xs
xsm
sm
md
lg

ปภ.ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มจากพายุวิภา เร่งระบายน้ำ- ช่วยเหลือประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วันนี้ (26 ก.ค.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ติดตามสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุวิภา โดยประสานจังหวัดเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านการดำรงชีพ การแพทย์และสาธารณสุข และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน วันนี้ ปภ.ได้แจ้งเตือนภัยผ่านระบบ Cell Broadcast ไปยังพื้นที่ริมแม่น้ำ อ.วังชิ้น จ.แพร่ อ.ศรีสำโรง อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย ให้ยกของขึ้นที่สูงทันที อพยพไปยังศูนย์พักพิง นอกจากนี้ ได้ประสานจังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง เตรียมความพร้อมในการป้องกันพื้นที่จากเหตุระดับน้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตชุมชน โรงพยาบาล และพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ รวมถึงจัดเตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อรองรับการอพยพของประชาชน โดยมี นางสาวชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานการประชุม ผู้แทนจังหวัดที่ประสบสถานการณ์อุทกภัย ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่ประสบสถานการณ์อุทกภัย ผู้แทนสำนัก/กองส่วนกลาง ปภ. เข้าร่วมประชุม และเข้าร่วมประชุมผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์

นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่ม จากอิทธิพลของพายุ “วิภา” ที่ส่งผลกระทบตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2568 ถึงแม้ว่าปัจจุบันได้อ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว แต่อิทธิผลของพายุที่ผ่านมาได้ส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน เชียงราย พะเยา ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ และเลย รวม 50 จังหวัด 246 ตำบล 1,348 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 33,900 ครัวเรือน 115,858 คน ผู้สูญหาย 1 ราย ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน เชียงราย พะเยา ลำปาง และแพร่ รวม 37 อำเภอ 201 ตำบล 917 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 25,241 ครัวเรือน 83,820 คน ภาพรวมสถานการณ์น้ำในทุกจังหวัดลดลง

นายภาสกร กล่าวต่อว่า ถึงแม้ว่ามีหลายพื้นที่สถานการณ์อุทกภัยเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่การดำเนินการให้ความช่วยเหลือในทุกจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเร่งแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่เครื่องมืออุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยทหาร ฝ่ายปกครอง ตำรวจ มูลนิธิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนอาสาสมัคร และภาคประชาชน เข้าปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยด้านชีวิตของประชาชนเป็นลำดับแรก ตลอดจนดูแลประชาชนในเรื่องของการดำรงชีพ การแพทย์และสาธารณสุข และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมถึงเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ สำหรับการอพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว ได้อพยพผู้ป่วยติดเตียงและกลุ่มเปราะบางไปยังพื้นที่ปลอดภัย และจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจ อส. ดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน ส่วนการดูแลและการดำรงชีวิต ได้มีการจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน โรงครัวประกอบเลี้ยง เพื่อประกอบอาหารปรุงสุกแก่ผู้ประสบภัย ตลอดจนทางด้านหน่วยแพทย์ ได้มีการบริการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้ประสบภัย และมอบยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นกับผู้ประสบภัย ในส่วนของการดูแลอำนวยความสะดวก จัดดูแลความปลอดภัยด้านการสัญจรผ่านเส้นทางท่วมขังให้กับพี่น้องประชาขน และติดตั้งป้ายแจ้งเตือน เส้นทางเลี่ยง ตลอดจนเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขัง เพื่อให้ประชาชนได้สามารถสัญจรได้และประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจความเสียหาย ซึ่งขณะนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้สนับสนุนถุงยังชีพไปยังจังหวัดที่เป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยทั้งสิ้น รวม 18,900 ชุด และได้สนับสนุนทรัพยากรจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่ใกล้เคียงที่ไม่มีสถานการณ์ภัยในพื้นที่ เข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย รวมทั้งได้มอบหมายให้นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และทีม ปภ.ส่วนกลาง เข้าสนับสนุนการอำนวยการและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดน่าน และจังหวัดในภาคเหนือแล้ว

“ปภ. ได้มีการส่งสัญญาณแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast เพื่อแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสียงภัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 26 กรกฎาคม 2568 เวลา 07.00 น. ได้มีการแจ้งเตือนผ่านระบบ Cell Broadcast รวม 47 ครั้ง แยกเป็น อุทกภัย 38 ครั้ง และดินโคลนถล่ม 9 ครั้ง นอกจากนี้ เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (26 ก.ค.68) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) ได้ติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำยมในพื้นที่ อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ และจังหวัดสุโขทัย พบว่า ระดับน้ำได้เริ่มล้นตลิ่งแล้ว และระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น จึงได้แจ้งเตือนภัยผ่านระบบ Cell Broadcast 2 ครั้ง โดยแจ้งเตือนไปยังพื้นที่ริมแม่น้ำตำบลแม่เกิ๋ง ตำบลแม่ป้าก ตำบลวังชิ้น ตำบลนาพูน อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ และพื้นที่ริมแม่น้ำที่ตำบลวังใหญ่ ตำบลวังทอง อำเภอศรีสำโรง และตำบลปากแคว ตำบลยางซ้าย ตำบลปากพระ ตำบลธานี อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ให้ยกของขึ้นที่สูงทันที รีบเคลื่อนย้ายรถไปในที่สูง อพยพไปยังศูนย์พักพิงในพื้นที่หากจำเป็น เคลื่อนย้ายกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ไปยังที่ปลอดภัย และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ หากจังหวัดใดพบสถานการณ์ภัยรุนแรงและอาจกระทบต่อประชาชน ให้รีบแจ้งศูนย์เตือนภัยพิบัติ ปภ. ทันที เพื่อส่ง Cell Broadcast แจ้งเตือนประชาชน“ นายภาสกร อธิบดี ปภ. กล่าว

ขณะที่ น.ส.ชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทสาธารณภัย กล่าวว่า กอปภ.ก. พร้อมประสานให้การสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อให้จังหวัดสามารถแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกันนี้ ขอให้จังหวัดดำเนินแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในทุกด้าน รวมถึงเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำ สภาพอากาศ หากมีแนวโน้มที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้ประสานงานกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อส่งข้อความแจ้งเตือน Cell Broadcast เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์โดยเร็ว ได้ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับพื้นที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว ให้เร่งระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย โดยการฉีดล้างทำความสะอาดบ้านเรือนที่พักอาศัย ถนน พื้นที่สาธารณะ และจัดเตรียมทีมช่างเข้าซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชน สิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ ระบบไฟฟ้า ประปา ให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว พร้อมเร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง สำหรับจังหวัดในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ขอให้ติดตามสถานการณ์และแนวโน้มระดับน้ำที่อาจล้นตลิ่งอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมในการป้องกันพื้นที่ไว้ล่วงหน้า โดยการจัดทำแนวป้องกันน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตชุมชน โรงพยาบาล และพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ รวมถึงจัดเตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อรองรับการอพยพของประชาชน ตลอดจนเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลสาธารณภัยไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง