xs
xsm
sm
md
lg

ศบ.ทก. ย้ำยึดหลัก "รอบคอบ รอบด้าน ใช้สติ สร้างสันติ"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พล.ร.ต.สุรสันต์ คงศิริ รองโฆษกกองทัพไทย ในฐานะโฆษกศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (ศบ.ทก.) แถลงข่าวประจำวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ว่า ศบ.ทก. ย้ำการทำงานโดยยึดหลักการ "รอบคอบ รอบด้าน ใช้สติ สร้างสันติ" แม้ฝ่ายตรงข้ามจะมีการวางแผนที่ซับซ้อน มีเป้าหมายลึกซึ้ง เริ่มจากการสร้างสถานการณ์ให้มีความตึงเครียดในพื้นที่ที่ผ่านมา แล้วขยายผลให้มีผลกระทบทางการเมือง สร้างความแตกแยกในสังคมไทย ทำให้ขาดความเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาล เพราะฉะนั้นการจัดตั้ง ศบ.ทก. ขึ้นมา ก็เพื่อลดและแก้ปัญหาจากความตึงเครียดต่างๆ และมีวัตถุประสงค์บูรณาการขับเคลื่อนงานระยะสั้น ติดตามให้ข้อเสนอแนะและสนับสนุนระยะยาว

โดยระยะสั้น คือ การพยายามแก้ไขความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ถือว่าเป็นวาระเร่งด่วนของชาติ ในการคืนสถานการณ์ให้สู่สถานการณ์ก่อนช่วงเดือนพฤษภาคม ส่วนระยะยาวคือการวางแผนจัดทำข้อเสนอแนะในการดำเนินการระยะยาว เพื่อให้กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบในสภาวะปกติไปดำเนินการต่อไป

ศบ.ทก. เป็นกลไกในลักษณะรับนโยบายจากรัฐบาล ผ่านการพิจารณากลั่นกรองโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ จากนั้น ศบ.ทก. จะประสานสั่งการไปยังกองทัพ โดยกองกำลังป้องกันชายแดนในพื้นที่ ปัจจุบันมี 3 กองกำลัง คือ กองกำลังสุรนารี กองกำลังบูรพา และกองกำลังป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ซึ่งเป็นหน่วยรับผิดชอบหลักออกคำสั่งไปดำเนินการต่อไป เป็นการปฏิบัติในพื้นที่

สำหรับข่าวสารที่กล่าวหาว่าฝ่ายไทยปิดด่านผ่านเข้า-ออกนั้น ขอชี้แจงว่า ฝ่ายไทยไม่มีนโยบายในการปิดด่านแต่อย่างใด การดำเนินการที่ผ่านมาเป็นการควบคุมด่านต่างๆ ที่เข้มข้นขึ้น ในการผ่านเข้า-ออก โดยจำกัดประเภทคนและเวลา คำนึงพื้นฐานด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ จะสังเกตได้ว่าประชาชนที่มีความจำเป็นในการเดินทาง เช่น คนที่ต้องการกับภูมิลำเนา คนที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอย แรงงานต่างๆ กลุ่มเปราะบาง อย่างนักเรียน นักศึกษา ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ก็ยังสามารถเข้า-ออก ได้

ทั้งนี้ ศบ.ทก. ได้นำเสนอภาพจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งฝั่งไทยเปิดทุกวันตั้งแต่ 07.00-22.00 น. ในขณะที่ฝั่งกัมพูชาปิดด่าน

จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม ตำบลด่าน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ฝั่งไทยเปิดทุกวันตั้งแต่ 06.00-22.00 น. ในขณะที่ฝั่งกัมพูชาปิดด่าน

จุดผ่านแดนถาวรบ้านแหลม ตำบลเทพนิมิต อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ฝั่งไทยเปิดทุกวันตั้งแต่ 08.00-16.00 น. ในขณะที่ฝั่งกัมพูชาปิดด่าน

ดังนั้น ยืนยันได้ว่า ประตูของฝั่งไทยเปิดเสมอ ไม่มีการปิดด่านแต่อย่างใด และพยายามรักษาการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่ให้เหมือนเดิม

ส่วนหนังสือของกองกำลังบูรพาที่มีการแชร์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์นั้น กองกำลังบูรพามีการประสานงานผ่อนผันให้รถขนส่งสินค้าตามจุดผ่านแดนต่างๆ ได้ผ่านเข้า-ออก ซึ่งการประสานงานนี้เป็นการเฉพาะภายใน ยังไม่มีการประสานไปทางกัมพูชา ตัวหนังสือที่ออกมาไม่ทราบว่าหลุดออกไปยังฝ่ายกัมพูชาได้อย่างไร เพราะการประสานสิ่งจำเป็นของฝ่ายไทย คือต้องมีการรับทราบข้อมูลที่ชัดเจนเสียก่อน ก่อนที่จะประสานไปยังกัมพูชา โดยเป็นผลสืบเนื่องจากการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดสระแก้ว เมื่อ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา และรับฟังความคิดเห็นความเดือดร้อนจากคนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนส่งสินค้าที่ติดค้างอยู่ตามแนวชายแดน ไม่สามารถนำรถขนส่งสินค้าข้ามแดนได้ ฝ่ายไทยจึงมีแนวคิดในการผ่อนปรนให้รถขนส่งสินค้าสามารถผ่านเข้า-ออกได้ ก็เป็นมาตรการที่อยากประสานไปยังฝ่ายกัมพูชา แต่เรายังไม่ทันได้ประสาน ก็มีหนังสือจากฝ่ายกัมพูชาที่ปิด และไม่ยอมให้รถขนส่งสินค้าของฝ่ายไทยข้ามไปได้

ด้านนางมาระตี นะลิตา อันดาโม รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า รัฐบาลไทยยังยึดหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมตามที่ได้ปฏิบัติมาโดยตลอด และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องข้ามมารักษาโรงพยาบาลในฝั่งไทย นักเรียน นักศึกษาที่มีความจำเป็นต้องมาเรียนหนังสือ และบุคคลทั่วไปที่ต้องเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ หน่วยงานในพื้นที่ที่ควบคุมจุดผ่านแดน ตั้งแต่มีการควบคุมจุดผ่านแดนที่เข้มมากขึ้น ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน เป็นต้นมา มีจำนวนคนเดินทางผ่านแดนจำนวนเกือบหมื่นคน พร้อมย้ำว่า ฝ่ายไทยไม่ได้ปิดด่าน ยังมีบุคคล พร้อมยานพาหนะส่วนบุคคลผ่านแดน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เราเพิ่มความเข้มงวดของการเดินทางผ่านจุดผ่านแดน

นางมาระตี เปิดเผยด้วยว่า ที่ประชุม ศบ.ทก. ได้พิจารณาเรื่องนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติที่มีการยกระดับมาตรการในการปราบปราม ซึ่งจะมีผลต่อการควบคุมจุดผ่านแดน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศก็ได้มีความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวกับนานาชาติและองค์การระหว่างประเทศมาโดยตลอด ทั้งในกรอบพหุภาคีและทวิภาคี ทั้งนี้ รัฐบาลยังเรียกร้องให้ทางการกัมพูชามาร่วมมือในการปราบปรามอย่างจริงจัง เพื่อลดการสูญเสียทรัพย์สินและเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนของทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ ศบ.ทก. ยังขอความร่วมมือประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้าง บรรยากาศที่ช่วยหาทางออกของทั้งสองฝ่ายที่เอื้อต่อการกลับมาสู่โต๊ะเจรจาสองฝ่าย