เอเอฟพี – ประธานาธิบดีคาสโตรของคิวบาซึ่งกำลังป่วย ประกาศไม่ขอรับตำแหน่งผู้นำประเทศอีกต่อไปในวันนี้ (19) ซึ่งนับเป็นการสิ้นสุดการปกครองประเทศด้วยกฎเหล็กมาอย่างยาวนานถึง 5 ทศวรรษของผู้นำที่ประกาศตัวเป็นปรปักษ์กับสหรัฐฯ ตลอดช่วงที่ผ่านมา
ประธานาธิบดีฟิเดล คาสโตรของคิวบา วัย 81 ปี กล่าวในแถลงการณ์ว่า เขาจะไม่รับตำแหน่งประธานาธิบดีคิวบาอีกต่อไป
“ผมไม่ปรารถนาที่จะเป็นและไม่ขอรับตำแหน่งนี้ ผมขอย้ำว่าผมไม่ปรารถนาที่จะเป็นและไม่ขอรับตำแหน่งประธานสภาแห่งรัฐและผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกต่อไป” คาสโตรกล่าวหลังล้มป่วยมานานเกือบ 19 เดือน ก่อนที่จะแต่งตั้งราอูล น้องชายของเขาให้เป็นผู้รักษาการตำแหน่งดังกล่าว
ก่อนหน้านี้คาสโตรเคยกล่าวว่า เขาจะไม่มีวันเลิกเล่นการเมือง แม้ว่าอาการป่วยในช่วงที่ผ่านมาจะทำให้เขาต้องเก็บตัวอยู่ในบ้านพักในช่วงหลายเดือนสุดท้ายของการนั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศก็ตาม
ทั้งนี้เมื่อเดือนที่แล้ว ราอูลออกมาระบุว่า สมัชชาแห่งชาติจะเลือกประธานาธิบดีคิวบาคนต่อไปในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าพี่ชายของเขาอาจไม่ได้รับเลือกให้นั่งเก้าอี้ดังกล่าวเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี
ริคาร์โด อาลาร์คอน ประธานสมัชชาแห่งชาติคิวบา กล่าวก่อนหน้านี้ว่าหากอาการป่วยของคาสโตรดีขึ้นและได้รับเลือกอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเขาว่าจะยังเป็นประธานาธิบดีต่อไปหรือไม่
นักวิเคราะห์บางคน คาดว่า ราอูลน่าจะได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่อย่างถาวรแทนพี่ชายของเขา หรืออาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกคนหนึ่งที่จะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งนี้แทน ขณะที่น้อยคนมองว่า คาสโตรจะยังนั่งในตำแหน่งผู้นำประเทศต่อไป
อย่างไรก็ตามแม้ว่าคาสโตรจะมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว แต่นักสังเกตการณ์หลายราย มองว่า เขาไม่น่าจะสามารถกลับมาบริหารประเทศเหมือนในอดีตได้
ขณะที่นักวิเคราะห์บางคน เชื่อว่า คาสโตรอาจนั่งในตำแหน่งผู้นำรัฐ โดยเป็นผู้กุมบังเหียนอยู่เบื้องหลัง และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงเป็นผู้บริหารงานแทนเขาในแต่ละวัน
คาสโตร นักปฏิวัติคนสำคัญของคิวบา ซึ่งโค่นล้มอำนาจเผด็จการของฟูลเกนชิโอ บาติสตา และก้าวขึ้นเป็นผู้นำคิวบาเมื่อปี 1959 ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการเปลี่ยนคิวบาจากเกาะเล็กๆ ให้เป็นประเทศที่กล้าต่อกรกับสหรัฐฯ ชาติมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ รวมถึงสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ได้สำเร็จตลอดช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการถูกลอบสังหาร การบุกคิวบาโดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้หนุนหลัง และมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