xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการวิเคราะห์ไต่สวนคดีชั้น 14 นัดสอง ชี้อดใจรออีกไม่นานคงได้รู้ความจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายวัส ติงสมิตร นักวิชาการอิสระ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ศาลฎีกาไต่สวนคดีป่วยทิพย์ชั้น 14 นัดที่สอง เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568

1)คดีนี้มีปัญหาว่า มีการบังคับตามคำพิพากษาที่ไม่เป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของศาลศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือไม่ ศาลไต่สวนพยาน 5 ปาก ประกอบด้วยแพทย์ 2 ปาก และพยาบาล 3 ปาก ได้แก่
- พญ.รวมทิพย์ สุภานันท์ แพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ตรวจร่างกายขณะรับตัวผู้ต้องขังใหม่
- นพ.นทพร ปิยะสิน แพทย์นอกเวลาซึ่งเป็นแพทย์เวรทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ในคืนที่ส่งตัวนายทักษิณไปโรงพยาบาลตำรวจ
- นายธัญพิสิษฐ์ ขบวน พยาบาลเวรเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
- น.ส.จิราพร มีนวลชื่น และ น.ส.ณิชามล มากจันทร์ พยาบาลวิชาชีพ ปฏิบัติการประจำเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

2) ศาลได้ออกข้อกำหนดให้คู่ความและผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีงดเว้นการเผยแพร่โฆษณาคำเบิกความพยานบุคคลและพยานเอกสารที่ศาลไต่สวน (เนื่องจากมีการนำข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของพยานซึ่งศาลไต่สวนในนัดก่อนออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนในลักษณะคำต่อคำ ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ซึ่งอาจทำให้พยานบุคคลที่จะมาเบิกความในลำดับถัดไปทราบข้อเท็จจริงที่พยานคนก่อนได้เบิกความไว้ และอาจทำให้ศาลไต่สวนแล้วได้ข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ รวมถึงอาจมีการนำคำเบิกความของพยานดังกล่าวไปวิเคราะห์หรือให้ความเห็นในทางคดี จนก่อให้เกิดความสับสนแก่สังคมได้ ประกอบกับข้อมูลด้านสุขภาพของจำเลยเป็นข้อมูลส่วนบุคคล)

3) นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายของนายทักษิณ ชินวัตร จำเลย ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองเป็นคนขอให้ศาลออกข้อกำหนดดังกล่าว

4) ผู้เขียนมีข้อสังเกตดังนี้

(1)ในการค้นหาความจริงในคดีแพ่งและคดีอาญาที่ใช้ระบบกล่าวหา (Accusatorial System) หรือที่รียกกันว่าระบบค้นหาความจริงแบบเป็นปรปักษ์ (Adversary System) คู่ความที่กล่างอ้างข้อเท็จจริงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น ศาลวางตัวเป็นกลาง มีหน้าที่ควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจึงมาจากพยานหลักฐานที่คู่ความแต่ละฝ่ายเลือกสรรกันมานำเสนอต่อศาลภายใต้กฎหมายวิธีพิจารณา ความจริงที่ได้จากระบบนี้จึงมีลักษณะเป็นความจริงตามรูปแบบ (Formal Truth)

พยานบุคคลที่ฝ่ายหนึ่งอ้าง อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิถามค้าน (Cross-Examination) เพื่อทำลายน้ำหนักของพยานนั้น

หากเป็นพยานคู่ในเหตุการณ์เดียวกัน คือมีประจักษ์พยานตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ศาลจะให้นำสืบให้เสร็จในวันเดียวกัน เพื่อไม่ให้พยานปากหลังทราบคำเบิกความของพยานปากแรก หากคำเบิกความของพยานคู่ขัดแย้งกัน จะทำให้คำพยานที่อ้างมาไม่น่าเชื่อ

(2) แต่วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้ระบบไต่สวน (Inquisitorial System) โดยศาลมีอำนาจค้นหาความจริงไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และในการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริง ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานได้ แม้ว่าการไต่สวนพยานหลักฐานนั้นจะมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากขั้นตอน วิธีการ หรือกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าศาลได้ให้โอกาสแก่คู่ความในการโต้แย้งคัดค้านพยานหลักฐานนั้นแล้ว เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้นในคดีนั้น จัดเป็นการแสวงหาความจริงแท้ (Truth)

(3) พยานบุคคลที่ศาลฎีกาเรียกมาไต่สวนมีหลายปาก ศาลฎีกามีทักษะที่จะสกัดความจริงออกมาจากพยานบุคคลเหล่านั้น โดยพิจารณาประกอบพยานหลักฐานอื่น (เช่น พยานเอกสาร วัตถุพยาน พยานผู้เชี่ยวชาญ) แม้พยานบุคคลบางปากจะพูดความจริงบางส่วนก็ตาม ดังนั้น การที่คู่ความและผู้เข้าฟังการไต่สวนของศาลจดคำเบิกความของพยานแต่ละปากโดยละเอียด แล้วเผยแพร่ทางสื่อในช่องทางต่างๆ ก็อาจจะก่อให้เกิดความสับสนและกระทบต่อผลของคดีได้ สังเกตจากข้อความที่เผยแพร่ออกมาจากแต่ละแหล่งไม่ตรงกัน และอาจแตกต่างจากข้อความที่ศาลได้จากการไต่สวนก็ได้ ที่ศาลออกข้อกำหนดให้คู่ความและผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีงดเว้นการเผยแพร่โฆษณาคำเบิกความพยานบุคคลแบบคำต่อคำและพยานเอกสารที่ศาลไต่สวน จึงชอบแล้ว

(4) การส่งตัวทักษิณออกไปรักษายังโรงพยาบาลนอกเรือนจำในเวลาก่อนเที่ยงคืน เกิดเกิดจากการตรวจวินิจฉัยของบุรุษพยาบาลในเรือนจำ โดยโทรศัพท์ขอความเห็นจากแพทย์เวรของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เท่านั้น ไม่มีการส่งตัวจำเลยไปให้แพทย์เวรที่ทัณฑ์สถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ซึ่งตั้งอยู่ติดกันตรวจวินิจฉัยอีกครั้ง

(5) บุรุษพยาบาลเวรของเรือนจำตามไปส่งทักษิณ เมื่อถึงโรงพยาบาลตำรวจ มีเจ้าหน้าที่มารับทักษิณ ไม่ได้ไปส่งทักษิณที่ห้องฉุกเฉิน และได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ให้นำเวชระเบียนขึ้นไปให้พยาบาลที่ชั้น 14 โดยไม่ได้พบทักษิณ

อดใจรออีกไม่นาน คงจะรู้ความจริงจากคำวินิจฉัยของศาลฎีกาว่า มีการบังคับตามคำพิพากษาที่เป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของศาลศาลฎีกาหรือไม่

วัส ติงสมิตร
นักวิชาการอิสระ
5/7/68