิ่งนาโต้อยู่ในอัฟกานิสถานนานเท่าใด มันก็จะยิ่งเป็นเรื่องเลวร้ายสำหรับพวกเขามากขึ้นเท่านั้น ทว่ามันจะเป็นการไม่ถูกต้องเลยที่จะจินตนาการไปว่า รัสเซียต้องการให้นาโต้ออกจากอัฟกานิสถานโดยเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้ และไม่ว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายขนาดไหน แท้ที่จริงแล้ว เราจะไม่ยอมปล่อยให้พวกเขาออกจากอัฟกานิสถานจนกว่าพวกเขาจะได้แก้ไขปัญหาที่พวกเขาสร้างขึ้นมา – นั่นคือ การก่อการร้ายสากล, การลักลอบค้ายาเสพติดที่เพิ่มขึ้นโดยไม่มีการทัดทาน –และสร้างรัฐอันแข็งแรงขึ้นที่นั่น และสร้างเศรษฐกิจที่นั่นขึ้นมาใหม่”

นั่นจึงกล่าวได้ว่า รัสเซียจะให้การสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุงทุกอย่างแก่นาโต้ ตราบเท่าที่พันธมิตรนาโต้สามารถรวบรวมความมุ่งมั่นตั้งใจในการหลั่งเลือดตัวเองจนกระทั่งขาวซีดในอัฟกานิสถาน สมการอันน่าทึ่งกำลังพัฒนาขึ้นมาแล้วซึ่งอาจเป็นตัวตัดสินความลงตัวของความสัมพันธ์ที่รัสเซียจะมีกับนาโต้ในหลายๆ ปีต่อจากนี้ไป ไม่ว่าวอชิงตันจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม ข้อตกลงการขนส่งผ่านแดนคราวนี้ ทำให้รัสเซียมีบทบาทในปฏิบัติการของนาโต้ในอัฟกานิสถาน ความสำคัญยิ่งยวดของบทบาทนี้มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ในเมื่อการขนส่งผ่านดินแดนของปากีสถาน ซึ่งนาโต้กำลังต้องพึ่งพาอย่างมากมายเหลือเกิน –ณ เวลานี้คาดกันว่าอยู่ในระดับเกิน 70% -กำลังกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีความยั่งยืนยิ่งขึ้นทุกทีๆ

ฝ่ายข่าวกรองของรัสเซียและนาโต้ย่อมต้องรับรู้อยู่แล้วว่า ตอลิบานกำลังเริ่มพุ่งเป้าหมายไปยัง ตอร์กัม ด่านตรวจอันทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ตรงพรมแดนอัฟกานิสถาน-ปากีสถาน ซึ่งก็เป็นปากทางหลักของขบวนลำเลียงสัมภาระต่างๆ ไปส่งให้แก่กองกำลังของพันธมิตรนาโต้ในอัฟกานิสถาน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ขบวนรถน้ำมัน 40 คันที่จะไปส่งให้กองกำลังนาโต้ ได้ถูกทำลายจากการระเบิดเป็นชุดในบริเวณลานจานรถที่ตอร์กัม ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ตอลิบานต้องถือว่า สัมภาระและระบบการส่งกำลังบำรุงของนาโต้ คือจุดอันตรายที่อาจทำให้ตนถึงแก่ชีวิต ขณะเดียวกัน เจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยในปากีสถาน ที่จะยังคงเป็นพันธมิตรอยู่ใน “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” อย่างหนักแน่นมั่นคงแค่ไหน ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องรอดูกันต่อไป

