นายแพทย์ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ช่วงฤดูฝนมีสภาพอากาศที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โควิด-19 ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้ไวรัส RSV เป็นต้น จึงมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเหล่านี้เพิ่มขึ้น โดยในส่วนของโรคไข้หวัดใหญ่ ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 19 พฤษภาคม 2568 พบผู้ป่วยสะสม 333,982 ราย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 45,975 ราย มากที่สุด เป็นกลุ่มอายุ 5-9 ปี รองลงมา อายุ 0-4 ปี และอายุ 10-14 ปี ผู้เสียชีวิตสะสม 44 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ที่สำคัญคือ เกือบทั้งหมดไม่ได้รับวัคซีนป้องกัน
นอกจากนี้ ยังพบรายงานการระบาดเป็นกลุ่มก้อนเพิ่มขึ้นในสถานที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียน เรือนจำ ฯลฯ จึงควรมีระบบคัดกรองผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หากพบให้หยุดงาน/หยุดเรียน และแยกผู้ป่วย กรณีพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที
โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า กลุ่มเสี่ยงโรคไข้หวัดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวัง คือ เด็กที่มีอัตราการป่วยสูง และผู้สูงอายุ/ผู้มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิต จึงขอเน้นย้ำให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อใกล้ชิดกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และเด็กเล็ก ส่วนผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ให้ป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่และน้ำบ่อยๆ หลีกเลี่ยงเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง เช่น โรงพยาบาลหรือสถานที่แออัด หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการป่วย และควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงของอาการป่วย โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี 2568 ที่ให้บริการแก่ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในขณะนี้ เป็นสายพันธุ์วัคซีนโลกใต้ที่มีความครอบคลุมและคล้ายคลึงกับสายพันธุ์ที่มีการระบาดอยู่ในประเทศไทย