นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยถึงการหารือทวิภาคี ระหว่างการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 58 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ว่า ในการหารือกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อย่างยาวนาน ซึ่งปีนี้เป็นปีของการฉลองครบรอบความสัมพันธ์ 50 ปี ได้พูดคุยเรื่องการพัฒนาศักยภาพและความร่วมมือของทั้งสองประเทศให้ก้าวต่อไปอีกระดับได้อย่างไร
ขณะเดียวกัน ยังมีการพูดคุยเรื่องการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงที่ผ่านมา ตลอดจนความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคต่างๆ ในปีนี้ จีนจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในกรอบแม่โขง-ล้านช้างระดับรัฐมนตรี ขณะที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เชิญนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เยือนไทยในช่วงการประชุมดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน และการเชื่อมต่อระบบรางเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนและตอนบนของประเทศไทยกับตอนใต้ของประเทศจีน
สำหรับการพูดคุยถึงความร่วมมือด้านการค้า นายหวัง อี้ ให้การตอบรับเป็นอย่างดี และสนับสนุนไทยเพื่อให้มีการค้าขายกับจีนเพิ่มมากขึ้น ในเรื่องการนำเข้าโคมีชีวิตไปยังประเทศจีน ก็ได้เอาใจใส่โดยจะส่งทีมสัตวแพทย์มาคุย และดูเรื่องการตรวจสุขอนามัยโคมีชีวิตเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและตามที่จีนต้องการ ทั้งยังให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเรื่องการนำเข้าทุเรียนไทยจนลุล่วงไปได้
ส่วนการพูดคุยกับนายมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นการพบกันครั้งแรก ได้หารืออย่างกว้างขวางและจริงใจ โดยสหรัฐฯ เห็นความสำคัญของประเทศไทยในฐานะพันธมิตรที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพร้อมสนับสนุนรัฐบาลไทยเรื่องความมั่นคงต่อไป พร้อมกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลของนางสาวแพทองธาร อยากเห็นการพัฒนาขีดความสามารถทางอาวุธเพื่อให้ไทยมีความเข้มแข็งด้วยตนเอง เนื่องจากประเทศไทยมีบริษัทที่มีศักยภาพในการพัฒนา ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกันเป็นอย่างมาก
ขณะที่การหารือกับนายเดวิด แลมมี รัฐมนตรีต่างประทศสหราชอาณาจักร ได้พูดคุยกันถึงเรื่องการระบุความร่วมมือในสาขาต่างๆ ที่นำไปสู่การพัฒนาทางธุรกิจร่วมกันของภาคเอกชน เช่น ความร่วมมือด้านพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมด้านความมั่นคง และความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์เขตร้อน เนื่องจากบริษัทสยามไบโอไซแอนส์ของอังกฤษมีความร่วมมือในไทยอยู่แล้ว ซึ่งนายแลมมีเห็นด้วย เพราะสอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาลสหราชอาณาจักร และพร้อมจะมีการพูดคุยกันต่อไปเพื่อสนับสนุนความร่วมมือร่วมกับภาคเอกชนที่จะมีส่วนในการทำธุรกิจร่วมกันในอนาคต
ส่วนการหารือกับสหภาพยุโรป ได้พูดคุยกับนางกายา กัลลัส ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป ในเรื่องอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การเปลี่ยนผ่านสีเขียว และพลังงานทดแทน ซึ่งสหภาพยุโรปก็เห็นด้วยที่จะมีความร่วมมือกันต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ยังพูดคุยเรื่องการขอฟรีวีซ่าเชงเก้น สำหรับการเดินทางไปยังประเทศในยุโรป การเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-อียู ซึ่งมีการเจรจากันไปแล้วหลายรอบ โดยพยายามจะให้ได้ข้อสรุปภายในปีนี้