เมื่อนำเอาเรื่องนี้บวกเข้าไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาทั้งหมด ก็ย่อมจะเห็นได้ว่า ความรู้สึกปีติยินดีต่อชัยชนะของคณะรัฐบาลบุชจากการประชุมซัมมิตนาโต้ที่บูคาเรสต์ กำลังจะกลายเป็นสิ่งที่มีอายุสั้น นาโต้จะสามารถทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากความยุ่งเหยิงอันมโหฬารในอัฟกานิสถานได้อย่างไร เป็นคำถามที่ยังคงเปิดกว้างมาก การโจมตีต่อกองทหารนาโต้เวลานี้กำลังเกิดขึ้นด้วยอัตรา 500 ครั้งต่อเดือน แม้จะได้ปล่อยหมัดหนักระดับเฮฟวีเวตทั้งหลายทั้งปวงในที่ประชุมสุดยอดบูคาเรสต์ ทว่าวอชิงตันก็ประสบความล้มเหลวที่จะได้รับกำลังทหารเพิ่มขึ้นเป็นเนื้อเป็นหนังจากเหล่าพันธมิตรนาโต้ของตน

คำมั่นสัญญาของฝรั่งเศส, อังกฤษ, โปแลนด์, สเปน, โรมาเนีย, และชาติอื่นๆ รวมกันแล้วก็เป็นจำนวนระหว่าง 2,000 ถึง 2,500 คน ทั้งนี้ตามคำแถลงของทำเนียบขาว แต่พวกผู้บังคับบัญชาทหารในอัฟกานิสถานบอกว่า พวกเขาต้องการได้กำลังทหารในระยะเฉพาะหน้านี้เลยถึงราว 2 หรือ 3 กองพลน้อย อันเท่ากับทหารราว 10,000 คน ส่วนที่ยังขาดอยู่นี้สหรัฐฯจะต้องเป็นผู้เข้ามาเติมเต็ม

โฆษกของสหรัฐฯพยายามตีหน้ากล้าหาญ โดยกล่าวอ้างว่า “ไม่ว่าสถานการณ์ในอิรักจะเป็นเช่นใด” วอชิงตันก็มีความมุ่งมั่นผูกพันกับอัฟกานิสถานอย่างเป็นระยะยาว ทว่าแล้วมันก็ยังมีอีกด้านหนึ่งของเรื่องนี้ –นั่นคือ การขาดแคลนด้านการเงิน ปฏิบัติการต่างๆ เวลานี้ทำให้ชาวอเมริกันผู้เสียภาษีต้องเสียเงินไป 100 ล้านดอลลาร์ต่อวัน ซึ่งคำนวณแล้วเท่ากับ 36,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี สหรัฐฯยังไม่ได้เข้าใกล้ปลายอุโมงค์เลย หลังจากใช้จ่ายไปแล้ว 127,000 ล้านดอลลาร์ในสงครามในอัฟกานิสถานตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา

ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด กระดานหมากรุกทางการเมืองยังกำลังมีการแปรเปลี่ยนอย่างน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง ข้อเสนอของประธานาธิบดี อิสลาม คาริมอฟ แห่งอุซเบกิสถาน ณ กรุงบูคาเรสต์ ที่ให้ฟื้นชีพกลุ่ม “หก+สอง” คือการตอกย้ำถึงสิ่งนี้ เรื่องที่ประหลาดและน่าขันก็คือ “หก+สอง”ก่อตั้งขึ้นในช่วงปี 1997-2001 ภายใต้การอุปถัมภ์ของสหประชาชาติ เพื่อส่งเสริมการปรองดองกันระหว่างตอลิบานกับพวกกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือ กลุ่มนี้ประกอบด้วย จีน, ทาจิกิสถาน, อุซเบกิสถาน, เตอร์เมนิสถาน, อิหร่าน, และปากีสถาน บวกกับสหรัฐฯและรัสเซีย

คาริมอฟแนะนำให้ขยายรูปแบบของ “หก+สอง” โดยรวมเอานาโต้เข้าไว้ด้วย และให้กลุ่มนี้ทำงานวางโรดแมปที่อาจเป็นไปได้เพื่อนำไปสู่สันติภาพในอัฟกานิสถาน น่าสนใจมากที่ว่า ขณะที่เขากำลังปราศรัยต่อบรรดาผู้นำนาโต้ในบูคาเรสต์นั้นเอง โฆษกผู้หนึ่งของกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือในอดีตกาล ก็ได้เปิดเผยที่กรุงคาบูลว่า พวกเขาได้ดำเนินการเจรจาลับกับพวกตอลิบานเรียบร้อยแล้ว “เราทั้งสองฝ่ายต่างเป็นคนมุสลิม เราทั้งสองฝ่ายต่างเป็นชาวอัฟกัน และเราทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่พอใจกับผลงานของรัฐบาล[คาบูล]” รายงานข่าวอ้างคำพูดของเขา ทั้งนี้เขากำลังบ่งชี้เป็นนัยว่านาโต้คือฝ่ายที่อยู่วงนอกนั่นเอง

ข้อเสนอของคาริมอฟน่าจะเป็นที่สนใจของประเทศสมาชิกนาโต้จำนวนมาก ซึ่งยังคงสงสัยข้องใจต่อสิ่งที่เรียกกันว่า “ยุทธศาสตร์รอบด้าน” ของสหรัฐฯในสงครามคราวนี้ และมีความโน้มเอียงที่จะสำรวจยุทธศาสตร์ที่จะเป็นทางออกจากสงคราม (หนังสือพิมพ์แดร์ สปิเกลรายงานว่า มีเอกสารของเยอรมนีชิ้นหนึ่งสรุปเค้าโครง “ยุทธศาสตร์ออกจากสงคราม” ซึ่งพิจารณากันในการอภิปรายถกเถียงกันเป็นการภายในที่กรุงบูคาเรสต์) ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม วอชิงตันจะต้องโกรธกริ้วต่อข้อเสนอของอุซเบกิสถาน ซึ่งบ่งบอกเป็นนัยให้รับฟังเสียงของพวกประเทศเอเชียกลาง (รวมทั้งรัสเซียและจีน) ในสงครามในอัฟกานิสถานของนาโต้

เป็นเรื่องแน่นอนเลยว่ามอสโกก็กำลังติดตามเรื่องนี้อย่างขะมักเขม้น รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศรัสเซีย อเล็กซานเดอร์ กรุชโก บอกสำนักข่าวอินเทอร์แฟกซ์ในกรุงมอสโกสัปดาห์ที่แล้วว่า รัสเซียมีความปรารถนาที่จะเพิ่มความร่วมมือกับนาโต้ในเรื่องอัฟกานิสถานให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทว่าสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น “ถ้าหากผลประโยชน์ด้านความมั่นคงอันชอบด้วยกฎหมายของแต่ละฝ่าย มิได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณากัน” เขากล่าวต่อไปด้วยถ้อยคำซึ่งชั่งน้ำหนักเอาไว้อย่างดี “ไม่มีการยื่นหมูยื่นแมวใดๆ ทั้งสิ้น และมันก็ไม่สามารถที่จะทำอย่างนั้นได้ด้วย”

ข้อตกลงการขนส่งผ่านแดนของรัสเซีย อาจดูเหมือนเกี่ยวข้องเพียงแค่อาหารและสินค้าที่มิใช่ทางทหารของนาโต้เท่านั้น แต่ก็เป็นอย่างที่ทหารในบทละครเรื่อง “Arm and the Man” ของ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ จะต้องพูดว่า ช็อกโกแลตนั้นมีความสำคัญยิ่งกว่ากระสุนปืน กรุชโกมีเหตุผลอยู่หรอกที่จะคาดหมายว่าบรรดาสมาชิกทางยุโรปของนาโต้ –และกระทั่งวอชิงตันเอง –ในที่สุดแล้วจะซาบซึ้งในไมตรีจิตของรัสเซีย จนกว่าสิ่งนั้นจะบังเกิดขึ้น มอสโกก็จะยังไม่รีบสรุปว่าใครชนะและใครแพ้ในซัมมิตที่บูคาเรสต์

เอ็ม เค ภัทรกุมาร รับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียมากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ อาทิ เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และประจำตุรกี (1998-2001)
กำลังโหลดความคิดเห็น