นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการไต่สวนคดีความปรากฏการบังคับโทษจำคุกนายทักษิณ ว่า วันนี้ในฐานะทนายความก็มาฟังการไต่สวนพยานในกลุ่มแพทยทสภา เดิมทราบว่ามีพยาน 6 ปาก แต่ศาลพิจารณาเห็นควรไต่สวนเพียง 3 ปาก เป็นอาจารย์แพทย์ ซึ่งในฐานะทนาย ก่อนที่จะมาฟังวันนี้ก็ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายอย่างเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของแพทยสภา กังวลว่าหากแพทยสภามีอคติทางการเมืองหรือนำความเห็นทางการเมืองมาเกี่ยวข้องกับการเบิกความ เชื่อว่าศักดิ์ศรีของแพทยสภาจะลดน้อยลง หรืออาจไม่หลงเหลือ แต่ทั้งนี้ได้พยายามถามพยานทั้ง 3 ปาก ที่มาเบิกความว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการลงมติลงโทษแพทย์โรงพยาบาลตำรวจที่ทำการรักษานายทักษิณหรือไม่ โดยมีพยาน 1 ปาก ปฏิเสธตอบคำถาม แต่ส่วนตัวเชื่อว่าเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดีเป็นกระบวนการของแพทยสภา ซึ่งแพทย์โรงพยาบาลตำรวจที่ถูกกล่าวหาก็สามารถใช้สิทธิต่อสู้คดีทางศาลปกครองได้อยู่แล้ว
ส่วนการเบิกความของพยานในวันนี้โดยรวมเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่เป็นที่สงสัยของประชาชนทั้งประเทศ ที่สนใจคดีนี้ คือการให้การของแพทยสภาที่ยอมรับว่ามีอาการป่วยจริง มีอาการหลายโรคที่ปรากฏและมีข้อบ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นโรคเรื้อรังและโรคที่เกิดภาวะเฉียบพลัน ส่วนโรคที่มีภาวะเฉียบพลันถูกส่งไปยังโรงพยาบาลตำรวจ ในคืนวันที่ 22 ต่อเนื่องวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ในฐานะทนาย จึงพยายามถามถึงมาตรฐานการตรวจและวินิจฉัยโรคของแพทย์ ซึ่งเบิกความตรงกันว่าจะต้องตรวจให้ครบถ้วนว่าอาการเฉียบพลันหรืออาการกำเริบของโรคมีจริงหรือไม่ ซึ่งมีความจำเป็นต้องแอดมิดที่โรงพยาบาล
ส่วนการรักษาตัวที่ชั้น 14 หรือห้องฉุกเฉิน หนึ่งในพยานเบิกความ ว่าโรงพยาบาลอื่นก็มีห้อง VIP และมีการจัดระบบเทียบกับห้องฉุกเฉิน ซึ่งมีการประสานงานไว้แล้ว สอดคล้องกับกรณีของนายทักษิณ โดยเห็นว่าการเบิกความของแพทย์ทั้ง 3 คนที่อ้างอิงราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นเฉพาะโรคที่ไม่ร้ายแรง ส่วนโรคที่ร้ายแรงไม่ให้ความเห็น ถือเป็นดุลพินิจของศาลหลังจากนี้
อย่างไรก็ตาม ในฐานะทนาย ที่ศาลไต่สวนพยานหลายปาก อยากให้ทุกฝ่ายใช้ดุลพินิจพิจารณาว่า ไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือใครก็ตามหากญาติผู้ใหญ่ของท่านหรือคนใกล้ชิดป่วยพวกท่านจะทำอย่างไร จะต้องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือไม่ จะต้องเฝ้าระวังว่าอาการวิกฤตหรือไม่ หรือไม่เห็นว่าจะฉุกเฉินหรือไม่ จำเป็นเร่งด่วนอย่างนั้นหรือ
ทั้งนี้ ไม่ได้เรียกร้องให้เห็นใจอดีตนายกรัฐมนตรี แต่พูดถึงกรณีทั่วไป ที่ต้องคิดบ้าง ต้องมีจิตสำนึกหรือความเป็นมนุษย์บ้าง ถ้าไม่เจอกับตัวเอง ก็ไม่รู้นะ ก็โอเค ซึ่งวันนี้เห็นว่ามีความชัดเจนขึ้น
ส่วนการไต่สวนครั้งหน้าวันที่ 30 กรกฎาคม ได้ยื่นพยานของจำเลยไป คือ นายวิษณุ เครืองาม ซึ่งเป็นพยานประจักษ์ข้อเท็จจริง และมีส่วนรู้เห็นในการกลับมาและการรับตัว การส่งตัวนายทักษิณไปโรงพยาบาลตำรวจ รวมถึงกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งการขอพระราชทานอภัยโทษ ดังนั้นด้วยข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ปรากฏทำให้เห็นว่าอาการป่วยของนายทักษิณ เป็นอาการป่วยของบุคคลสำคัญของประเทศ เนื่องจากเคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นอาการป่วยที่จำเป็นต้องหาสาเหตุ และสืบค้นให้ได้ว่าเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งมีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ตามมาตรฐานทางการแพทย์ ที่สำคัญแพทยสภาไม่เคยตำหนิการใช้ดุลยพินิจทางการแพทย์แต่อย่างใด เพียงแต่เห็นตรงข้ามในการปฏิบัติของแต่ละคน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องพิสูจน์ทราบในอนาคต โดยในการไต่สวนครั้งหน้าเชื่อว่านายวิษณุ จะให้ข้อเท็จจริงต่อศาล จะเป็นประโยชน์และนำไปสู่การวินิจฉัยต่อไป และในการไต่สวนครั้งหน้านายทักษิณก็ไม่ได้เดินทางมาด้วยตัวเอง แต่มอบหมายให้ทนายความมาแทน แต่เชื่อว่าศาลจะรับฟังคำสั่งคำร้องนี้
นายวิญญัติ ยอมรับว่า ข้อสังเกตเกี่ยวกับคดีอาจส่งผลเชิงลบต่อนายทักษิณ มีมาโดยตลอดอยู่แล้วในฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม ทั้งในเรื่องข่มขู่ว่าผลจะออกมาในทิศทางใด เข้าข่ายลักษณะเป็นการชี้นำศาลและสังคม ยอมรับว่าไม่สบายใจในเรื่องนี้ ชี้ว่าสังคมไทยแตกแยกเพราะพฤติกรรมของบุคคลเหล่านี้ แต่หน้าที่ของทนายคือพิสูจน์ข้อเท็จจริงในศาล อยู่ข้างนอกไม่ต้องการให้ความเห็นเกี่ยวกับคดี ส่วนความเห็นฝ่ายตรงข้ามเป็นอย่างไรนั้นก็สุดแล้วแต่ เชื่อว่าการพิสูจน์ข้อเท็จจริงน่าจะครบถ้วนแล้ว และชี้ว่าการป่วยวิกฤตฉุกเฉินไม่ใช่ประเด็นหลักแต่เป็นเรื่องฉับพลันและเรื่องที่มีอาการต้องส่งตัวอยู่ในศักยภาพของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ หรือการปฏิบัติตามระเบียบเรือนจำหรือไม่