รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เป็นที่ฮือฮากันมาก เกี่ยวกับข้อเสนอของพรรคประชาชน ซึ่งโดยสรุปคือ หากนายกรัฐมนตรีมีอันต้องพ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พรรคประชาชนจะโหวตให้ใครก็ได้ที่อยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ให้เป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคประชาชนจะไม่ร่วมรัฐบาล และไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรีแม้ตำแหน่งเดียว
เงื่อนไขของพรรคประชาชนคือ นายกรัฐมนตรีคนใหม่และรัฐบาลชุดใหม่คือ ต้องเป็นรัฐบาลชั่วคราว เพื่อปฏิบัติภารกิจคือ ดำเนินการให้มีการยุบสภาภายในสิ้นปี โดยก่อนการยุบสภา รัฐบาลจะต้องดำเนินการจัดทำประชามติ เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มี ส.ส.ร.เพื่อร่างรั,ฐธรรมนูญฉบับใหม่ และผ่านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ไม่ได้มีรายละเอียดว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต้องครอบคลุมความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่
เหตุผลที่พรรคประชาชนอ้างเพื่อจะให้ยุบสภาก็คือ ต้องการให้ได้รัฐบาลที่มีความชอบธรรมและมีเสถียรภาพ และให้การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี มาจากการพิจารณาความรู้ความสามารถ ไม่ใช่จากการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง ดังนั้นจึงต้องยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน
พรรคประชาชนยังมีคำขู่ด้วยว่า หากรัฐบาลชุดใหม่ไม่ทำตามเงื่อนไขข้างต้น พรรคประชาชนจะใช้เสียงที่มีอยู่ทั้งหมด โหวตคว่ำรัฐบาลชุดดังกล่าวอย่างแน่นอน
หลังจากที่เป็นข่าว ว่าพรรคประชานชนได้มีการเจรจากับพรรคภูมิใจไทยไประดับหนึ่งแล้ว คุณอนุทิน ชาญวีรกูล ก็ประกาศกลางที่ประชุมครั้งแรกของพรรคฝ่ายค้าน ว่า เรื่องที่เป็นข่าวทั้งหมด ไม่ใช่เป็นเรื่องจริงสักเรื่องเดียว
ผู้ที่ติดตามการเมืองส่วนใหญ่ จะอ่านออกว่า ที่พรรคประชาชนต้องการให้มีการยุบสภาทันที ก็เพราะพรรคประชาชนไม่มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเหลือแล้วนั่นเอง แต่เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย จึงออกมาเสนอเงื่อนไขข้างต้น เพื่อกลบเกลื่อนและเพื่อให้ดูเหมือนว่า พรรคประชาชนพร้อมที่จะช่วยผ่าทางตันให้กับประเทศชาติ
ต้องบอกว่า หากพรรคประชาชนคิดว่า จะมีพรรคการเมืองร่วมมือกันปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เสนอ ก็นับว่าเป็นความเพ้อฝันที่ไร้เดียงสาอย่างมาก เพราะเป็นเงื่อนไขที่เสนอ เป็นเงื่อนไขที่แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะทำได้ก่อนสิ้นปี ดังนั้นคงไม่มีพรรคไหนรับได้ แค่เพียงคำขู่ว่า หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจะโหวตคว่ำรัฐบาล ก็ไม่มีใครเอาด้วยแล้ว เพราะนอกจากภารกิจที่ต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แล้ว ยังต้องตกเป็นเบี้ยล่างของพรรคประชาชน ที่จะล้มรัฐบาลลงเมื่อใดก็ได้อีกด้วย ไม่น่าแปลกใจที่พรรคภูมิใจไทยออกมาปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย
ความเพ้อฝันอีกประการก็คือ เมื่อยุบสภา เลือกตั้งใหม่แล้ว การแต่งตั้งรัฐมนตรีจะสามารถพิจารณาจากความรู้ความสามารถ โดยไม่มีการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง นั่นจะเป็นไปได้อย่างไร ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีการจัดการเลือกตั้งมาหลายรูปแบบ เป็นปีที่ 93 แล้ว ยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดไหน เกิดขึ้นโดยไม่มีการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองมาก่อน
ถ้าระบบการเมืองของประเทศเราเป็นระบบที่ดี และเป็นระบบที่เหมาะสมกับนิสัยของคนไทย เราคงไม่มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากตระกูล ชินวัตร หรือคนที่เกี่ยวดองกับตระกูลชินวัตรรวมกันถึง 4 คน และคนที่คุณทักษิณมอบหมายให้เป็นนายกรัฐมนตรีนอมินีอีก 1 คน แต่ละคนถ้าไม่ถูกประท้วงขับไล่ให้ออกจากตำแหน่ง ก็ถูกถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งทั้งสิ้น สุดท้ายต้องจบลงด้วยการทำรัฐประหาร หากจะกล่าวหาว่า การทำรัฐประหารทำให้ประเทศถอยหลังเพราะต่างประเทศไม่ยอมรับก็พูดได้ แต่รัฐบาลที่มาจากตระกูลชินวัตรก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยเช่นกัน
ประชาชนที่มาชุมนุมแสดงพลังกันเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน เพื่อให้นายกรัฐมนตรีลาออก ทราบดีว่า เพียงนายกรัฐมนตรีที่มาจากตระกูลชินวัตรลาออกย่อมไม่เพียงพอ เพราะระบอบทักษิณย่อมพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้อยู่ในอำนาจต่อไปให้นานที่สุด ดังนั้นที่คนส่วนใหญ่ต้องการคือระบบการเมืองแบบใหม่ที่สามารถได้คนเก่งคนดี มีความรู้และคุณสมบัติเหมาะสมมาเป็นนายกรัฐมตรี และนายกรัฐมนตรีสามารถคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมมาเป็นรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง โดยไม่ต้องห่วงว่าจะทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ
หากพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล พรรคประชาชน ทุ่มเทความคิดพยายามออกแบบระบบการเมืองใหม่ที่เหมาะสมกับประเทศไทย แทนที่จะยึดหลักการประชาธิปไตยแบบตะวันตกแบบไม่ลืมหูลืมตา และหมกมุ่นอยู่กับการทำตามความคิดของผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรค ไปหาเรื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และกองทัพ และพยายามยกเลิกมาตรา 112 เพราะเชื่อว่า หากไม่เปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ และเปลี่ยนแปลงกองทัพ จะทำ ...... อะไรไม่ได้เลย ไม่เช่นนั้นเราอาจได้ระบบการเมืองใหม่ที่ดีก็ได้ แต่ประเทศเรากลับได้แต่ความแตกแยกแบบฝังรากลึกในสังคมไทย อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
หากการเลือกตั้งยังต้องใช้เงินซื้อเสียง ทั้งยังใช้เงินมากขึ้นทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง หากการเลือกตั้งยังต้องอาศัยอิทธิพลของบ้านใหญ่ จะเลือกตั้งกันอีกกี่ครั้ง ก็ไม่มีทางได้รัฐบาลที่ดีได้ ความจริงเป็นเช่นนี้มาแล้ว 93 ปี และจะยังคงเป็นเข่นนีต่อไป แล้วเราจะยังงมงายอยู่กับระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกอยู่อีกหรือ