xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย”ตั้ง 3 ข้อสังเกตปมรักษาการ นายกฯ ยุบสภาได้หรือไม่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รองหัวหน้าพรรคฝ่ายเศรษฐกิจ พรรคพลังประชารัฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า รักษาการ นรม.จะยุบสภา?

ข่าวฐานเศรษฐกิจระบุว่า “ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค.68 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ หลังจากนำคณะรัฐมนตรีใหม่ 14 ราย เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่

ในประเด็นอำนาจของรักษาการนายกรัฐมนตรียุบสภาได้หรือไม่ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้แจ้งให้ที่ประชุม ครม.ทราบว่า จากการศึกษาข้อมูลทางวิชาการของกฤษฎีกามีความเห็นว่า รักษาการนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถยุบสภาได้ ไม่ได้เป็นไปตามที่นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีให้ความเห็น เพราะรัฐธรรมนูญของไทยยึดโยงมาจากอังกฤษ

แต่ที่ประชุม ครม.มีความเห็นตรงกันว่าเรื่องดังกล่าวไม่ควรมีการบันทึกว่าเป็นมติ ครม. เพราะเป็นการหารือของ ครม.ในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการแต่งตั้งรักษาการนายกรัฐมนตรี

ภายหลังการประชุม ครม. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังจากมีสื่อมวลชนถามว่ากฤษฎีกาได้ให้ความเห็น เรื่องอำนาจของนายกฯ รักษาการหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า มีการอ้างรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ ทำได้หมด ตามที่กฎหมายเปิดให้ทำ

เมื่อถามว่านายกฯ รักษาการ มีอำนาจยุบสภาหรือปรับ ครม.ได้หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่ได้มีการคุยกัน

นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กับ "เนชั่นทีวี" เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 68 ถึงอำนาจการยุบสภาของรักษาการนายกฯ เบอร์หนึ่งว่ามีอำนาจนี้หรือไม่ว่า “มีข้อถกเถียงกันมานานแล้ว ยอมรับมีสองความเห็น

ความเห็นแรก เมื่อเป็นรักษาการนายกฯสามารถทำอะไรได้ทุกอย่างเหมือนนายกฯ อีกความเห็นบอกว่า ไม่ได้ เพราะเป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายกฯ

“ผมเห็นไปในทางที่ว่าสามารถยุบสภาได้ อยู่ที่ว่าพระเจ้าอยู่หัวท่านจะลงพระปรมาภิไธยได้หรือไม่ เมื่อท่านลงพระปรมาภิไธยให้หรือไม่ ถ้าถวายขึ้นไป ท่านลงพระปรมาภิไธยมา แล้วใครจะมาเถียงกันว่าใครทำผิดรัฐธรรมนูญ”

ส่วนข้อกฎหมายมีระบุในรัฐธรรมนูญหรือไม่กรณีอำนาจรักษาการยุบสภาได้ นายวิษณุ บอกว่า ไม่มี พูดแต่เพียงว่า รักษาการปฏิบัติหน้าที่ได้ทุกอย่าง“

คำสั่งมอบอำนาจนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผนดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๗) พเศ ๒๕๕๕๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔

ผมตั้งข้อสังเกตเพื่อเป็นประโยชน์แก่รัฐบาล ดังนี้

1 ผู้ที่นำเรื่องทูลเกล้าพระเจ้าอยู่หัวมีหน้าที่จะต้องดำเนินการทุกวิถีทางให้แน่ใจว่าขบวนการและเนื้อหาถูกต้องทั้งหมด เพื่อมิให้เป็นการระคายเคืองเบื้องยุคลบาท ซึ่งบุคคลเหล่านี้น่าจะรวมถึงรักษาการนายกรัฐมนตรี องคมนตรี และบุคคลที่เกี่ยวข้อง

2 การมอบอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ย่อมครอบคุมเฉพาะอำนาจของฝ่ายบริหารเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินทั่วไป แต่ย่อมไม่สามารถครอบคุมอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ และเป็นกฎหมายในชั้นที่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถให้อำนาจได้เท่าเทียมรัฐธรรมนูญซึ่งไม่มีข้อบัญญัติให้อำนาจยุบสภาแก่รักษาการนายกรัฐมนตรี

3 ในเมื่อปรากฏข่าวในสื่อมวลชนเป็นหลักฐานที่ชัดเจนแล้วว่าคณะรัฐมนตรีรับทราบความเห็นของเลขากฤษฎีกา ถึงแม้จะไม่มีการบันทึกไว้ในรายงานการประชุมก็ตาม ดังนั้นกรณีที่รักษาการนายกรัฐมนตรีจะดำเนินการยุบสภา ถ้ามีการวินิจฉัยภายหลังว่าเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย รักษาการนายกรัฐมนตรีย่อมจะมีความผิดอาญาเข้าข่ายกระทำโดยมีเจตนาในฐานะที่ท่านได้รับทราบสถานะเรื่องนี้และรู้ดีอยู่แล้ว