เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของออสเตรเลีย เควิน รัดด์ มุ่งหมายที่จะเปิดประวัติศาสตร์ยุคสดใสแห่งความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติอันขรุขระในประเทศของเขาในวันนี้ (12) ด้วยการกล่าวคำขอขมาโทษสำหรับ"การถูกหมิ่นศักดิ์ศรีและความอับอายขายหน้า" ที่ชาวอะบอริจินส์พื้นถิ่นได้รับมาในอดีต
รัดด์ส่งสัญญาณแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงในอารมณ์ความรู้สึกที่เมืองหลวงแคนเบอร์ราตั้งแต่วานนี้ (11) เมื่อเขาเชื้อเชิญเหล่าผู้อาวุโสของชาวอะบอริจินส์ ให้ประกอบพิธีต้อนรับรัฐบาลแนวกลาง-ซ้ายของเขาที่รัฐสภาแห่งชาติ ก่อนหน้าที่คณะรัฐบาลจะทำพิธีสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งต่อผู้สำเร็จราชการแทนสมเด็จพระราชินี ทั้งนี้นับเป็นการจัดพิธีเช่นนี้ในรัฐสภาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์แดนจิงโจ้
ต่อจากนั้น เขาได้เปิดเผยเนื้อหาของคำขอขมาอย่างเป็นทางการ ที่เขาเตรียมจะกล่าวต่อรัฐสภาในวันนี้ เนื้อหาของคำขออภัยนี้เป็นที่สนใจติดตามกันมาก และสิ่งที่เผยออกมาก็ปรากฏว่าใช้ถ้อยคำอันหนักแน่นยิ่งกว่าที่เคยคาดหมายกันไว้ในตอนแรกด้วยซ้ำ
การขอขมานี้กำลังถูกจับตามองว่าเป็นเสมือนเส้นแบ่งยุคสมัยในออสเตรเลีย โดยที่บรรดาเครือข่ายโทรทัศน์ใหญ่ๆ ต่างเตรียมถ่ายทอดออกอากาศกันสดๆ นอกจากนั้นยังมีการตั้งจอมอนิเตอร์ยักษ์ตามเมืองใหญ่ๆ เพื่อให้ฝูงชนได้ติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด
ในเนื้อหาคำขออภัยที่รัดด์เปิดเผยนั้น เขาระบุถึง "การปฏิบัติโดยมิชอบในอดีต" ต่อชาวอะบอริจินส์ทั้งมวล ไม่เพียงเฉพาะต่อลูกหลานของชาวอะบอริจินส์ ที่ได้ถูกทางการออสเตรเลียบังคับแยกพรากจากครอบครัว เพื่อนำไปเลี้ยงดูในครอบครัวคนผิวขาว ชาวอะบอริจินส์เหล่านี้เป็นที่รู้จักกันในนาม "Stolen Generation" (คนรุ่นที่ถูกขโมย) และเป็นต้นตอแรงบันดาลใจให้รัฐบาลกลาง-ซ้ายคิดที่จะทำพิธีขอขมาคราวนี้
"เราขออภัยสำหรับบรรดากฎหมายและนโยบาย ของรัฐสภาและรัฐบาลชุดต่างๆ สืบต่อเนื่องกันมา ซึ่งก่อให้เกิดความระทมทุกข์, ความเจ็บปวด, และความสูญเสียอันล้ำลึกต่อพี่น้องชาวออสเตรเลียของเราเหล่านี้" รัดด์จะกล่าวปราศรัยต่อรัฐสภาเช่นนี้ ตามเนื้อหาที่นำมาเปิดเผยตั้งแต่เมื่อวาน
แต่เขาก็ไม่ลืมที่จะระบุเจาะจงถึง "คนรุ่นที่ถูกขโมย" ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ เลือดผสม ที่ถูกพรากจากครอบครัวของพวกเขาจวบจนกระทั่งถึงทศวรรษ 1970 ตามนโยบายประสมกลมกลืนพวกเขาให้เข้ากับสังคมคนผิวขาว
"สำหรับบาดแผล ความเจ็บปวด และความชอกช้ำของบรรดาคนรุ่นที่ถูกขโมย, บรรดาลูกหลานของพวกเขา, และสำหรับครอบครัวที่ถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลังของพวกเขา เราขอกล่าวคำว่าขอโทษ"
"แด่ผู้เป็นมารดาและผู้เป็นบิดา ผู้เป็นพี่ชายน้องชายและผู้เป็นพี่สาวน้องสาว สำหรับการแยกพรากครอบครัวและชุมชนเช่นนี้ เราขอกล่าวคำว่าขอโทษ
"สำหรับการถูกหมิ่นศักดิ์ศรีและความอับอายขายหน้า ซึ่งบังเกิดขึ้นแก่ประชาชนผู้ภาคภูมิในศักดิ์ศรี และแก่วัฒนธรรมที่ภาคภูมิในศักดิ์ศรี เราขอกล่าวคำว่าขอโทษ"
รัดด์ซึ่งเป็นผู้นำพรรคเลเบอร์ ตั้งใจใช้คำว่า "sorry" (ขอโทษ) ซึ่งเสียงในภาษาอังกฤษมีน้ำเสียงที่ให้ความรู้สึกเจาะจงสำหรับชาวอะบอริจินส์
ในการทำพิธีขอโทษวันนี้ อดีตนายกรัฐมนตรี กัฟ วิตแลม และ มัลคอล์ม เฟรเซอร์ จะไปร่วมที่รัฐสภาด้วย ทว่า จอห์น โฮเวิร์ด อดีตนายกรัฐมนตรีของพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งเพิ่งพ่ายแพ้ยับเยินแก่รัดด์หลังจากปกครองออสเตรเลียมาถึง 11 ปีไม่ยอมเข้าร่วม อันที่จริงโฮเวิร์ดก็ได้ปฏิเสธไม่ยอมขอโทษชาวอะบอริจินส์มาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม แม้บรรดาผู้นำของชาวอะบอริจินส์ต่างยินดีต้อนรับการกล่าวคำขอขมาที่พวกเขารอคอยมานาน ทว่าหลายๆ คนก็บอกว่ายังต้องเดินกันอีกไกลนักกว่าที่จะแก้ไขความอยุติธรรมที่บังเกิดขึ้นระหว่างเวลา 220 ปีแห่งการเข้ามาตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลียของคนผิวขาว