นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เข็นครกขึ้นเอเวอเรสต์
ข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนกลไกที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระใน 3 ประเด็นของพรรคประชาชน คือ การเสนอชื่อ การคัดเลือก และการถอดถอน เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ แต่ยังไม่ตรงจุดและยากที่จะสำเร็จ
1. การให้มีการเสนอชื่อจากหลายช่องทาง เช่น จาก สส. ฝ่ายรัฐบาล จาก สส.ฝ่ายค้าน จาก สว. เป็นเรื่องที่ทับซ้อนผลประโยชน์ เพราะ สส. และ สว. จะมาทำหน้าที่เลือกคนที่ฝ่ายตัวเสนอชื่อเอง
2. แม้จะให้เสนอชื่อจากหลายช่องทาง แต่ยังหลีกเลี่ยงที่จะไปแก้เรื่องคุณสมบัติขององค์กรอิสระ ที่กำหนดไว้ในระดับมหาเทพ เช่น ต้องเป็นหัวหน้าส่วนราชการ 5 ปี ต้องเป็นศาสตราจารย์ 5 ปี ต้องเป็นผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ 5 ปี ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชน 10 ปี ฯลฯ ซึ่งยังเป็นการตัดช่องทางคนจำนวนมากที่อาจมีความรู้ความสามารถมากกว่าเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก
3. ข้อเสนอให้กระบวนการคัดเลือก-รับรอง ไม่ผูกขาดโดย สว. โดยให้เปลี่ยนไปใช้ เสียงข้างมากของรัฐสภา ตามร่าง 2 อาจทำให้การเมืองแทรกแซงกระบวนการคัดเลือก-รับรองโดยใช้เสียงข้างมากลากไป
4. กระบวนการถอดถอนโดยใช้เสียงประชาชน 20,000 ชื่อ เป็นการคืนอำนาจที่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าให้แก่ประชาชน แต่ต้องระบุรายละเอียดที่ต่อเนื่องว่าจะไปสิ้นสุดที่ใด เช่น เสนอต่อวุฒิสภาและใช้เสียงข้างมากของวุฒิสภาเพื่อถอดถอน หรือจะใช้เสียงข้างมากของรัฐสภา
5. ข้อเสนอทั้งหมดเป็นการกระตุ้นให้เกิดความคิดว่ากลไกดังกล่าวที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข แต่เส้นทางในการแก้ไขตามมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะต้องได้เสียงเกินครึ่งของรัฐสภาแล้วยังต้องมีเสียง สว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของวุฒิสภาในวาระที่หนึ่งและวาระที่สาม ซ้ำยังเสี่ยงอาจถูกตีความว่าเป็นการแก้ไขที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระตาม มาตรา 256(8) ซึ่งต้องทำประชามติด้วย
6. งานนี้จึงเทียบได้กับการเข็นครกขึ้นเอเวอเรสต์ สู้ สู้ สู้ต่อไป ทาเคชิ