xs
xsm
sm
md
lg

กยท.หารือผู้ประกอบกิจการยางไทย วางแนวทางรับมือ "ภาษีทรัมป์"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.เพิก เลิศวังพง รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการประชุมหารือผลกระทบจากการบังคับใช้ภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐฯ ที่มีต่อผู้ประกอบกิจการยางของไทย ว่า จากการที่สหรัฐอเมริกาประกาศอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้การนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศ โดยเบื้องต้นประเทศไทยถูกกำหนดอัตราภาษีนำเข้าไว้ที่ 36% (ข้อมูล ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2568) ซึ่งถือว่าสูงมากหากเทียบกับอีกหลายประเทศ โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 กยท. จึงเชิญผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยางพาราเข้าหารือ เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการบังคับใช้ภาษีนำเข้าสินค้าดังกล่าวของสหรัฐฯ

จากการหารือในวันนี้ ผู้ประกอบการมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ยังไม่อยากให้ตื่นตระหนก เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจา และอาจมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งยังต้องรอติดตามความชัดเจนในอัตราภาษีอีกครั้งว่าจะมีการปรับลดลงอีกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การพูดคุยหารือกันในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการฟังเสียงจากผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่งจะช่วยให้ กยท. วางแผนเตรียมมาตรการรับมือได้อย่างครอบคลุม ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มวัตถุดิบยาง ได้แก่ ยางแท่ง ยางแผ่น และน้ำยางข้น ซึ่งไม่ได้ถูกปรับเพิ่มอัตราภาษี แต่ยังต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงนโยบายในอนาคต และกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปจากยางพารา ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปรับอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยหลังจากรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการในวันนี้แล้ว กยท. จะสรุปแนวทางเบื้องต้นและนัดหารือกับผู้ประกอบการเพื่อกำหนดแผนปฏิบัติที่ชัดเจนที่ชัดเจนอีกครั้ง ก่อนเสนอรัฐบาลผลักดันสู่นโยบายที่เป็นรูปธรรมต่อไป

ดร.เพิก ย้ำว่า กยท. รับรู้ปัญหาและความกังวลของของพี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการทุกคนในช่วงเวลานี้และทราบดีว่าการปรับอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ อาจส่งผลต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมยางพาราไทย แต่ยังไม่อยากให้วิตกกังวลเกินไป ขอให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมั่นใจว่า กยท. จะเดินหน้าวางแนวทางร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถปรับตัวและรับมือได้อย่างเหมาะสมต่อไป