เอเอฟพี - ศาลอินโดนีเซียวันนี้ (27) ชำระคดีความอดีตประธานาธิบดี ซูฮาร์โต ผู้ล่วงลับ ในคำฟ้องคดีคอร์รัปชัน แต่ได้สั่งมูลนิธิของเขาจ่ายเงินชดใช้รัฐบาลมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์
รัฐบาลอินโดนีเซีย พยายามทวงคืนทรัพย์สินและความเสียหายรวมมูลค่ากว่า 1,400 ล้านดอลลาร์ (ราว 43,000 ล้านบาท) จากซูฮาร์โต และ มูลนิธิซูเปอร์เซมาร์ ของเขา ในข้อกล่าวหาอดีตผู้นำจอมเผด็จการรายนี้ฉ้อโกงเงินหลวงไปหลายล้านดอลลาร์
คณะผู้พิพากษา กล่าวว่า ทั้ง ซูฮาร์โต และ มูลนิธิซูเปอร์เซมาร์ ของเขา มีส่วนร่วมใน “พฤติกรรมที่ละเมิดกฎหมาย” แต่ได้ชำระคดีอดีตผู้นำโดยให้เหตุผลว่าเขาดำเนินการในฐานะประธานของมูลนิธิ
พวกเขา กล่าวว่า ซูฮาร์โต ซึ่งมีตัวแทนในคดี คือ ลูกทั้ง 6 คน ไม่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดโดยตรง “จำเลยแรก (ซูฮาร์โต) ถูกชำระ แต่ทางกองทุนซูเปอร์เซมาร์ จำเลยที่สอง ต้องจ่ายค่าเสียหายบางส่วน (ที่ถูกร้องโดยรัฐบาล)” ผู้พิพากษาบอก
ผู้พิพากษา บอกต่อว่า “จำเลยที่ 2 (ซูเปอร์เซมาร์) มีส่วนร่วมในพฤติกรรมละเมิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นพวกเขาต้องจ่ายค่าเสียหาย”
ซูฮาร์โต เสียชีวิตในเดือนมกราคม โดยไม่เคยถูกนำตัวเข้ารับการพิจารณาคดีคอร์รัปชันระหว่างครองอำนาจในอินโดนีเซียนานกว่า 3 ทศวรรษ ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวและคนสนิทของเขา
การฟ้องร้องดำเนินคดีต่อซูฮาร์โต ซึ่งลงจากเก้าอี้ประธานาธิบดีในปี 1998 หลังการประท้วงครั้งใหญ่ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ในส่วนหนึ่งของความพยายามนำตัวเขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ขณะที่คดีอาญาที่มีต่อเขาถูกทิ้งไปเมื่อปี 2006 เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพของอดีตผู้นำ
ลูกชายของซูฮาร์โต นายฮูโตโม “ทอมมี่” แมนดาลา ปูตรา ซูฮาร์โต และพี่น้องอีก 5 คน เข้าควบคุมกิจการขนาดใหญ่ของอินโดนีเซีย ระหว่าง ซูฮาร์โต เรืองอำนาจกว่า 32 ปี
โดยลูกๆ ของซูฮาร์โต ถูกกล่าวหาว่า ใช้สายสัมพันธ์ทำสัญญาและเรียกร้องเงินสินบน
การดึงครอบครัวมาชดใช้หนี้ คือ กุญแจในการลดวัฒนธรรมละเว้นโทษ และคอร์รัปชันอันครึกโครมในอินโดนีเซีย ซึ่งทั้ง 2 อย่างดูเหมือนเป็นมรดกจากยุคสมัยของซูฮาร์โต
ยังไม่มีท่าทีตอบกลับมาจากลูกๆ ของซูฮาร์โต ซึ่งภายใต้กฎหมายอินโดนีเซีย พวกเขาอาจตกเป็นจำเลยในฐานะที่เป็นทายาทของซูฮาร์โต โดยพวกเขาไม่ได้อยู่ที่ศาลขณะมีคำพิพากษา
ทั้งนี้ ถ้าพบว่า ซูฮาร์โต มีความผิด ค่าเสียหายทุกอย่างจะได้รับการชดเชยจากมรดกของเขา แต่ทางคณะผู้พิพากษากล่าวโทษมูลนิธิของซูฮาร์โต
ศาลได้สั่งให้มูลนิธิซูเปอร์เซมาร์ จ่ายค่าเสียหายให้กับรัฐบาล 105.7 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,200 ล้านบาท) และอื่นๆ อีก 5 ล้านดอลลาร์ (ราว 155 ล้านบาท) ขณะที่ทางทนายความของมูลนิธิเปิดเผยว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อไป