xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.สั่งเขตพื้นที่ฯ รับมือ"วิภา" โรงเรียนในเส้นทางพายุสั่งปิดได้ทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือน พายุโซนร้อนกำลังแรง "วิภา" คาดจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ และจะเคลื่อนตัวตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศลาวตอนบน และภาคเหนือตอนบนในระยะต่อไป และทำให้หลายพื้นที่ของไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ด้านตะวันตกของภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักไปจนถึงวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ รัฐบาลขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคเหนือทั้งหมด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำชับให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษาจัดทำแผนเผชิญเหตุพร้อมแผนรับมือ โดยทุกโรงเรียนที่คาดว่าพายุจะเคลื่อนตัวผ่าน ต้องมีการเคลื่อนย้ายทรัพย์สิน สิ่งของ ไปไว้ในพื้นที่ปลอดภัย และต้องมีแผนดูแลนักเรียน ครู บุคลากร ซึ่งจะต้องได้รับความปลอดภัยทุกคน หากโรงเรียนอยู่ในเส้นทางที่พายุเคลื่อนตัวผ่าน สามารถสั่งปิดโรงเรียนได้ทันที พร้อมกำชับให้ทุกโรงเรียนทำการตัดแต่งต้นไม้ที่มีลักษณะไม่ปลอดภัยเพื่อป้องกันการโค่นล้ม และกรณีของไฟฟ้า หากพบว่าน้ำท่วมสถานศึกษาต้องมีการประสานกับการไฟฟ้าภูมิภาคในพื้นที่ให้ตัดกระแสไฟฟ้าทันทีเพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุไฟฟ้าดูด ทั้งนี้ ภายหลังระดับน้ำลดลงอยู่ระดับที่ปลอดภัย ขอให้เขตพื้นที่ฯ เข้าไปตรวจสอบว่ามีอะไรที่เสียหายชำรุดบ้าง เพื่อทำการปรับปรุงซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ

สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้ลดผลกระทบต่อภาคเกษตรให้มากที่สุด โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงาน ทั้งระดับเขต จังหวัด อำเภอและตำบล เตรียมพร้อมเพื่อป้องกันความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรและลดผลกระทบต่อเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยง

โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติในช่วง "เตรียมพร้อม" ดังนี้ (1) จัดทำและทบทวน แผนที่พื้นที่เสี่ยงภัย (Flood Risk Map) พร้อมจำแนกกลุ่มพืชที่มีความเปราะบางต่อภาวะน้ำท่วม เช่น ข้าว ข้าวโพด พืชผัก พืชสวน สำรวจข้อมูล ชนิดพืช ปริมาณผลผลิต และอายุของพืช ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อเตรียมแผนรองรับ (2) ตรวจสอบและเตรียม เครื่องสูบน้ำ เครื่องมือระบายน้ำ และอุปกรณ์ที่จำเป็น ให้พร้อมใช้งานทันที (3) วางแผน ลดความเสี่ยง ด้วยการปรับแปลงเพาะปลูก สร้างคันกั้นน้ำ ตัดแต่งกิ่งพืช และเก็บเกี่ยวบางส่วนล่วงหน้า หากจำเป็น และ (4) แจ้งเตือนเกษตรกรในพื้นที่ผ่าน ทุกช่องทางการสื่อสาร อย่างต่อเนื่อง และ 5.ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการย้ายทรัพย์สิน ปัจจัยการผลิต หรือผลผลิตขึ้นที่สูง หลีกเลี่ยงความเสียหาย

สำหรับแนวทางปฏิบัติในช่วงประสบภัยพิบัติ ให้ปฏิบัติ ดังนี้ (1) เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เกษตรทันทีเมื่อน้ำเริ่มขัง พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (2) เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกซ้ำ และน้ำจากต้นน้ำไหลหลาก (3) ประสานกับท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายในพื้นที่เพื่อสนับสนุนการตอบสนองเร่งด่วน และ (4) ให้เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอและตำบล เป็นด่านหน้าในการเฝ้าระวังและให้คำแนะนำเกษตรกรอย่างใกล้ชิด

นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลขอย้ำเตือนเรื่องความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ขอให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ รับฟังการแจ้งเตือน และปฏิบัติตามคำแนะของหน่วยงานของรัฐ เพื่อลดผลกระทบและป้องกันความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น