xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมสั่งวิทยุการบินฯ เตรียมมาตรการรับมือพายุโซนร้อน "วิภา"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้พายุโซนร้อนวิภา จากประเทศจีน กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบกับประเทศไทย บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ระหว่างวันที่ 20-24 กรกฎาคมนี้ ซึ่งต้องเผชิญปัญหาฝนตกหนัก อาจส่งผลต่อทัศนวิสัยทางการบิน อีกทั้งในหลายพื้นที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมเฉียบพลัน จึงได้มอบหมายให้ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เกาะติดสถานการณ์สภาพอากาศแปรปรวน เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ โดยได้ออกมาตรการรองรับสภาพอากาศที่อาจส่งผลกระทบการบิน เพื่อเพิ่มระดับของความปลอดภัย และระดับประสิทธิภาพในการจัดการจราจรทางอากาศ ตามแนวทางขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้โดยสารและอากาศยาน ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม

นายสุรชัย หนูพรหม รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวเพิ่มเติมว่า บวท. ได้ประสานและติดตามข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาการบินอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาวางแผนการจัดการจราจรทางอากาศ พร้อมทั้งเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากพายุโซนร้อนวิภา 4 ด้าน ได้แก่ 1. ผลกระทบอันอาจจะเกิดขึ้นต่อการให้บริการจราจรทางอากาศและการปฏิบัติการบิน เช่น การขอบินหลบสภาพอากาศ การจัดระยะห่างของเครื่องบินในขณะที่มีสภาพอากาศเลวร้าย การบินวนรอให้สภาพอากาศดีขึ้น หรือการขอเปลี่ยนเส้นทางบินไปยังสนามบินสำรอง เป็นต้น โดยได้กำชับให้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ และขอให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในการรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

2. ผลกระทบอันอาจจะเกิดขึ้นต่อการให้บริการเครื่องอำนวยความสะดวกการเดินอากาศ โดยให้เฝ้าระวังและเตรียมการรองรับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เช่น กระแสไฟฟ้าขัดข้อง ภัยจากพายุฝนฟ้าคะนอง และฝนตกหนักจนทำให้น้ำท่วมขัง และส่งผลกระทบต่อระบบอุปกรณ์ 3. ผลกระทบอันอาจจะเกิดขึ้นต่อลักษณะทางกายภาพของสนามบิน เช่น ทางวิ่ง ทางขับ และอื่นๆ จนส่งผลต่อการให้บริการจราจรทางอากาศ โดยให้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับท่าอากาศยาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเตรียมการรองรับสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และ 4. ผลกระทบอันอาจจะเกิดขึ้นต่ออาคารสถานที่ของบริษัท เช่น หอควบคุมการจราจรทางอากาศ อาคารสถานีเครื่องช่วยการเดินอากาศ และอื่นๆ โดยให้ตรวจสอบสภาพการใช้งาน ความมั่นคงแข็งแรง อีกทั้งได้กำหนดแนวทางการบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ เพื่อให้ทุกเที่ยวบิน เกิดความสะดวก คล่องตัว และเกิดความปลอดภัยทางการบินสูงสุด

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเฝ้าระวังทุกจังหวัดที่มีความเสี่ยง และให้ความช่วยเหลือในกรณีอุทกภัยที่ส่งผลให้ถนนตัดขาดระยะสั้น รวมทั้งรายงานเตรียมความพร้อม เพื่อยกระดับการเฝ้าระวังตลอดเวลา สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางในช่วงนี้ อาจต้องพบกับความล่าช้าของเที่ยวบินบ้างในบางช่วงเวลา ในกรณีที่ฝนตกหนักหรือสภาพอากาศแปรปรวนในบริเวณสนามบิน อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และข้อมูลข่าวสารจากสายการบิน ท่าอากาศยานอย่างใกล้ชิด หากมีการปรับตารางการบิน หรือยกเลิกเที่ยวบิน อย่างไรก็ตาม ขอให้เผื่อเวลาการเดินทาง เพื่อให้ทุกท่านสามารถเดินทางได้ตามกำหนดเวลา