xs
xsm
sm
md
lg

กต.ชี้แจงท่าทีเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กระทรวงการต่างประเทศขอชี้แจงข้อมูล ข้อคิดเห็นและท่าทีเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ดังนี้


1.รัฐบาลไทยยึดมั่นในการแก้ไขปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชาอย่างสันติวิธี ตามพันธกรณีที่ทั้งสองฝ่ายได้มีต่อกันตามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) มาโดยตลอด ซึ่งได้ระบุไว้ชัดเจนว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจาหารือกันในกรอบทวิภาคี โดยใช้กลไกคณะกรรมาธิการร่วมชายแดน (JBC) อันเป็นไปตามแนวทางที่สอดคล้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติทุกประการ

2.ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ภาคีของความตกลงที่เป็นสนธิสัญญา จะต้องปฏิบัติตามสิ่งที่ได้ลงนามไว้ โดยบันทึกความเข้าใจ ไทย- กัมพูชา ระบุให้แก้ไขปัญหาโดยการเจรจาหารือโดยคณะกรรมาธิการร่วมชายแดน (JBC) ไม่ได้มีส่วนใดที่ระบุว่าให้ใช้กลไกอื่น รวมทั้งศาลโลก (ICJ) ซึ่งประเทศไทยได้ยึดมั่นในพันธกรณีของความตกลงไทย-กัมพูชาดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ได้เป็นฝ่ายละเมิดพันธกรณีที่มีไว้ต่อกันไว้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยไม่ได้ไปใช้กลไกอื่นนอกเหนือจากที่เคยได้ตกลงกันไว้

3.ในการแก้ไขปัญหาเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ประเทศไทยได้ใช้แนวทางการเจรจาทวิภาคีโดยกลไก JBC หรือกลไกที่เทียบเคียงได้กับ JBC เช่นเดียวกัน ซึ่งล้วนแต่มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพึงพอใจ โดยการเจรจาเขตแดนทางบกระหว่างกับมาเลเซียและลาวได้สำเร็จไปแล้วกว่า 90% ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการเจรจาทวิภาคีและกลไกดังกล่าว สามารถนำมาใช้ให้เห็นผลได้ หากมีความตั้งใจจริงและจริงใจในการดำเนินการ โดยไม่ต้องพึ่งกลไกภายนอกเช่น ICJ และนอกจากไทยแล้ว วิธีการเจรจาทวิภาคีนี้เป็นวิธีการเดียวกับที่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ของกัมพูชา ใช้ในการแก้ไขปัญหาเขตแดนกับกัมพูชาเช่นกัน

4.ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยจึงเรียกร้องให้กัมพูชาปฏิบัติตามพันธกรณีที่ให้ไว้ อันเป็นการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสนธิสัญญาอันเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอย่างเคร่งครัด ด้วยการเคารพและปฏิตามสิ่งที่ได้ตกลงกันไว้ กล่าวคือ การเจรจาทวิภาคีเพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนทั้งหมดตลอดแนวโดยใช้กลไก JBC ซึ่งรวมถึงพื้นที่ขัดแย้ง 4 จุด ที่ฝ่ายกัมพูชายังไม่ยินยอมนำเข้าหารือการเจรจาในกรอบดังกล่าวด้วย อันถือได้ว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงตามบันทึกความเข้าใจปี 2000 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้องทำการสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดน (demarcation) ทั้งหมดร่วมกัน ภายใต้กลไก JBC โดยไม่เอาเรื่องปัญหาเขตแดนไปสู่กลไกอื่นที่ไม่ได้ตกลงกันไว้

5.ประเทศไทยเฝ้ารอกัมพูชาซึ่งมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JBC มานานกว่า 12 ปี และได้เรียกร้องให้มีการประชุมฯ อยู่เสมอ ก่อนที่ JBC ครั้งล่าสุดจะได้มีขึ้น เมื่อวันที่ 14-15 มิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศไทยจึงขอปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ไม่ถูกต้องว่า ไทยเป็นฝ่ายที่ทำให้กระบวนการ JBC ต้องหยุดชะงัก เพราะไทยเองไม่เคยถอนตัวจากกระบวนการดังกล่าวแต่เรียกร้องมาโดยตลอด ดังนั้น ไทยขอเรียกร้องให้กัมพูชาเคารพในพันธกรณีที่มีระหว่างกัน ที่จะเจรจาหารือกันโดยสันติวิธี ก่อนจะพึ่งพากลไกอื่นซึ่งอยู่นอกเหนือไปจากวิธีการที่ได้ตกลงกัน เพื่อยุติปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ตลอดแนวตลอดไป และป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซากในอนาคต กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และประชาชนทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่อยู่ตามแนวชายแดนทั้งสองฝั่ง

6.ประเทศไทยยึดสันติวิธี และกฎหมายระหว่างประเทศด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต บริสุทธิ์ใจ และมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ในการสร้างพื้นที่ตามแนวชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชากับประเทศเพื่อนบ้าน ให้กลายเป็นพื้นที่พรมแดนสันติภาพ มิตรภาพ ความร่วมมือ และการพัฒนา เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี ชีวิตที่มั่นคง เจริญก้าวหน้าของพี่น้องประชาชนอยู่ตามแนวชายแดนทั้งสองฟากฝั่ง