xs
xsm
sm
md
lg

"เรืองไกร"ส่ง EMS ถึง ป.ป.ช. ร้องสอบ "พิชัย" ผิดจริยธรรมหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณียอมรับว่า เป็นคนเชิญนายทักษิณ ชินวัตร มาร่วมประชุมทีมไทยแลนด์ และทีมที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพิษณุโลก ว่าจะเข้าข่ายมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 8 ข้อ 11 ข้อ 12 ข้อ 14 ข้อ 17 หรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่า ในหนังสือมีข้อเท็จจริงที่นำมาพิจารณากับมาตรฐานทางจริยธรรมและแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีจริยธรรม เป็นข้อๆ ดังนี้

ข้อ 1. การที่นายพิชัย ชุณหวชิร แถลงข่าวกล่าวยืนยันข้อเท็จจริงต่อสื่อว่า ตนได้เชิญทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกมาร่วมประชุม และเห็นว่านายทักษิณ รู้เรื่องเหล่านี้ดี น่าจะให้ข้อคิดเห็นได้ดี จึงเชิญมาร่วมประชุมด้วยนั้น จึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบจากข้อเท็จจริงดังกล่าว ในประเด็นที่จะเข้าข่ายมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ หรือไม่

ข้อ 2. มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 8 ข้อ 11 ข้อ 12 ข้อ 14 ข้อ 17 กำหนดว่า

- ข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมอชอบ
- ข้อ 11 ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
- ข้อ 12 ยึดมั่นหลักนิติธรรม และประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน
- ข้อ 14 รักษาไว้ซึ่งความลับในการประชุม การพิจารณาวินิจฉัย รวมทั้งเคารพต่อมติของที่ประชุมฝ่ายข้างมาก และเหตุผลของทุกฝ่ายอย่างเคร่งครัด
- ข้อ 17 ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง

ข้อ 3. จากข้อเท็จจริงตามข่าวกับมาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว กรณีจึงมีเหตุอันควรพิจารณาจากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีจริยธรรมที่ผ่านมาว่า การกระทำ ของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ที่รับว่า เป็นผู้เชิญนายทักษิณ ชินวัตร มาร่วมประชุมในงานราชการฝ่ายบริหารนั้น จะเข้าข่ายมีพฤติการณ์ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ในข้อต่าง ๆ หรือไม่ เช่น จะเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่ซื่อสัตย์สุจริต หรือไม่ จะเข้าข่ายกระทำการอันเป็นการขัดกัน ระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือไม่ จะเข้าข่ายเป็นการไม่ยึดมั่นหลักนิติธรรม และไม่ประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรม อันดีของประชาชน หรือไม่ จะเข้าข่ายเป็นการไม่รักษาไว้ซึ่งความลับในการประชุม หรือไม่ จะเข้าข่ายกระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง หรือไม่ เป็นต้น

ข้อ 4. การกระทำดังกล่าวเป็นการก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี นั้น จริยธรรมข้อนี้หมายถึง การรักษาชื่อเสียงของตำแหน่งหน้าที่รัฐมนตรี และการไม่ประพฤติปฏิบัติตนหรือดำเนินการอื่นใดที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของผู้ดำรงตำแหน่งและองค์กรของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือไม่ (เทียบเคียงจากคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีจริยธรรม)

ข้อ 5. การกระทำดังกล่าวของนายพิชัย ชุณหวชิร จะเป็นการแสวงหาประโยชน์จากนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้กล่าวไว้เมื่อวันที่ 9 กรกฏาคม 2568 ในงาน 55 ปี NATION ผ่าทางตันประเทศไทย ในทำนองที่ยอมรับว่า เป็นคนสั่งรัฐบาลเอง หรือไม่ ทั้งนี้ ขอให้ ป.ป.ช. นำคลิปรายการดังกล่าวที่มีเผยแพร่ทั่วไป มาเป็นหลักฐานด้วย

ข้อ 6. กรณีดังกล่าว ป.ป.ช. ควรรีบดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้มีกรณีที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ที่อาจจะไปเชิญบุคคลภายนอกมาหารือ ข้อราชการในกิจการงานของรัฐมนตรี หรือกระทั่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยอ้างเหตุผลที่ไม่มีข้อกฎหมายมารองรับ ในโอกาสต่อไปได้อีก