xs
xsm
sm
md
lg

‘พิชัย’เปิด 3 เงื่อนไขเจรจาภาษีทรัมป์ เตรียมชงข้อเสนอใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภายหลังการประชุมกับทีมไทยแลนด์และทีมที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อรับมือปัญหากรณี โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แจ้งอัตราภาษีนำเข้า 36% โดยใช้ระยะเวลานานเกือบ 3 ชั่วโมง โดยมี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคณะที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกัน

หลังจากนั้น นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันแถลงข่าว

นายพิชัย กล่าวว่า วันนี้ตนได้เชิญ ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อมาพูดคุยกรณีได้รับจดหมายจากสหรัฐอเมริกา จึงขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าเป็นการเลื่อนเวลาให้ เรายังไม่ได้เจรจาถึงที่สุด วันนี้จึงมีการทบทวนเพราะยังมีเวลาถึงวันที่ 1 สิงหาคม เพื่อให้ได้ข้อยุติซึ่งมองว่าจะเป็นข้อยุติแบบกว้าง ๆ และยังต้องคุยกันอีกนาน ซึ่งเมื่อวานนี้ได้มีการเรียกประชุมภาคอุตสาหกรรม สภาหอการค้ารวมถึงบริษัทใหญ่ ๆ ถึงผลกระทบและมาตรการรองรับ ซึ่งได้ข้อมูลมากพอสมควรและกลับไปทำการบ้านกัน ซึ่งคาดว่าจะได้ผลสรุปในวันจันทร์ 14 ก.ค. นี้ อย่างไรก็ตามเพื่อให้การทำงานระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ เดินไปได้อย่างเรียบร้อย จึงเป็นที่มาในการประชุมวันนี้มานั่งคุยกัน ซึ่งในที่ประชุมเราได้ให้ข้อมูลทั้งหมด เพื่อให้รู้รายละเอียดว่าทำอะไรไปบ้าง รวมถึงท่าทีและความคิดเห็น เพื่อดูว่าหากเกิดผลกระทบอย่างไรและจะแก้ปัญหาได้อย่างไร

โดยสิ่งแรกที่เราจะคุยกับทางสหรัฐอเมริกา คือ มุมมองในการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาประกอบด้วย 3 ประการ คือ

1.จะต้องไม่ให้ผู้ผลิตภายในประเทศได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภาคเกษตรฯ และภาคอุตสาหกรรมรายย่อย

2.เราอาจต้องรับซื้อสินค้าเข้ามาซึ่งจะได้โอกาสในการปรับตัว ซึ่งได้คุยกันว่า จะมีวิธีการปรับตัวอย่างไรที่จะทำให้สินค้าที่นำเข้ามาในประเทศไทย ได้รับการกำกับดูแลให้ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพมากที่สุด เหมือนเป็นการทบทวนตัวเอง และ

3.การรองรับมาตรการช่วยเหลือในหลายเรื่องซึ่งจะมีการไปทำการบ้านในรายละเอียด มีการกำหนดมาตรการกว้าง ๆ เอาไว้แล้ว

นายพิชัย กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ ทักษิณ เข้าร่วมการประชุมในวันนี้นั้น ตนเป็นผู้เชิญอดีตนายกฯ เข้าร่วมด้วยตนเอง เนื่องจากเห็นว่ าเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างดี และสามารถให้ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานได้

“การประชุมวันนี้ ได้มีการหารือในหลายประเด็น ไม่ได้จำกัดเฉพาะมาตรการรับมือกับการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลไทยกำลังเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ให้ดีที่สุด ทั้งในด้านการชี้แจงและการเจรจากับทางการสหรัฐฯ โดยมาตรการของไทยสามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนในทุกมิติ และหวังว่าจะไม่ให้ประเทศไทยต้องเสียเปรียบ”

นายพิชัย ระบุว่า จากข้อมูลที่ได้ สหรัฐฯ แบ่งหมวดหมู่สินค้าที่จะเก็บภาษีออกเป็น 2-3 ประเภทใหญ่ ๆ เช่น สินค้าทั่วไปเริ่มต้นที่อัตราภาษี 10% โดยบางประเทศ เช่น เวียดนาม อาจถูกเก็บเพิ่มเป็น 20% ส่วนสินค้าในหมวดอื่น ๆ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา อีกประเภทนึงคือสินค้าผ่านทาง ที่มาจากการนำเข้าก่อนนำมาประกอบหรือเพิ่มมูลค่าด้วยการใส่โลคอลคอนเทนต์ เชื่อว่าประเทศไทยมีระบบการควบคุมและตรวจสอบอย่างเข้มงวด ซึ่งรัฐบาลมั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการได้ดี เมื่อเทียบกับบางประเทศที่อาจมีสัดส่วนสินค้าลักษณะนี้สูงกว่า ซึ่งอาจทำให้ถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่า

“หากมองในภาพรวมแล้ว เชื่อว่าผลกระทบที่ไทยจะได้รับจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ไม่น่าจะรุนแรงมาก” พิชัย กล่าว

ทั้งนี้สำหรับข้อมูลที่จำเป็นได้มีการส่งไปแล้วตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยในวันนี้เป็นการกลับมาทบทวนรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าทิศทางที่ดำเนินการมานั้นถูกต้อง และอาจมีการปรับปรุงบางจุดเล็กน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการอยู่แล้ว และหากจำเป็น ก็พร้อมที่จะเดินทางไปเจรจาด้วยตนเอง
.
“เราได้ตรวจสอบรายละเอียดในระดับรายการสินค้า เพื่อให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสิ่งที่เราดำเนินการนั้นมีเหตุผลและถูกต้อง ซึ่งสิ่งสำคัญต่อจากนี้คือการพูดคุยเพิ่มเติมกับผู้ปฏิบัติงานในภาคสนามผ่านระบบออนไลน์ เพื่อทำความเข้าใจว่า ยังมีประเด็นใดที่ต้องการให้เสริมเพิ่มเติมอีกหรือไม่” พิชัย กล่าว
.
พิชัยกล่าวว่า การประชุมในวันนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดตัวเลขเป้าหมายอัตราภาษีที่แน่นอน เพราะหากไทยถูกเก็บภาษีสูงกว่า 20% เช่น 25% ก็อาจทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลจะพยายามไม่ให้เกิดสถานการณ์เช่นนั้น

เมื่อสอบถามถึงประเภทสินค้าที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจนำเข้าจากไทย นายพิชัยระบุว่า สหรัฐฯ ให้ความสนใจในสินค้าหลายประเภท โดยเฉพาะสินค้าเกษตร แม้จะมีมูลค่าไม่สูงมากนัก แต่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก จึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากฝ่ายสหรัฐฯ