รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า จากสัปดาห์ที่ผ่านมา ลองหลับตานึกถึงภาพคนสูงอายุ และเด็กเล็ก ๆ กว่าหมื่นคน ที่ไปรับการรักษาที่รพ.ว่าเป็นอย่างไร?
และในจำนวนข้างต้น เกือบ 1,400 ราย ทั้งเด็กเล็กและคนสูงอายุ ต้องนอนรักษาตัวในรพ.
ยังไม่นับช่วงอายุอื่น
จึงไม่แปลกใจที่ทุกวันนี้ คิวตรวจในโรงพยาบาลจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดเวฟใหม่นี้จึงยาวมาก ทั้งวันธรรมดาและวันหยุด ตั้งแต่เช้าจรดเย็น
ตัวเลขอัพเดตของสัปดาห์ที่ผ่านมา (สัปดาห์ที่ 20: 11-17 พ.ค. 2568) ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
@07.28 น. มีเคสป่วยไปรักษาที่รพ. 48,841 ราย มากกว่า ณ ตอนรายงานสุดสัปดาห์ 54.4% แล้ว
ในขณะที่จำนวนคนเสียชีวิตเพิ่มจากเดิม 2 รายเป็น 4 ราย จากสุโขทัย กาญจนบุรี สุราษฎร์ธานี และนนทบุรี
ตัวเลขเคสตอนนี้ ถือว่าสูงกว่าสัปดาห์ที่ 19 ถึง 1.5 เท่า หรือเพิ่มขึ้น 50.7%
...องค์การอนามัยโลกประมาณความชุกของภาวะ Long COVID ไว้ที่ราว 6%
ปีนี้ไทยเรา ตัวเลขในระบบรายงานเคสป่วยรักษาที่รพ.จากโควิด-19 สะสมแล้วกว่า 134,000 ราย
ดังนั้นจำนวนคนที่เสี่ยงที่จะประสบปัญหาความผิดปกติต่าง ๆ ในร่างกาย หรือภาวะ Long COVID หลังหายจากติดเชื้อ จะมีเกือบ 8,100 ราย
แต่ยังไม่นับคนที่ติดเชื้อ ป่วย แต่ไม่ได้ไปรักษาที่รพ. ซึ่งมีอีกจำนวนมาก ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงย่อมเป็นหลักหมื่นรายในปีนี้
อ่อนเพลียเหนื่อยล้า ผมร่วง ปัญหาด้านความคิดความจำและสมาธิ หอบเหนื่อย ไอเรื้อรัง ภูมิแพ้ เบาหวาน และอื่น ๆ ล้วนเป็นกลุ่มอาการและอาการแสดงของภาวะ Long COVID ได้ทั้งสิ้น
ดังนั้นไม่ต้องไปเชื่อข่าวลวงที่ปั่นว่าเป็นผลจากวัคซีนนะครับ
หากมีอาการต่างๆ ข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การดูแลรักษาตามแนวทางที่เหมาะสมต่อไป
เหนืออื่นใด ป้องกันตัวเองและครอบครัว ไม่ติดเชื้อย่อมดีกว่า ไม่ว่าจะครั้งแรกหรือติดซ้ำก็ตาม