xs
xsm
sm
md
lg

คาดอีก 14 ปีชาติน้ำมันรวยกว่า $6 ล้านล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี - บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการยักษ์ใหญ่แถลงรายงานคาดชาติผู้ผลิตน้ำมันแถบอ่าวเปอร์เซียจะมีรายได้มากกว่า 6,000,000 ล้านดอลลาร์ ในอีก 14 ปีข้างหน้า เตือนหากชาติเหล่านี้ทุ่มรายได้มหาศาลลงทุนอย่างไม่รอบคอบก็จะเกิดผลกระทบกระเทือนใหญ่หลวงซึ่งอาจยืดเยื้อนานหลายสิบปี

แมคคินซีย์ โกลบัล อินสติติวต์ แถลงรายงานเมื่อวานนี้ (24) คาดการณ์ว่า หากราคาน้ำมันในตลาดโลกซื้อขายกันที่ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ชาติสมาชิกสภาความร่วมมือแห่งอ่าวเปอร์เซีย(จีซีซี) 6 ประเทศ จะมีรายได้จากการส่งออกมากถึง 6,200,000 ล้านดอลลาร์ ในอีก 14 ปีข้างหน้า มากกว่ารายได้ในปัจจุบันถึง 3 เท่า

แมคคินซีย์ยังคาดการณ์ต่อว่า หากราคาน้ำมันอยู่ในระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ชาติผู้ผลิตน้ำมันแถบอ่าวเปอร์เซีย อันได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต กาตาร์ โอมาน และบาห์เรน จะมีรายได้เกือบถึง 9,000,000 ล้านดอลลาร์ และถึงแม้ราคาน้ำมันจะลดฮวบไปซื้อขายกันที่ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ชาติเหล่านี้ก็จะมีรายได้สะสมมากถึง 4,700,000 ล้านดอลลาร์ ในอีก 14 ปีข้างหน้า

สำหรับการคาดการณ์ตัวเลขการลงทุนของชาติผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางนั้น หากสมมติว่า ราคาน้ำมันซื้อขายกันที่ 70 ดอลลาร์ และมูลค่าการลงทุนในประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นปีละ 6.1% ซึ่งเป็นอัตราโดยเฉลี่ยในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา ชาติเหล่านี้จะมีเงินสำหรับลงทุนในต่างประเทศ 3,500,000 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ปัจจุบันนี้จนถึงปี2020 คิดเป็นมูลค่าเกือบ 2 เท่าตัวของมูลค่าทรัพย์สินในต่างประเทศ ของชาติเหล่านี้ในปัจจุบัน

แมคคินซีย์ กล่าวว่า ตัวเลือกในการลงทุนของชาติผู้ผลิตน้ำมันเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ย สภาพคล่อง และตลาดการเงินไปทั่วโลก

"ทรัพย์สมบัติก้อนใหม่นี้มาพร้อมกับความเสี่ยง....การไหลบ่าของสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดโลกอาจทำให้เกิดภาวะราคาสินทรัพย์ฟองสบู่ การปล่อยกู้อย่างหละหลวม และการใช้เงินทุนโลกอย่างด้อยคุณภาพ"แมคคินซีย์เตือน

บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการแห่งนี้ แนะนำว่า ชาติร่ำรวยแถบอ่าวเปอร์เซียควรนำรายได้จากการส่งออกน้ำมันมูลค่ามหาศาล มาหมุนเวียนในตลาดเงินทุนโลก เพื่อทำให้ภาวะเงินเฟ้อลดลงและเพิ่มกำไรต่อรายได้ของชาติเหล่านี้

แมคคินซีย์ยังคาดการณ์ว่า สิ้นปี 2006 ชาติสมาชิกจีซีซีถือครองสินทรัพย์ต่างประเทศ มูลค่า 1,900,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่ามูลค่าสินทรัพย์ต่างประเทศในปี 2003 กว่า 2 เท่าตัว และเกือบเท่ากับขนาดเศรษฐกิจอินเดียรวมกับบราซิล หรือมูลค่าตลาดของบริษัท 10 อันดับแรกในรายชื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ 500 บริษัท จัดทำโดยนิตยสารฟอร์จูน

แมคคินซีย์ยังคาดว่า การลงทุนในอนาคตน่าจะมาจากทั้งภาครัฐ เช่น ธนาคารกลาง บริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของ กองทุนเพื่อการลงทุนภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น เอกชนผู้มั่งคั่ง และบริษัทเอกชน

นักเศรษฐศาสตร์บางคน มองว่า นักลงทุนเงินหนาเหล่านี้น่าจะเป็นผลดีต่อตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เกิดวิกฤติสินเชื่อตึงตัว ดังเช่นในปัจจุบัน

ทว่า กองทุนเพื่อการลงทุนภาครัฐซึ่งที่ผ่านมาช่วยกอบกู้ธนาคารรายใหญ่นั้น ก็ดำเนินกิจการอย่างไม่โปร่งใส ปล่อยให้นักลงทุนทั่วโลกคาดเดาว่ากองทุนเหล่านี้จัดสรรบัญชีอย่างไรและมีเป้าหมายระยะยาวอย่างไร การที่ผู้เล่นรายใหญ่ที่ไม่โปร่งใสเข้ามาในตลาดอาจทำให้สัญญาณต่างๆเกี่ยวกับราคาที่นักลงทุนรายอื่นจำเป็นต้องเฝ้าติดตามนั้น ขุ่นมั่วไป

นอกจากนี้ แมคคินซีย์ยังเตือนว่า ความผิดพลาดที่กองทุนเพื่อการลงทุนภาครัฐก่อ หากรวมกับความผิดพลาดของนักลงทุนรายใหญ่อื่นๆ เช่น เฮดจ์ฟันด์ ผู้จัดการสินทรัพย์โลก ก็จะส่งผลกระทบกระเทือนไปไกลมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น