วันนี้ (5 ก.ค.) เวลา 15.00 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 33 จังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม อ่างเก็บน้ำมีน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และระดับน้ำแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง ในช่วงวันที่ 6 -12 กรกฎาคม 2568 โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่เสี่ยงและบริเวณที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรใน 24 ชั่วโมงและพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วม รวมถึงพื้นที่น้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากการระบายไม่ทัน เร่งติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซมแนวคันกั้นน้ำ และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและอิทธิพลของการขึ้น - ลงของน้ำทะเล เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้สามารถเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยขึ้น รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์และแจ้งเตือนล่วงหน้าให้กับประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเตรียมพร้อมในการขนของขึ้นที่สูงหรืออพยพทันทีหากเกิดสถานการณ์
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มีประกาศฉบับที่ 10/2568 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 แจ้งว่า ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศพบว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ ซึ่งจากการประเมินวิเคราะห์สภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ พบว่ามีพื้นที่บางส่วนมีความเสี่ยงเกิดสถานการณ์ภัย ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และน้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ เนื่องจากระบายไม่ทันและระดับน้ำโขงเปลี่ยนแปลง โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 6 - 12 กรกฎาคม 2568 ดังนี้
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินโคลนถล่ม
-ภาคเหนือ จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย แม่สาย พญาเม็งราย เวียงชัย เทิง เชียงของ เวียงแก่น และอำเภอเชียงแสน) จังหวัดพะเยา (อำเภอเมืองพะเยา ดอกคำใต้ ปง เชียงคำ และอำเภอเชียงม่วน) จังหวัดน่าน (อำเภอเมืองน่าน บ่อเกลือ ปัว ทุ่งช้าง ภูเพียง สองแคว เฉลิมพระเกียรติ เชียงกลาง ท่าวังผา และอำเภอเวียงสา) และจังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง)
-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย (อำเภอเมืองเลย นาด้วง ด่านซ้าย นาแห้ว และอำเภอปากชม) จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย โพนพิสัย และอำเภอรัตนวาปี) จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ เซกา บึงโขงหลง และอำเภอปากคาด) จังหวัดอุดรธานี (อำเภอเมืองอุดรธานี วังสามหมอ เพ็ญ สร้างคอม บ้านดุง และอำเภอหนองหาน) จังหวัดสกลนคร (อำเภออากาศอำนวย และอำเภอสว่างแดนดิน) จังหวัดนครพนม (อำเภอศรีสงคราม และอำเภอนาทม) จังหวัดยโสธร (อำเภอเมืองยโสธร และอำเภอ
มหาชนะชัย) และจังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอโขงเจียม สิรินธร พิบูลมังสาหาร และอำเภอศรีเมืองใหม่)
-ภาคกลาง จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี (อำเภอบางละมุง และอำเภอศรีราชา) จังหวัดระยอง (อำเภอเมืองระยอง บ้านค่าย ปลวกแดง และอำเภอนิคมพัฒนา) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง ท่าใหม่ นายายอาม มะขาม และอำเภอแหลมสิงห์) และจังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด เขาสมิง คลองใหญ่ และอำเภอบ่อไร่)
-ภาคใต้ จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอชัยบุรี บ้านตาขุน และอำเภอบ้านนาสาร) จังหวัดระนอง (ทุกอำเภอ) จังหวัดพังงา (อำเภอคุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง และอำเภอท้ายเหมือง) และจังหวัดภูเก็ต (ทุกอำเภอ)
พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุเก็บกัก
-บริเวณจังหวัดลำปาง น่าน พิษณุโลก สระบุรี สกลนคร อุดรธานี ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ นครพนม ขอนแก่น นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี และจังหวัดกระบี่
เร่งพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ
ห้วยโทง และอ่างเก็บน้ำห้วยซวง จังหวัดสกลนคร อ่างเก็บน้ำหนองหญ้าม้า จังหวัดกาฬสินธุ์ อ่างเก็บน้ำด่านชุมพล จังหวัดตราด
พิจารณาพร่องน้ำในแหล่งน้ำ ได้แก่ กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา หนองหาร จังหวัดสกลนคร และหนองกุดทิง จังหวัดบึงกาฬ
เพื่อรองรับปริมาณน้ำหลากจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่
พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ -บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำอิง บริเวณอำเภอเชียงคำ เทิง พญาเม็งราย ขุนตาล และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และแม่น้ำสาย บริเวณอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
พื้นที่เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีปริมาณฝนตกสะสม บริเวณสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มส่งผลกระทบพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขง
-จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้งจังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ โดยได้กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่เสี่ยงและบริเวณที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรใน 24 ชั่วโมงและพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วม รวมถึงพื้นที่น้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากการระบายไม่ทัน เร่งติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซมแนวคันกั้นน้ำ และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและอิทธิพลของการขึ้น - ลงของน้ำทะเล สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีความเสี่ยงเกิดสถานการณ์ภัย ให้ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้บุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ให้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักรกลสาธารณภัยและเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ให้พร้อมเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดสถานการณ์ขึ้น และให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องและปฏิบัติตนได้อย่างปลอดภัยเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยขึ้นในพื้นที่
สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามสภาพอากาศ ข้อมูลสถานการณ์ และข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นโดยปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด โดยสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยรายพื้นที่ได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android รวมถึงทางสื่อสังคมออนไลน์บัญชีทางการของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย Facebook กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM และ X @DDPMNews ทั้งนี้ หากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย ประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป